OPINION: ข้อเสนอดับไฟป่าภาคเหนือ‘สร้าง’ การจัดการเชิงระบบ

โดย - มานพ คีรีภูวดล, ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
ตอนที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของการ “สร้าง”

1. สร้างมาตรการ “ชิงใช้ไฟ” ก่อนที่ไฟไม่พึงประสงค์จะชิงก่อความเสียหาย ที่สอดคล้องตามเงื่อนไขของแต่ละนิเวศป่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมและลักษณะชุมชนท้องถิ่นด้วยหลักสหวิชาการ อาทิ มโนทัศน์ Prescribed Natural Fire Policy Cultural burning หรือ Indigenous fire knowledge เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและควบคุมความรุนแรงของไฟอันไม่พึงประสงค์ พร้อมสนับสนุน platform รณรงค์สื่อสาร สร้างความเข้าใจกับสาธารณะชนถึงความจำเป็นและความสำคัญของการจัดการไฟที่มีความหลากหลาย เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ตัวอย่างเทคนิคโดยปกติในการเผาของชุมชนมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่สภาพอากาศโดยรวมของแต่ละวันเหมาะสมเข้าตามเงื่อนไข อาทิ อุณหภูมิ กลุ่มเมฆ ทิศทางลม โดยจะใช้เวลาเฉลี่ยเพียงหนึ่งชั่วโมงหรือที่เรียกว่าการ “เผาสมบูรณ์” และเป็น “การเผาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด” คือ ใช้ระยะเวลาสั้น เผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว เกิดควันน้อย ไม่เกิดเชื้อเพลงสะสมที่ต้องกลับมาเผาซ้ำหรือเทคนิคการ “เผาชน” ที่ใช้ป้องกันการขยายแนวลุกไหม้ของไฟในบริเวณที่สูงชัน

ตัวอย่างบทเรียนไฟป่าครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วง 1988 พบว่าผลจากการเปลี่ยนวิธีจัดการไฟมาใช้วิธีการใช้ไฟอย่างเหมาะสมเกือบสองทศวรรษช่วยให้ลดความเสียหายในวิกฤตครั้งนั้นได้มากกว่า 60% ของความเสียหายทั้งหมดหรือแม้กระทั่งบทเรียนไฟป่าออสเตรเลียที่ผ่านมา กระแสทางนโยบายได้เริ่มหันไปหาการใช้องค์ความรู้เรื่องไฟของคนท้องถิ่นหรือกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมอย่างคนอะบอริจิน

2. สร้างนโยบายการแก้ไขปัญหาที่เป็นฉันทามติร่วมทางสังคมและเป็นธรรม สอดคล้องกับความซับซ้อนของปัญหา ตอบสนองต่อช่วงฤดูวิกฤติผ่านกระบวนการวางแผน กำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาที่มีความเหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม เงื่อนไขความพร้องทางสังคมทั้งในระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและหมู่บ้าน บนฐานของการพิจารณาชุดขององค์ความรู้ ระบบฐานข้อมูล ระบบสนับสนุน การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ในระยะยาว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขยายมิติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันไปสู่มิติใหญ่ที่ซ้อนทับอยู่ โดยเฉพาะระบบการอยู่อาศัยและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากฐานชุมชนท้องถิ่นที่มุ่งเน้นความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาองค์รวมหรือเชิงระบบที่ครอบคลุมมิติทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและตอบโจทย์แนวคิดความการพัฒนายั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งล้วนเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างประเทศ

3. สร้างกลไกปฏิบัติการร่วม ระหว่างภาครัฐกับชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในฐานะ partner และ stakeholder ที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา สิ่งนี้จะเป็นพลังสำคัญในการชี้ขาดการบรรลุเป้าหมาย ด้านกลไกระดับพื้นที่ต้องประกอบด้วยเครือข่ายงานอันหลากหลายที่มีแผนงานร่วมกันอย่างชัดเจนตลอดหนึ่งรอบฤดูกาล(ปี) อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นลักษณะความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างพื้นที่ทางความร่วมมือนำระบบสั่งการแบบทั่วไป

4. สร้างแผนการจัดการไฟป่าเชิงระบบ ที่มาจากฐานศักยภาพและบริบทเฉพาะของชุมชนท้องถิ่นเพื่อยกระดับสู่แผนการจัดการร่วมภายใต้ระบบการสนับสนุนทรัพยากรโดยตรงที่ทันต่อสถานการณ์จากหน่วยงานหลักระดับจังหวัด ระดับประเทศและปรับแก้ระบบบริหารงบประมาณฯ ของประเทศให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉินประจำฤดูและสอดคล้องกับแผนในระยะยาว เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณและกระจายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนดำเนินงานจริงต่อกลไกระดับพื้นที่

5. สร้างมาตรการเสริมแรงจูงใจ แก่ชุมชนท้องถิ่นในฐานะกลไกสำคัญในการบริหารจัดการระบบการจัดการไฟป่า มากกว่าจะเป็นเพียงกำลังแรงงานในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง มุ่งให้ความสำคัญกับชุมชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากการจัดการไฟป่ามากกว่าการมุ่งเน้นมิติการใช้มาตรการลงโทษเป็นตัวนำตามวิธีคิดเดิม โดยเฉพาะระบบสวัสดิการสำหรับเครือข่ายชุมชนจัดการไฟและไม่ปล่อยให้คนในชุมชนที่ให้ความร่วมมือกับการแก้ปัญหาต้องดำรงชีวิตโดยไม่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตภายหลังฤดูจัดการไฟ

6. สร้างเครือข่ายชุมชนนวัตกรรม (model) การจัดการไฟ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำไปสู่การขยายเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อขยายผลบทเรียน ศักยภาพ องค์ความรู้และความสำเร็จในการจัดการปัญหาในระยะยาว พัฒนาการระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อการจัดการไฟและจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นและการติดตามประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม

7. สร้างระบบงานวิจัย ทั้งระดับพื้นที่และนโยบายที่ผสานสหศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอันหลากหลายบริบทของประเทศในฐานะปัญหาองค์รวมของความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างน้อยใน 5 มิติร่วมหลัก ได้แก่

  • ศักยภาพ องค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการไฟและการแก้ไขปัญหาหมอกควัน
  • การรักษาสมดุลนิเวศ
  • พลวัตสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
  • การยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
  • การพัฒนากฎหมาย/นโยบายที่สร้างสรรค์และเท่าทันโลก (smart policy)

ระยะเร่งด่วน ต้องเร่งศึกษาวิจัยออกมาตรการลดภาวะฝุ่นควันจากทุกแหล่งกำเนิดอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งที่ความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุมพื้นที่ และเกิดการสะสมของชั้นฝุ่นละออง (Subsidence Inversion) อาทิ การจราจร การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม สถานการณ์ฝุ่นควันข้ามพรมแดนรัฐและพัฒนามาตรการจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่กระจายหน้าที่ความรับผิดชอบไปสู่ทุกภาคส่วนในสังคมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

8. สร้าง Social platform กระจายความรู้การจัดการไฟ โดยโอกาสประชาชนทุกภาคส่วนใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนการเผชิญปัญหา ผสมผสานความรู้ประสบการณ์เดิมกับความรู้สมัยใหม่เพื่อนำไปสู่การความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นำไปต่อยอดสร้างนวัตกรรมการจัดการปัญหาที่เหมาะสมกับประเทศและก้าวทันโลก

ตอนที่ 1 ข้อเสนอดับไฟป่าภาคเหนือ ‘รื้อ’ การมองปัญหาแบบแยกส่วน 

ตอนที่ 2 ข้อเสนอดับไฟภาคเหนือ ‘เลิก’ เติมเชื้อไฟความขัดแย้ง

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย