สินค้าภูมิปัญญาเชียงใหม่ ผลิต ‘กระดาษสาทนน้ำ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โรงงานกระดาษบ้านต้นเปา จ.เชียงใหม่ หันมาใช้นวัตกรรมผสานภูมิปัญญาพัฒนา “กระดาษสาทนน้ำ” สามารถเพิ่มมูลค่าการใช้งานเทียบเท่าถุงพลาสติก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

นายธนากร สุภาษา กรรมการผู้จัดการบริษัทซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษจากใยธรรมชาติแบรนด์ “ปาป้า เปเปอร์ คราฟท์ (Papa Paper Craft) ”กล่าวว่า ธุรกิจกระดาษสาของครอบครัวในหมู่บ้านต้นเปา จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งผลิตกระดาษสาครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย
และมีแนวคิดการพัฒนา ‘กระดาษสาทนน้ำ’ เพื่อปรับจุดอ่อนให้เป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากคนทั่วโลกต้องการลดการใช้พลาสติก และหันมาใช้สินค้าจากธรรมชาติมากขึ้น

นายธนากร กล่าวอีกว่า กระดาษสาทนน้ำที่ผลิตได้สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จาน กล่องเครื่องสำอาง และถุงกระดาษ เน้นการออกแบบรูปทรงและการตัดเย็บให้ดูทันสมัย ความพิเศษของผลิตภัณฑ์กระดาษสาทนน้ำ คือ เมื่อเทน้ำลงไป น้ำจะขังอยู่ในผลิตภัณฑ์จนกว่าจะเทน้ำออก การดูดซับน้ำจะมีเฉพาะผิวกระดาษชั้นนอก และกระดาษจะค่อยๆ คายน้ำออกมาจนแห้งในเวลาไม่นาน

ผลิตภัณฑ์ทนน้ำ จากกระดาษสา

“ตัวอย่างเช่น ถุงกระดาษสาทนน้ำ เราไม่ได้ทดสอบแค่เทน้ำใส่ถุงเพียง 5-10 วินาทีเท่านั้น แต่เทน้ำทิ้งไว้ในถุงเป็นวัน ซึ่งก็ไม่พบการรั่วซึม ขณะที่ถุงกระดาษสาทั่วไป เมื่อเทน้ำลงไปกระดาษจะดูดซึมน้ำ เปื่อยและฉีกขาดทันที ที่สำคัญถุงกระดาษสาทนน้ำยังนำมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 1 ปี เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ

“ผมมีความเชื่อว่าตลาดจะตอบรับเรา เพราะกระดาษสาทนน้ำเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์แนวคิดทั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจของ BCG ที่ภาครัฐกำลังให้การสนับสนุน เพราะต้องการลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) โดยกระบวนการผลิตกระดาษสาทนน้ำของเรา ไม่เพียงใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพแล้ว

“ในกระบวนการผลิตกระดาษสายังเน้นใช้สีธรรมชาติ ทำให้นำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนในกระบวนการผลิตได้เกือบ 100% แทบไม่มีการปล่อยออกเสียสู่สิ่งแวดล้อม เป็น zero waste ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ถือเป็นแต้มต่อในการทำธุรกิจที่เท่าทันตอบโจทย์กระแสโลก และด้วยกระบวนการทำธุรกิจแบบนี้ เชื่อว่าจะทำให้ชุมชนและบริษัทอยู่ได้ รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน”

ดร.มาโนช นาคสาทา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เทคโนโลยีกระดาษสากันน้ำเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาด้วยทุนวิจัยของ สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ โดยเป็นการลดช่องว่างในตัวกระดาษด้วยการเติมแป้งพร้อมกับมีกระบวนการอัดให้เส้นใยของกระดาษอยู่ชิดกันมากขึ้น ซึ่งทำให้กระดาษหนาและแข็ง

อีกกระบวนการคือการเติมสารที่ไม่ชอบน้ำลงไปทำให้มุมสัมผัสของหยดน้ำโตมาก ทำให้น้ำไม่สามารถเปียกเส้นใย และไม่สามารถซึมผ่านกระดาษได้ ซึ่งสารที่เติมลงไปสกัดจากธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้กระดาษสากันน้ำได้ดี หยดน้ำสามารถกลิ้งไปมาบนกระดาษได้เหมือนกลิ้งบนใบบัว ผู้ประกอบการสามารถทำได้ด้วยวิธีการเดิม ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง

ปัจจุบัน บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ รับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตกระดาษสาทนน้ำ โดยการนำสารไม่ชอบน้ำมาใช้ในกระบวนการปั่นเยื่อก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นกระดาษสา และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย