ชาวปทุมธานีลุ้น 20 ต.ค. น้ำทะเลหนุนสูงสุด ถ้าฝนตกหนักท่วมแน่

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศแนะให้เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุนสูงสุด 20 ต.ค.นี้ ถ้าฝนตกซ้ำปทุมธานีมีโอกาสน้ำท่วม แต่จะไม่หนักเท่าปี 2554

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 20 ต.ค.นี้ซึ่งน้ำทะเลหนุนสูงสุดจะทำให้มีความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะชุมชนหลักหกและเมืองเอก จ.ปทุมธานี ซึ่งหากฝนตกหนักจะเติมน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น อาจทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 40 ซม.

อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นฝนจะตกหนักหรือไม่ หรือมีพายุเข้ามาอีกหรือไม่ ถ้ามีพายุก็จะไม่เกิน 1-2 ลูก ถ้าฝนไม่ตกก็ไม่น่าห่วง แต่ถ้าฝนตกหนักติดๆ กัน 3 ชม.ในกรุงเทพฯ น้ำจะท่วมและรอระบาย ในช่วงนี้พื้นที่ริมเจ้าพระยาจึงต้องลุ้นให้ผ่านเดือน ต.ค.นี้ไปก่อน จากนั้นเข้าเดือน พ.ย.ฝนจะตกหนักภาคใต้และเสี่ยงน้ำท่วม คาดการณ์ระหว่างปี 2568-2569 จะเข้าหน้าแล้งต่อเนื่องจากเอลนีโญ และจะอันตรายสุดในปี 2573 เพราะน้ำจะมากอีก

“สาเหตุน้ำท่วมปทุมธานี โดยเฉพาะหลักหกและเมืองเอกส่วนหนึ่งเพราะไม่มีที่ให้น้ำอยู่ มีการถมคลองเปรมประชากรเพื่อสร้างบ้านมั่นคง จากอดีตคลองนี้มีความกว้าง 80 เมตร ตอนนี้ช่วงผ่าน กทม.มีการถมเหลือ 25 เมตร พอมีการสร้างบ้านมั่นคงช่วงปทุมธานีก็มีการถมคลองให้เหลือ 25 เมตร ทำให้คนปทุมฯ มีการคัดค้าน”

ทั้งนี้ การถมคลองเปรมประชากรเพื่อสร้างบ้านมั่นคงนั้น เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 กลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรม นำโดยนายภาณุเมศวร์​ ศิรินรานันตร์​ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เป็นตัวแทนกลุ่มเข้ายื่นหนังสือถึงนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าฯ ปทุมธานี ขอให้ระงับการก่อสร้างบ้านมั่นคงในคลองเปรมประชากร ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี เนื่องจากประชาชนในชุมชนได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่ลำคลองที่ควรจะเป็นพื้นรองรับน้ำและระบายน้ำมากกว่าการสร้างที่อยู่อาศัย

สำหรับคลองเปรมประชากรมีการขุดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความยาวกว่า 50.8 กิโลเมตร เชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมใจกลางพระนคร ผ่านหลักสี่ ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี และ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนชาวชุมชนตําบลหลักหกที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่คลองที่แคบลง ประกอบด้วย ชุมชนหมู่บ้านเมืองเอก ชุมชนหมู่บ้านวิภาวรรณ ชุมชนหมู่บ้านวราสิริและชุมชนบ้านริมคลองเปรมฯ ซึ่งเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร

การก่อสร้างบ้านมั่นคงเริ่มเมื่อปี 2566 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ผลักดันโครงการก่อสร้างบ้านให้ผู้ที่อาศัยอยู่ริมคลองเปรมฯ ในพื้นที่หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 7 ต.หลักหก ระยะที่ 1 จํานวน 218 หลัง และระยะที่ 2 จำนวน 86 หลัง การนำพื้นที่ส่วนหนึ่งของคลองไปเป็นที่อยู่อาศัยทำให้ชุมชนหลักหกและเมืองเอกไม่พอใจเพราะการใช้ชีวิตในหน้าน้ำจะเสี่ยงได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความลักลั่นในการระบายน้ำช่วงรอยต่อกับ กทม. เนื่องจากคลองเปรมฯ ที่อยู่ฝั่ง กทม.ถูกถมจนเหลือความกว้างเพียง 25 เมตร เมื่อฝนตกหนักทาง กทม.จะระบายน้ำมาลงฝั่งปทุมธานีที่ขนาดคลองกว้างกว่า (เป็นการระบายน้ำขึ้นเหนือแทนที่จะระบายน้ำลงด้านใต้หรือออกทะเล) เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเท่ากับชาวปทุมฯ ต้องเสียสละให้คนฝั่ง กทม.รอดพ้นจากน้ำท่วม

ในขณะเเดียวกัน การของบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการในคลองเปรมฯ ก็มีความซับซ้อนมาก เนื่องจากกรมชลประทานมีหน้าที่ขุดลอกคลองลดความตื้นเขินและเพิ่มความเร็วในการระบายน้ำ แต่การก่อสร้างเขื่อนริมฝั่งคลองเป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการ หากไม่สร้างเขื่อนให้เสร็จก็ลอกคลองไม่ได้ เนื่องจากจะทำให้ก็ริมฝั่งพังหรือบ้านเรือนประชาชนริมคลองพังลงมาได้ การจะหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านบนที่ดินราชพัสดุทางกรมธนารักษ์ก็มีที่ไม่เพียงพอ และหากไปใช้ห่างไกลชุมชนเหล่านี้ก็ไม่ยอมย้ายไป

อาจารย์เสรี กล่าวว่า การใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาการระบายน้ำหรือหาที่อยู่ให้น้ำในปทุมธานีนั้นทำได้ยาก ขึ้นอยู่กับมือใครยาวสาวได้สาวเอาของนักการเมือง ซึ่งแต่ละปีมีงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำโดยรวมมากถึง 4 แสนล้านบาท แต่การเตรียมรับมือหรือป้องกันน้ำท่วมไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก อย่างเช่นที่ปทุมธานี ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไม่หารือกัน กระทรวงแต่ละกระทรวงไม่บูรณาการร่วมกัน

“เพราะฉะนั้นผู้นำระดับท้องถิ่นต้องบูรณาการ ถ้าไม่ทำผู้ว่าต้องลงดาบ ถ้าผุ้นำท้องถิ่นไม่แก้ก็จะยากมาก จะรอรัฐบาลไม่ได้” ดร.เสรีกล่าวและว่าโอกาสน้ำท่วม กทม. ปทุมฯ นนท์ จะไม่เท่าปี 2554 เพราะน้ำเหนือเหลือน้อยแล้ว ถ้าจะให้เท่าปี 2554 ฝนจะต้องตกอีก 300 มล.

“ปทุมฯ เมืองไม่น่าอยู่เพราะเสี่ยงน้ำท่วม แต่ก็ไม่หนี จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันปทุมฯ อุณหภูมิเกิน 35 องศามี 20 วัน ในอนาคตจะอยู่ที่ 3 เดือน อนาคตร้อนมาก ผู้บริหารท้องถิ่นผู้ว่าฯ มองเห็นหรือไม่ว่าไม่ใช่มาแค่ปีเดียวเดียวเพื่อไปเป็นอธิบดี มาแค่ปีเดียวจะทำอะไรให้ปทุมฯ คล้ายผู้ว่าฯ ระนองแต่สมองอยู่ภูเก็ต มันไปไม่ได้ ผมว่าท้องถิ่นจะต้องเป็นตัวนำ อบต. อบจ.ทั้งหลาย เพราะเป็นเจ้าของบ้านผู้ว่าฯ เป็นผู้เช่าบ้าน ถ้าเป็นเจ้าของบ้าน อุณหภูมิขนาดนี้จะอยู่อย่างไร

“นอกจากนั้นฝนรายปีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้ง มีทั้งท่วมทั้งแล้งเป็นเรื่องปกติ เมื่อไหร่จะมาเท่านั้นเอง เมื่อปี 2565 ฝนตก 157 มล.ต่อวัน

ฉากทัศน์ปทุมธานี (และพื้นที่ใกล้เคียง) ตั้งแต่ปี 2030 น้ำจะท่วมมากขึ้น 2050 และ 2100 ก็จะยิ่งท่วมหนัก น้ำทะเลจะยิ่งหนุนสูง รัฐบาลจะต้องกลับไปคิดใหม่ว่า มาตรการที่วางไว้ไม่พอจะทำอย่างไร จะเก็บน้ำตั้งแต่ต้นแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จะเก็บอย่างไรให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเกิดทุกที่เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น” อาจารย์เสรีระบุ

สำหรับสถานการณ์น้ำในปีนี้หากจะท่วมเหมือนปี 2554 ฝนจะต้องมากถึง 1500 มล. หรือต้องการฝนอีก 300 มล.ในเดือน ต.ค.นี้ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะต้องการฝน 200% ในภาคเหนือ แต่ถ้าฝนตกภาคกลางจะมากกว่าปี 2554 เมื่อน้ำเหนือไม่หลาก น้ำจะท่วมเพราะฝนจะตกในพื้นที่จะตกหรือไม่ก็ไม่รู้ ถ้าจะเหมือนปี 2554 พายุจะต้องเข้าภาคเหนืออีก 1 ลูก ซึ่งเป็นไปได้น้อยเพราะเข้าเดือน ต.ค.แล้ว แต่อะไรที่เป็นไปไม่ได้เราก็ต้องไม่ประมาท

“พายุปกติจะเกิดปีละ 25 ลูก ขณะนี้คาดการณ์ว่าจะเกิด 24 ลูก ตอนนี้เกิดไปแล้ว 17 ลูก คาดว่าจะเกิดไต้ฝุ่น 14 ลูก เกิดไปแล้ว 7 ลูก แสดงว่าเหลืออีก 7 ลูก ไม่มีใครรู้ว่าอีก 7 ลูกจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร ไม่มีใครรู้ มันรู้แค่ 3-5 วันล่วงหน้า ไม่มีสิทธิ์รู้ล่วงหน้าระยะยาวได้เลย ล่าสุดมีการคาดการณ์ 21-28 ต.ค.นี้มีโอกาสที่พายุจะเข้ามา 20-30% ถัดมา 28 ต.ค.- 4 พ.ย. และถัดมา 4-11 พ.ย. มันคือความเสี่ยง และต้องปิดความเสี่ยงให้ได้ ซึ่งทิศทางไม่เข้าภาคเหนือ มีโอกาสเข้าภาคกลาง ภาคใต้

“จากการติดตามสถานการณ์น้ำฝนจะอยู่ในปทุมฯ ไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. ในขณะที่อากาศหนาวยังไม่มา ถ้ามาความชื้นจะเยอะและพายุจะชอบ ซึ่งปทุมฯ พื้นที่ริมคลองเปรมฯ เสี่ยงมาก ทั้งเมืองเอก เวิร์กพอยต์ เสี่ยงมาก ที่ ต.หลักหก เสี่ยงมาก เวลาสร้างบ้านต้อง 3 ชั้น ชั้นแรกให้น้ำอยู่ เพราะน้ำจะต้องพึ่งคลองเปรมฯ ไม่มีที่ให้น้ำอยู่” รศ. ดร.เสรีกล่าวในหัวข้อ “เตรียมพร้อมรับมือ Rain Bomb เฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนชุมชนหลักหก หมู่บ้านเมืองเอก” เมื่อเร็วๆ นี้

Related posts

โลกร้อนซ้ำเติมแอฟริกา น้ำท่วมทะเลทรายซาฮารา ฝนถล่มคร่านับพันชีวิต

อุณหภูมิเพิ่ม ปัจจัยเร่งพายุรุนแรงขึ้น 2 เท่า น้ำท่วมไทยอ่วม 46,500 ล้าน

รู้จักกฎหมายโลกร้อนฉบับละเอียด ธุรกิจซื้อคาร์บอนเครดิตได้ไม่เกิน 15%