การค้นพบครั้งสำคัญ ฟอสซิลไดโนเสาร์ทารกในไข่ เผยเบาะแสวิวัฒนาการใหม่

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา มีการพบไข่และรังไดโนเสาร์ฟอสซิลจำนวนมาก แต่การพบไข่และรังที่มีตัวอ่อนที่เก็บรักษาไว้อย่างดีภายในนั้นหายากเหลือเกิน ล่าสุดวารสาร iScience วันที่ 21 ธันวาคมเผยว่า นักวิจัยได้ค้นพบไข่ไดโนเสาร์ทางตอนใต้ของจีนจากเมื่อ 66 ล้านปีก่อน เป็นการค้นพบครั้งสำคัญส่งท้ายปีที่จะพลิกโฉมแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการเลยทีเดียว

การศึกษาของพวกเขายังพบว่า ไดโนเสาร์กลุ่มโอวิรัปโทโรซอเรีย (Oviraptorosauria) หรือกิ้งก่าขโมยไข่ที่มีความเกี่ยวข้องกับนกอย่างใกล้ชิด มีท่าทางการขนดตัวก่อนที่จะฟักไข่ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของนก นักวิจัยกล่าวว่า มันทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่พฤติกรรมการขนดตัวอาจมีวิวัฒนาการมาเป็นอันดับแรกในกลุ่มเทโรพอด (Theropoda) หรือไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ในช่วงยุคครีเทเชียส

ไวซัม หม่า (Waisum Ma) จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดนั้นไม่สมบูรณ์พราะมีโครงกระดูกที่กระจัดกระจาย เราแปลกใจมากที่เห็นเอ็มบริโอนี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างสวยงามภายในไข่ไดโนเสาร์ นอนอยู่ในท่าเหมือนนก ท่านี้ไม่เคยพบกันในหมู่ในไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นกมาก่อน”

ตัวอ่อนไดโนเสาร์ฟอสซิลนี้มาจากเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ทางตอนใต้ของประเทศจีน เหลียง หลิว (Liang Liu) ผู้อำนวยการบริษัท Yingliang Group ซื้อมันมาในปี 2543 ซึ่งสงสัยว่า อาจมีฟอสซิลไข่ แต่สุดท้ายก็ไปอยู่ในห้องเก็บของ แล้วถูกลืมสนิทจนกระทั่งประมาณ 10 ปีต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ระหว่างการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หินธรรมชาติอิงเหลียงได้จัดเรียงกล่องและพบฟอสซิลนี้อีกครั้ง

“เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ระบุว่า พวกมันเป็นไข่ไดโนเสาร์ และเห็นกระดูกบางส่วนบนส่วนที่หักของไข่ใบหนึ่ง” หลี่ต๋า ซิง (Lida Xing) จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน กรุงปักกิ่งเผย จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงทำการเจาะไข่ฟอสซิลเพื่อเผยให้เห็นตัวอ่อนที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่า “เบบี้อิงเหลียง”

ในการศึกษาครั้งใหม่ หลี่ต๋า ซิง และเพื่อนร่วมงานรายงานว่า ศีรษะอยู่ในช่องท้องจากการขนดร่างกายโดยมันวางเท้าทั้งสองแนบกับข้างศีรษะแต่ละด้านและหลังของมันโค้งงอไปตามแนวโค้งของไข่ใน ซึ่งเป็นท่าฟักตัวที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนในหมู่ไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นก มันเป็นการค้นพบโดดเด่นเป็นพิเศษด้วย เพราะชวนให้นึกถึงตัวอ่อนนกสมัยใหม่ระยะสุดท้าย

การเปรียบเทียบตัวอย่างกับตัวอ่อนโอวิรัปโทโรซอเรีย (Oviraptorosauria) ระยะสุดท้ายอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าก่อนการฟักไข่นั้น โอวิรัปโทโรซอเรียได้พัฒนาท่าทางเหมือนนกในช่วงระยะฟักตัว ในกรณีของนกสมัยใหม่ การเคลื่อนไหวของตัวอ่อนที่ประสานกันนั้นสัมพันธ์กับการขนดตัว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลาง และมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการฟักไข่

นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาจะศึกษาตัวอย่างที่หายากนี้ต่อไปในเชิงลึกยิ่งขึ้น โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพต่าง ๆ เพื่อสร้างภาพกายวิภาคภายในของมัน เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่ยังคงปกคลุมด้วยหินฟอสซิล แต่อย่างน้อยเบื้องต้นเราทราบแล้วว่า นี่คือห่วงโซ่สำคัญที่บอกกับเราว่า ไดโนเสาร์บางชนิดมีวิวัฒนาการเชื่อมโยงกับนกได้อย่างไร

เรียบเรียงจาก
“Rare dinosaur embryo exquisitely preserved inside the egg suggests bird-like pre-hatching posture”. (21-DEC-2021). EurekAlert.
เครดิตภาพ: LIDA XING/ISCIENCE

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน