‘ประมงทำลายล้าง’ ร้ายกว่าปลาหมอคางดำระบาด ต้นเหตุปลาทะเลลดลง

การทำประมงเกินขนาด หรือ “ประมงทำลายล้าง” (overfishing) หนึ่งในสาเหตุทำให้การจับปลาและมูลค่าสัตว์น้ำในอ่าวไทยลดลง แต่ไม่เกี่ยวกับปลาหมอคางดำ 

ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (2554 – 2563) มีผลผลิตจากการทำการประมงทะเลเฉลี่ย 1,445,005 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 56,961 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 0.78 ต่อปี

ปริมาณการจับปลาทะเลที่ลดลงไม่เกี่ยวกับ “ปลาหมอคางดำ” ที่มีข่าวว่าได้ออกอาละวาดสู่อ่าวไทยนอกเขต 3 ไมล์ทะเล จนทำให้ชาวประมงเกิดความกังวลและมีข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐผ่อนผันกฎหมายการทำประมง รวมทั้งขยายขนาดของเรือจับปลาจากไม่เกิน 3 ตันกรอส เป็นไม่เกิน 10 ตันกรอส…เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

ต้องเข้าใจว่า วิกฤตการทำประมงในวันนี้มาจากการทำประมงเกินขนาด จากการศึกษาของมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ในรายงาน “อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย” พบว่า การลากอวนนั้นสามารถจับสัตว์น้ำได้ถึง 30 ล้านตันต่อปี สูงกว่าวิธีการทำประมงแบบอื่นๆ แต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและมีเพียงเจ้าของกิจการประมงนั้นที่ได้รับประโยชน์ สวนทางกับความพยายามในการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สำหรับอวนลากเจ้าปัญหามี 3 แบบ คือ อวนลากคู่ (pair trawls) ที่ใช้เรือสองลำช่วยถ่างปากอวน, อวนลากแผ่นตะเฆ่ (otter board trawls) ที่ใช้แผ่นตะเฆ่ช่วยถ่างปากอวน ได้แก่ อวนลากปลา อวนลากกุ้ง อวนลากเคย และอวนลากแมงกะพรุน และอวนลากคานถ่าง (beam trawls) ที่ใช้คานช่วยถ่างปากอวน ได้แก่ อวนลากคานถ่างแบบลากกุ้ง (บางแห่งเรียกว่าอวนลากข้างหรืออวนลากแขก) และอวนลากคานถ่างแบบลากแมงกะพรุน (ชาวประมงเรียกว่าอวนลากจอหนัง)

วิธีการทั้งหมดนี้เป็นการจับสัตว์น้ำเกินขนาด จับปลาเล็กปลาน้อยที่ไม่โตเต็มวัย ทำลายแนวปะการัง รบกวนตะกอนและเลน และบ่อนทำลายสัตว์น้ำในพื้นที่ซึ่งใช้พื้นทะเลเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร หรือพื้นที่ขยายพันธุ์ และในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารของโลก

ปัจจุบันไทยมีเรือประมง จำนวน 61,832 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ 10,595 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 51,237 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือประมงอวนลาก 3,370 ลำ โดยจดทะเบียนที่อ่าวไทย 2,752 ลำ และจดทะเบียนทะเลอันดามัน 618 ลำ เริ่มปฏิรูปการทำประมงมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ในปี 2564 การฟื้นตัวของระบบนิเวศยังเชื่อมโยงกับการปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง

กลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง (2563) เปิดเผยสถิติมูลค่าและผลผลิตการประมงไทยพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้ ปี 2560 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,493,044 ตัน มูลค่า 68,495 ล้านบาท ปี 2561 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,536,756 ตัน มูลค่า 70,818 ล้านบาท ปี 2562 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,542,570 ตัน มูลค่า 73,989 ล้านบาท และในปี 2563 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,659,467 ตัน มูลค่า 76,012 ล้านบาท

นอกจากการทำประมงเกินขนาดโดยอุตสาหกรรมประมง ในส่วนการจัดการของภาครัฐ กรมประมงยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ สัดส่วนของชนิดสัตว์น้ำและการประเมินประชากรสัตว์น้ำที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นการไม่บันทึกและขาดการรายงานการประเมินประชากรสัตว์น้ำ ทำให้รายงานดัชนีการประมงโลก ปี 2564 ที่จัดทำโดยมูลนิธิมินเดอรู ซึ่งวัดความพยายามในการประเมินประชากรสัตว์น้ำของ 142 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยได้เพียง 7.9 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน

ประการต่อมา ไทยไม่มีการลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้ประกอบการเรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด อีกทั้ไม่มีการกำหนดหรือบังคับใช้โควตาปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำการประมง (total allowable catch: TAC) ทำให้ไม่มีการบังคับให้เรือประมงที่จับสัตว์น้ำเกินกำหนด 20% ต้องลดปริมาณการจับสัตว์น้ำในการออกเรือแต่ละครั้งลง ซึ่งกรมประมงให้เหตุผลว่ามีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การจัดทำสมุดบันทึกการทำประมงยังไม่บังคับกับเรือประมงทุกลำ โดยเฉพาะเรือประมงพื้นบ้าน ทำให้ไม่สามารถติดตามปริมาณการจับสัตว์น้ำของเรือแต่ละลำได้ชัดเจน

ขณะที่การควบคุมโควตาการจับสัตว์น้ำมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทิ้งสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการลงทะเล เนื่องจากชาวประมงจะบันทึกน้ำหนักสัตว์น้ำที่มีราคาดีเท่านั้น และเมื่อหมดโควตาการจับสัตว์น้ำจะเกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ออกประกาศปิดอ่าวในทุกปี โดยปี 2567 ได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2567 โดยแบ่งเป็นบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. 2567 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึง อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พ.ค. – 14 ม.ย. 2567 ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวประจวบ

และบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย. – 15 ส.ค. 2567 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย. 2567 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำฝั่งทะเลอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และอาศัยเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำหลายชนิด ด้วยการคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่มีความสมบูรณ์เพศพร้อมผสมพันธุ์วางไข่ และปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อนให้มีโอกาสเจริญเติบโตเป็นสัตว์น้ำรุ่นต่อไป

ผลการดำเนินมาตรการในปี 2566 พบว่าปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยมีปริมาณมากถึง 41,310 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,316.57 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 5,602 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 659.08 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ของปริมาณการจับ (ปี 2565 ปริมาณ 35,708 ตัน มูลค่า 2,657.49 ล้านบาท ) และพบว่าพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์ในอัตราที่สูงเกือบร้อยละ 100 อีกทั้งยังพบการแพร่กระจายของลูกปลาทู ปลาลังและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการ

อ้างอิง:
• 18 ก.ค. 2567 ขั้นวิกฤติ! ‘ปลาหมอคางดำ’ โผล่อ่าวไทย 3 ไมล์ทะเล อึ้งผ่าดู ‘เคย’ เต็มท้อง . Dailynews Online
• “ประมงอวนลาก ภัยเงียบคุกคามอนาคตทะเลไทย ? หาคำตอบผ่านรายงานอุตสาหกรรมอวนลากฯ ฉบับล่าสุดของ EJF” . Atirut Duereh . SDG MOVE
• 14 ก.พ. 2567 . กรมประมง…จัดพิธีประกาศปิดอ่าวไทย ปี 67 เผยผลจับปลาทูปี 66 เพิ่มขึ้นกว่า 5,600 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาทหน้าหลัก . เว็บไซต์กรมประมง
27 พ.ค. 2022 . หยุดจับ ‘ปลาทูวัยอ่อน’ ก่อนจะหมดทะเลไทย. The Active . ThaiPBS

 

Related posts

เมืองทั่วโลกเร่งปรับตัว รับมือคลื่นความร้อนดันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

สรุป 10 ปัจจัยน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

โลกป่วนภูมิอากาศเปลี่ยน คุมอุณหภูมิไม่อยู่ Flexitarian ช่วยกอบกู้โลก