OPINION: ข้อเสนอดับไฟป่าภาคเหนือ‘เลิก’ เติมเชื้อไฟความขัดแย้ง

โดย - มานพ คีรีภูวดล, ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
ตอนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของการ “เลิก”

1. เลิกใช้นโยบายที่มุ่งกำจัดไฟโดยไม่แยกแยะ (Fire Exclusion Policy) ด้วยอุดมคติที่ฝืนสภาพความจริง โดยไม่พิจารณาถึงเงื่อนไขสำคัญอื่นตามบริบทที่แตกต่าง โดยเฉพาะลักษณะทางนิเวศที่แตกต่างกันแม้กระทั่งในพื้นที่หนึ่งชุมชนท้องถิ่น ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรม ส่งผลให้มาตรการที่ผ่านมาล้มเหลวและสร้างภาวะสะสมเชิงผลกระทบสืบเนื่องมา

2. เลิกมาตรการห้ามเผาอย่างเหมารวม และไม่พิจารณาลักษณะกิจกรรมการใช้ไฟในห้วงเวลาที่ถูกประกาศ การใช้วิธีฝืนห้ามไม่ให้เกิดไฟทุกประเภท จะส่งผลโดยตรงกับการลดศักยภาพของระบบจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าผลัดใบ การทำแนวกันไฟ รวมไปถึงระบบการจัดการป่าและระบบไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) และกลายเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดไฟที่มิอาจควบคุมได้ตามระบบปกติ

การใช้มาตรการเชิงเดี่ยวกับทุกพื้นที่ในช่วงเวลาเดียวกันเป็นการละเลยและขาดความเข้าใจถึงความซับซ้อนในเชิงพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถจัดกาดไฟให้เกิดประสิทธิภาพแล้ว ยังเสียงต่อการสะสมของเชื้อเพลิงจนเกิดไฟป่าที่รุนแรงยากจะควบคุม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยพึ่งพิงป่าและมีแนวโน้มสร้างความขัดแย้งทางสังคม ตัวอย่างการประกาศใช้มาตรการจากประกาศห้ามเผาของจังหวัดเชียงใหม่ที่ขยายเพิ่มเกิน 100 วันในปีนี้ ซึ่งปรากฏชัดว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ซ้ำร้ายยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบบการจัดการไฟ

3. เลิกรวมศูนย์อำนาจรัฐและผูกขาดกลไกการบริหารจัดการ วิธีคิดที่มุ่งใช้เพียงกลไกจากอำนาจรัฐในการจัดการปัญหาที่มีความซับซ้อน ได้ประจักษ์ชัดว่าไม่สามารถจัดการวิฤตไฟในพื้นที่ป่าและปัญหาฝุ่นควันได้ ล้วนไม่มีการเชื่อมโยงการมใส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

4. เลิกอาศัยเพียงอำนาจสั่งการตามลำดับชั้นอำนาจ โดยไม่ยึดโยงกับปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ความล้มเหลวที่ผ่านมาคือการไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม ขาดแผนการหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อจัดการป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ปัจจัยความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับป่าจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ล้วนมีข้อจำกัดใหญ่ด้านจำนวนอัตรากำลังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูจัดการไฟในพื้นที่ป่าที่กำลังแรงงานจำนวนมากคือคนในชุมชนที่ไร้ค่าตอบแทนและสวัสดิการ

5. เลิกยึดขอบเขตแผนที่การปกครองมอบหมายความรับผิดชอบ โดยเฉพาะกรณีเข้าระงับดับไฟที่ยึดหลักตามแผนที่ขอบเขตการปกครองเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศของชุมชน เนื่องจากหลายพื้นที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

ดังกรณีชุมชนมีเนื้อที่ป่าจำนวนมากและเป็นพื้นที่รอยต่อกับเขตการประโยชน์ต่างชุมชน ตำบล อำเภอ แม้กระทั่งเขตรอยต่อระหว่างจังหวัด หากพิจารณาตัวอย่างในช่วงฤดูลาดตระเวนและเข้าดับไฟ จะพบว่าการใช้วิธีเดินเท้ามีความเสี่ยงต่อชีวิตไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปยังจุดพิกัดที่อยู่ไกล

6. เลิกวิธีคิดมุ่งการตรวจจับและปราบปรามแต่เพียงด้านเดียว ซึ่งมิได้แตกต่างกับกลไกของปกติของฝ่ายปกครอง แต่กลับละเลยได้มีปฏิบัติการสร้างพื้นที่การเรียนรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือสร้างความเข้าใจในการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน รวมถึงป้องกันปมขัดแย้งกับผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับฐานทรัพยากรและผู้คนทั่วไปในสังคม ฉะนั้นจึงไม่ใช่ทิศทางที่จะนำสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างที่ควรจะเป็น

7. เลิกตอกย้ำมายาคติด้านลบ ที่มีแนวโน้มผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ป่าที่ไม่วางอยู่บนฐานความรู้ ข้อเท็จจริงหรือหลักทางวิชาการหรือซ้ำร้ายยังมีแนวโน้มในการเติมเชื้อไฟความขัดแย้งอย่างไร้มโนสำนึกในฐานะเพื่อนร่วมสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่ควรกลายเป็นเชื้อความขัดแย้งในสังคม

กรณีข้อพิพาทและเบาะแสของความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรเกิดขึ้นมาโดยตลอดในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับหน่วยงานรัฐ ระหว่างชุมชนกับภาคธุรกิจเอกชน ระหว่างธุรกิจเอกชนกับหน่วยงานรัฐและภายในระหว่างหน่วยงานของภาครัฐด้วยกันเอง จึงไม่ควรเลี่ยงสร้าเงื่อนไขความขัดแย้งตอกย้ำสถานการณ์

ตอนที่ 1 ข้อเสนอดับไฟป่าภาคเหนือ ‘รื้อ’ การมองปัญหาแบบแยกส่วน 

ตอนที่ 3 ข้อเสนอดับไฟภาคเหนือ ‘สร้าง’ การจัดการเชิงระบบ

Related posts

ถ้าเจรจา ‘สนธิสัญญาพลาสติก’ สะดุด ขยะพลาสติกจะทะลักภายใน 10 ปี

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน