มหาอำนาจตัวการก่อโลกร้อนแต่ปากีสถานปล่อยก๊าซต่ำกว่า 1%กำลังแบกรับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่

โลกกำลังติดตามข่าวน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานด้วยความตื่นตะลึงกับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แต่ท่ามกลางความเสียหายดังกล่าวทางสำนักข่าว CNN พาดหัวข่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% ของโลก ตอนนี้กำลังจมน้ำ”

นี่เป็นคำเตือนว่า ต่อให้ประเทศเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยแค่ไหนก็ตาม หรือกระทั่งมีคาร์บอนติดลบ แต่ผลของภาวะโลกร้อนนั้นมันไม่เลือกประเทศ และทุกประเทศไม่ว่าปล่อยมากหรือน้อย ต้องแบกรับหายนะอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย เนื่องจากชาติมหาอำนาจโลกคือผู้ปล่อยคาร์บอนมากในอันดับต้นๆ แต่ประเทศที่ยากจนกลับต้องมารับกรรมที่ไม่ได้เป็นเป็นผู้ก่อ

ข้อมูลของสหภาพยุโรประบุว่า ปากีสถานปล่อยก๊าซในอัตราต่ำกว่า 1% ของก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น แต่ก็เป็นประเทศที่เปราะบางที่สุดเป็นอันดับ 8 ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศตามดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก

นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2022 น้ำท่วมในปากีสถานได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 1,136 คน ซึ่งเกิดจากฝนมรสุมที่หนักกว่าปกติและธารน้ำแข็งที่กำลังละลายซึ่งตามมาด้วยคลื่นความร้อนที่รุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นอุทกภัยที่อันตรายที่สุดในโลกนับตั้งแต่เกิดอุทกภัยในเอเชียใต้ปี 2017 และจัดว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

วันที่ 25 ส.ค. ปากีสถานประกาศภาวะฉุกเฉินเนื่องจากอุทกภัย 29 ส.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถานกล่าวว่า “หนึ่งในสาม” ของประเทศอยู่ใต้น้ำ ส่งผลกระทบต่อผู้คน 33 ล้านคน รัฐบาลปากีสถานประเมินการสูญเสีย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศ

องค์การสหประชาชาติเตรียมมอบเงิน 160 ล้านดอลลาร์ในกองทุนฉุกเฉินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งแทบจะไม่เพียงพอเมื่อเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ประเทศต่างๆ ไม่ว่าสหรัฐจนถึงตุรกีกำลังให้ความช่วยเหลือ เฮลิคอปเตอร์กู้ภัย อาหาร และเวชภัณฑ์ แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้เป็นแค่เรื่องเฉพาะหน้า เพราะโลกต้องการความจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อนมากกว่า เพราะผลของมันหนักขึ้นทุกที

ตัวอย่างอุทกภัยที่เกิดกับปากีสถานในเดือน ส.ค.ปีนี้ เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าปกติ โดยในแคว้นสินธ์ได้รับ 784% และบาโลชิสถานมากกว่าปกติ 500% ซึ่งมากกว่าอัตราโดยเฉลี่ยของเดือน ส.ค. เนื่องจากมหาสมุทรอินเดียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก โดยอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 1 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภาวะโลกร้อนที่ 0.7 องศาเซลเซียส) เชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะทำให้ปริมาณฝนมรสุมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ทางตอนใต้ของปากีสถานยังประสบกับคลื่นความร้อนแบบยืดเยื้อในเดือน พ.ค. และมิ.ย. ซึ่งเรียกได้ว่าร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์และมีแนวโน้มร้อนเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความกดอากาศที่มีร้อนต่ำอย่างรุนแรงซึ่งทำให้ฝนตกหนักกว่าปกติ คลื่นความร้อนยังก่อให้เกิดน้ำท่วมน้ำแข็งในกิลกิต บัลติสถานด้วย

ทั้งความร้อนในมหาสมุทรจนทำให้เกิดฝนตกหนักผิดปกติและความร้อนในภาคพื้นดินที่ทำให้ธารน้ำแข็งละลาย คือสูตรสำเร็จของหายนะ และทำให้ปากีสถานเป็นเหยื่อรายล่าสุดและหายนะที่สุด (ณ ขณะนี้) ของภาคโลกร้อน

อ้างอิง
• Rachel Ramirez and Angela Dewan. (August 31, 2022). “Pakistan emits less than 1% of the world’s planet-warming gases. It’s now drowning”. CNN.
• “Pakistan floods have affected over 30 million people: climate change minister”. Reuters. 27 August 2022.
• Tunio, Zoha (2 August 2022). “After Unprecedented Heatwaves, Monsoon Rains and the Worst Floods in Over a Century Devastate South Asia”. Inside Climate News.
ภาพ: https://twitter.com/Pak_Weather/status/1564965828491063296

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่