‘ขยะกำพร้า’ ที่ใครๆ ก็ไม่เอา เปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘พลังงาน’ ได้

by Pom Pom

“ขยะกำพร้า” ตัวการร้าย ภาวะโลกร้อน จากใครๆ ก็ไม่เอา ขายก็ไม่ได้ รีไซเคิลก็ไม่คุ้ม จนกลายเป็นขยะตกค้าง แต่สามารถ เปลี่ยนจาก “ภาระ” เป็น “พลังงานทดแทน” ได้

“ขยะล้นโลก” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ด้วยประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ปริมาณขยะก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน โดยขยะนั้นสามารถแยกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ ขยะเปียก, ขยะอันตราย, ขยะทั่วไป และ ขยะรีไซเคิล แต่มีขยะอีกประเภท ที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยได้ยิน นั่นคือ “ขยะกำพร้า” ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ขยะที่ถูกทิ้ง ใครๆ ก็ไม่เอา ขายก็ไม่ได้ รีไซเคิลก็ไม่คุ้ม สุดท้ายจึงกลายเป็นภาพชินตาที่ได้เห็นปลายทางของขยะเหล่านี้ ถูกกำจัดด้วยวิธีการเผา ฝังกลบ หรือโยนลงคลอง ซึ่งเป็นวิธีการที่นอกจากจะไม่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา กลายเป็นขยะตกค้างจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียหาย รวมทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

ขยะกำพร้า คืออะไร

คำว่า กำพร้า หากเปรียบกับคน ก็เหมือนลูกที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ถูกทิ้ง ไม่มีคนเหลียวแล ดังนั้น “ขยะกำพร้า” ก็แปลความหมายแทบไม่ต่างกัน เป็นขยะที่ถูกมองข้าม ไม่มีใครเอา ไม่ได้ผ่านกระบวนการ การรวบรวม คัดแยกใดๆ เลย หรือไม่สะอาด มีการปนเปื้อน ไม่เป็นที่ต้องการของทั้งภาคธุรกิจ และภาคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ ไม่คุ้มกับการนำไปรีไซเคิล ถ้าเอาไปขายคนรับซื้อก็ไม่รับอีก ทำให้ขยะกำพร้ามีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น หรือถ้าจะเอาแบบทำความเข้าใจง่ายๆ “ขยะกำพร้า” คือ ขยะที่ย่อยสลายตามธรรมชาติก็ไม่ได้ เหมือนพวกเศษอาหาร หรือผลไม้ และขยะรีไซเคิลก็ไม่ได้ หรือ รีไซเคิลได้ แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เหมือนพวก กระดาษ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว อะลูมิเนียม ที่ซาเล้งชอบมารับซื้อ

ขยะกำพร้า มีอะไรบ้าง

  • กล่องพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบอ่อน)
    หลอดพลาสติก
    ถุงแกง ซองขนมกรุบกรอบ ซองบะหมี่สำเร็จรูป ซองเครื่องปรุง
    ซองกันชื้น
    แคปซูลกาแฟ
    กระดาษฟอยล์ เช่น ถาดฟอยล์ใส่เค้ก ฟอยล์ห่อขนม
    กล่องโฟม
    โฟมห่อผลไม้
    พลาสติกห่อสินค้า
    ริบบิ้น ป้ายราคา เชือก ฯลฯ
    ถุงหูหิ้วพลาสติกชนิดต่างๆ ซองบรรจุสินค้า เช่น ผ้าสปันบอนด์ (ที่ใช้ไปนานๆ จะแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกได้)
    แผงยา
    ซองอาหารหมา แมว
    พลาสติกกันกระแทก
    กระดาษกาวชนิดต่างๆ
    เสื้อผ้าเก่าที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว
    ชุดชั้นใน (ไม่มีโครงเหล็ก)
    ผ้าขี้ริ้ว
    ฟองน้ำล้างจาน
    แปรงสีฟัน
    แปรงขัดห้องน้ำ (แบบไม่มีลวด)
    หน้ากากอนามัย (ของผู้ที่ไม่ป่วย ม้วนแล้วมัดใส่ถุงให้เรียยร้อย)
    ชุดตรวจ ATK (ของผู้ที่ไม่ป่วย)
    ชุดตรวจครรภ์
    ถุงมือยาง (ตากแดดจัดก่อน)
    เจลลดไข้
    พลาสเตอร์ยา (ที่ไม่ปนเปื้อน)

ทางรอด “ขยะกำพร้า” แปลงร่างเป็นพลังงานทดแทน

แต่ใครว่า “ขยะกำพร้า” ไม่มีประโยชน์ อาจต้องคิดใหม่ เพราะขยะที่ไม่มีใครเอาเหล่านี้ สามารถนำไปสร้างเป็นพลังงานทดแทนได้ เพราะขยะกำพร้ามีค่าพลังงานความร้อนสูงกว่า 3,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำทางเชื้อเพลิงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ขยะกำพร้าที่มีการปรับสภาพก่อนให้สะอาด แห้ง และมีการคัดแยก ปรับให้เป็นชิ้นที่มีขนาดเล็ก จะมีค่าพลังงานสูงกว่า 5,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม เทียบเท่ากับถ่านหิน แถมมีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถอัดเพิ่มความหนาแน่น ขนส่งได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เมื่อแปรรูปเป็น เชื้อเพลิงขยะมูลฝอยอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel; RDF) นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy เป็นการนำขยะมาสร้างประโยชน์แปรสภาพให้เป็นพลังงาน เนื่องจากแม้ว่าจะมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือนำขยะกลับไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์อย่างไร ก็จะยังคงเหลือขยะจำนวนมากที่กำจัดได้ไม่หมด จนทำให้ปริมาณขยะที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะได้เป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจาก N15 Technology ที่เป็นองค์กรรับบริจาคขยะกำพร้า เพื่อไปเผาทำลายอย่างถูกวิธี ที่มีการทำกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจร มายาวนานระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมานาน 7 ปี ปริมาณขยะกำพร้าจากปีแรก 75 ตัน/ปี และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ้นปี 2567 น่าจะมีปริมาณขยะกำพร้า ถึง 700 ตัน ซึ่งขยะทั้งหมดจะถูกนำไปเผาทำลาย และเปลี่ยนเป็นพลังงาน สร้างมูลค่าได้

ดังนั้น “ขยะกำพร้า” ที่ผ่านกระบวนการจัดการอย่างถูกต้อง ก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือเป็นพลังงานทดแทนได้ ถึงแม้ว่ามูลค่าด้านเศรษฐกิจ จะน้อยกว่าการนำขยะไปรีไซเคิล ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ จากการกำจัดขยะ แต่หากจะทำให้เกิดการจัดการขยะได้แบบยั่งยืน เราจึงควรใส่ใจลดจำนวนขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือจัดการขยะให้ถูกวิธี เพื่อแก้ปัญหา ขยะล้นโลก น่าจะดีกว่า

อ้างอิง : https://hhcthailand.com/

หน้าแรก


https://www.thestorythailand.com/
N15 Technology

Copyright @2021 – All Right Reserved.