สวนสัตว์พาต้าโต้กระทรวงทรัพย์มโนขาย ‘บัวน้อย’ 30 ล้านพากลับบ้านเกิด

สวนสัตว์พาต้าออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ปฏิเสธข่าวการเสนอขาย “บัวน้อย” กอริลลาชื่อดัง ในราคา 30 ล้านบาท เพื่อทำโครงการพากลับไปตายแผ่นดินเกิดที่เยอรมัน
.
แถลงพาพต้าระบุเนื้อหาตอนหนึ่งว่า มีข่าวจากหลายสำนักได้ให้ข้อมูลว่าสวนสัตว์พาต้าตั้งราคาขายลิงกอริลลา ชื่อ บัวน้อย ดาวเด่นของสวนสัตว์ ใน ราคา 30 ล้านบาทนั้นทางผู้บริหารของห้างสรรพสินค้าพาต้า ปิ่นเกล้า และบริษัท สวนสัตว์พาต้า จำกัด ขอให้ข้อมูลยืนยันว่า ไม่เคยเจรจาซื้อขายบัวน้อยกับผู้ใด และหน่วยงานใด

ในทางกลับกัน ยังปฏิเสธการเคลื่อนย้ายบัวน้อยตามที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เคยสอบถามและได้ตอบกลับไปอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยสาเหตุที่ไม่มั่นใจในการปรับตัวของบัวน้อย ลิงกอริลลาในวัยชราที่ใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ด้วยความคุ้นเคยต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดเชื้อโรคใดๆ เป็นเวลากว่า 30 ปี

ผู้บริหารชุดปัจจุบันย้ำด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีผู้หนึ่งผู้ใด หรือหน่วยงานใดที่สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อใช้เวลาศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากในสถานที่ และตัวตนที่แท้จริงของบัวน้อย โดยเฉพาะผู้ที่ให้สัมภาษณ์ หรือตลอดจนผู้ที่คิดจัดตั้งโครงการใดๆ เกี่ยวกับบัวน้อยก็ยังไม่เคยมีใครเข้ามาศึกษาในสถานที่แห่งนี้ถึงความเป็นไปได้ก่อนที่จะคิดทำโครงการตามที่เป็นข่าว

“ถือเป็นความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากสำหรับการเลี้ยงลิงกอริลลาให้อยู่รอดภายในสวนสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาในแง่นี้ถือเป็นความสำเร็จที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นที่พิสูจน์ได้ จนวันนี้บัวน้อยอยู่ในวัยชรา บั้นปลายสุดท้ายของชีวิตตามอายุขัยของลิงกอริลลา ซึ่งทางสวนสัตว์พาต้าเองก็ได้มีการประชุมเรื่องการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ด้วยความตระหนักดีว่า ในอายุขัยเช่นนี้บัวน้อย ลิงกอริลลาล้ำค่าตัวสุดท้ายของประเทศไทย สามารถตายจากเราไปได้ทุกเมื่อ” แถลงผู้บริหารพาต้าระบุ

นอกจากนั้นกล่าวด้วยว่าเป็นการยากถึงยากที่สุดที่ต่อจากนี้จะได้มีโอกาสได้เห็นลิงกอริลลาตัวต่อไปภายในประเทศไทย ความต้องการให้บัวน้อยกลับไปตายที่ประเทศต้นกำเนิด (เยอรมนี) ตามที่หลายฝ่ายต้องการนั้น อาจเป็นเรื่องที่สามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปได้ แต่ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องต่อกิจการสวนสัตว์ไม่สมควรใช้คำว่า “ติดคุก” กับสัตว์ในสวนสัตว์

ทั้งนี้ ทางสวนสัตว์พาต้าจะไม่ขอกล่าวถึงสนธิสัญญาไซเตส (CITES) ที่ห้ามซื้อขายสัตว์ต้องห้ามบางจำพวก เช่น ลิงกอริลลา เพียงแต่ต้องการให้ข้อมูลความจริงว่า ที่ผ่านมาสวนสัตว์พาต้าได้ให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่กับบัวน้อยอย่างดีที่สุด แม้ระยะหลังบริษัทจะต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยมีการเจรจาหรือตั้งราคาบัวน้อยเพื่อผลกำไร

อย่างไรก็ดี ก่อนนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ กล่าวว่ามีโครงการที่จะพาบัวน้อยที่อยู่ในกรงสวนสัตว์ในห้างสรรพสินค้าพาต้ากลับไปสัมผัสแผ่นดินเกิด และมีญาตพี่น้องเพื่อนฝูงตระกูลกอริลลาอยู่ ก่อนที่บัวน้อยจะตาย โดยได้ไปเจรจากับเจ้าของคือห้างสรรพสินค้าพาต้า แต่ปรากฏว่า เจ้าของบอกราคาขายอยู่ที่ 30 ล้านบาท

เมื่อถามว่า ทำไมจะต้องนำบัวน้อยกลับบ้านเกิด นายธเนศน์พล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทส. และองค์การสวนสัตว์มักได้รับการร้องเรียนจากประชาชนบ่อยครั้ง เรื่องสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของบัวน้อยที่โดดเดี่ยวอยู่ในกรงมากว่า 30 ปี อยากจะให้บัวน้อยมีชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่คงไม่ถึงขั้นเอาไปปล่อยป่า เพราะบัวน้อยคงอยู่ไม่ได้

“แต่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตบัวน้อยอยากให้บัวน้อยได้เห็น ได้สัมผัสกับสายพันธุ์ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และแผ่นดินเกิดที่ประเทศเยอรมัน ย่อมดีกว่าตายไปอย่างโดดเดี่ยวในกรงตัวเดียว เราจะมีกิจกรรมเพื่อปล่อยบัวน้อย เช่น วิ่งเพื่อบัวน้อย โดยรวบรวมเงินบริจาคจากประชาชนที่รักบัวน้อย อยากให้บัวน้อยมีบั้นปลายชีวิตที่ดีกว่านี้

“แต่ปัญหาคือ เจ้าของยังไม่ยอมขายบัวน้อยให้ และแม้จะขาย ราคาก็สูงเกินไป กระทรวงก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะบัวน้อยถือเป็นสมบัติส่วนตัวและเจ้าของได้มาก่อนประเทศไทยจะประกาศใช้กฏหมาย การซื้อขายสัตว์ป่าและพืชป่าชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์”นายธเนศน์พล กล่าว

สำหรับบัวน้อยนั้นถูกนำเข้ามาพร้อมคู่ตัวผู้เมื่อปี 2535 จากเยอรมนี เพื่อมาแสดงครั้งแรกในไทยขณะอายุได้ 3 ปี ในราคาประมาณ 3 ล้านกว่าบาท โดยต่อตัวผู้ได้ตายลง ทำให้บัวน้อยกลายเป็นกอริลลาตัวสุดท้ายในประเทศไทย หลังจากไทยเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITEES) ที่ไม่อนุญาตนำกอริลลาเข้าประเทศได้อีก

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่