ปารีสผุดกระเช้าลอยฟ้า เชื่อมเส้นทางขนส่งมวลชน ลดการใช้รถลดมลพิษในเมือง

ปกติแล้วเมื่อนึกถึงเคเบิลคาร์ (Cable car) เราจะเห็นภาพของการขนส่งที่พาเราขึ้นไปบนภูเขาสูงด้วยระบบสายเคเบิลที่ลากที่นั่งหรือห้องโดยสารขึ้นไต่ระดับความสูงไปยังจุดหมายตามสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นภูเขาและในเมืองที่มีระดับความสูงมาก ๆ อย่างเช่นที่โบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบียซึ่งมีระดับความสูงเฉลี่ย 2,640 เมตร

แต่เมืองพื้นที่ราบอย่างปารีส กำลังจะนำเคเบิลคาร์มาเป็นระบบขนส่งมวลชนของเมือง ซึ่งไม่ได้ไต่ระดับความสูงเสียดฟ้า เหมือนคอนเซปต์ “รถรางลอยฟ้า” (Aerial tramway) ในเมืองโบโกตาหรือลาปาซ แต่มันสูงพอที่จะพ้นจากระยะกีดขวางของอาคาร

ปารีสเพิ่งเปิดตัวโครงการนี้ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือเส้นทางสาย Câble 1 (C1) จะเชื่อมเขตชานเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้คือเมืองปริมณฑลเครเตยล์ (Créteil) และเมืองวีลย์เนิฟ-แซงต์-ฌอร์จส์ (Villeneuve-Saint-Georges) กับรถไฟใต้ดินสาย Paris Métro ทำให้การเดินทางระยะ 4.5 กม. ในเวลาเพียง 17 นาที ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าครึ่งของการโดยสารรถบัสในปัจจุบัน 

โมเดลการสร้างเคเบิลคาร์ในปารีส เครดิต Cable A — Televal

โลรองต์ พรอบสต์ (Laurent Probst) ผู้อำนวยการทั่วไปของหน่วยงานด้านการขนส่งระดับภูมิภาค IDFM บอกกับหนังสือพิมพ์ Parisien ว่า การก่อสร้างจะเริ่มในปีนี้ โดยเคเบิลคาร์หรือกระเช้าไฟฟ้าสายนี้จะเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารในปี 2025 หรือ พ.ศ. 2568

ที่มาว่าทำไมต้องเคเบิลคาร์? นักวางผังเมืองของปารีสมีตัวเลือกอยู่ 3 ตัว คือ 1. เพิ่มรถประจำทางในพื้นที่ 2. สร้างสะพานใหม่เพื่อเชื่อมไปยังสถานีรถไฟใต้ดิน/บนดินสถานนีปวงต์ ดือ ลัค (l Pointe du Lac) ที่เมืองเครเตยล์โดยตรง และ 3. ปรับปรุงการเชื่อมต่อการขนส่งไปยังสถานีอื่นในบริเวณใกล้เคียง 

ตัวเลือกเหล่านี้มีข้อจำกัดคือ รถบัสทำให้รถติดมากขึ้น การสร้างสะพานต้องเวนคืนที่ดินให้ยุ่งยาก ตัวเลือกที่ 3 คือจะเชื่อมต่ออย่างไรให้เกะกะระบบจราจรน้อยที่สุดและเวนคืนที่น้อยที่สุด พวกเขาจึงตัดสินใจเลือกะสร้างเคเบิลคาร์ เพราะแค่ตั้งเสาระยะสูงพ้นสิ่งกีดขวางเท่านั้น และมีต้นทุนถูกกว่าด้วย คือประมาณ 132 ล้านยูโร

หากโครงการสาย C1 ไปได้ด้วยดี พื้นที่อีลย์-เดอ-ฟรองซ์ (Ile-de-France) หรือใจกลางของกรุงปารีสก็อาจจะมีเคเบิลคาร์/กระเช้าไฟฟ้าวิ่งไปรอบ ๆ ด้วยแผนการที่จะผุดเส้นทางแบบนี้มากถึง 12 สายซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ในอนาคตเราจะเห็นทิวทัศน์ของปารีสที่เปลี่ยนไป แต่การเดินทางจะสะดวกขึ้น

ที่จริงแล้วเคยมีการเสนอสร้างเส้นทาง Cable A ในปี 2008 แต่ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในท้องถิ่นมาหลายปีด้วยต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ตอนนี้ความกังวลเหล่านั้นได้รับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ดีขึ้น จากข้อมูลของ Bloomberg ตู้โดยสารจะติดตั้งเซ็นเซอร์ที่จะปิดหน้าต่างทึบเมื่อเข้าใกล้อาคารที่พักอาศัยมากเกินไป 

ที่สำคัญ ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะไม่เพิ่มมลพิษทางอากาศหรือปล่อยอากาศเสียในพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขประมาณจำนวนผู้โดยสาร โดยผู้สนับสนุนโครงการกล่าวว่า จะช่วยทำให้ผู้สัญจรไปมาในใจกลางกรุงปารีสเข้าถึงระบบรถไฟใต้ดินได้ง่ายขึ้น และนั่นหมายถึงสามารถลดการใช้รถส่วนบุคคลลงตามไปด้วย

ข้อมูลจาก

  • Tom Bateman. (4 February 2022). “Paris reveals a new cable car for commuters that could be running by 2025”. EuroNews.
  • Feargus O’Sullivan. (4 February 2022). “Paris’s First Gondola Finally Gets a Green Light”. Bloomberg.

ภาพ IDF Mobilités @IDFmobilites/Twitter  

Related posts

‘อาหารแห่งอนาคต’ คืออะไร ของแท้หรือแค่เทรนด์

เยอรมันผุด ‘เบียร์ผง’ เติมน้ำพร้อมดื่ม ลดโลกร้อน

ฟินแลนด์รับสมัครคน ‘เที่ยวฟรี’
แบ่งปันวิถีชีวิตความสุขแบบชาวฟินน์