OPINION: ข้อเสนอดับไฟป่าภาคเหนือ‘รื้อ’ การมองปัญหาแบบแยกส่วน

โดย - มานพ คีรีภูวดล, ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
ตอนที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของการ “รื้อ”

1. รื้อความเข้าใจต่อประเด็น “ไฟป่า” ส่วนหนึ่งมาจากที่ตัวมันเองถูกมองเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศจนถูกเหมาเรียกแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับปัญหามลพิษทางอากาศช่วงฤดูแล้งของภาคเหนืออย่างปัญหา “ไฟป่าหมอกควัน” ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้คนอย่างสาหัส โดยเฉพาะภาคเหนือที่เต็มไปด้วยพื้นที่ป่าลักษณะต่างๆ กว่า 64% ของภูมิภาค ย่อมเป็นเงื่อนไขใหญ่ที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้

2. รื้อทัศนคติที่มุ่งมองคนด้วยอคติ ชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้ชิดกับผืนป่ามักตกเป็นเป้าโจมตีกรณีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งที่สาเหตุของการเกิดฝุ่นควันในภาคเหนือมาจากหลายแหล่งกำเนิด ทั้งการเผาในที่โล่ง มลพิษจากการใช้ยวดยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรรม ควันข้ามพรมแดนรัฐจากประเทศเพื่อนบ้านและยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านความผันผวนของสภาพอากาศแต่ละช่วงฤดูกาล

3. รื้อการมองปัญหาแบบแยกส่วน กรณีไฟในพื้นที่ป่าถูกแยกออกจากประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมอื่น วิธีคิดระดับนโยบายที่ผ่านกลไกหลักในการจัดการละเลยการพิจารณาข้อเท็จจริงว่าด้วยความแตกต่างทางระบบนิเวศ การพันผวนของสภาพอากาศโลก ลักษณะทางพหุสังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร ประวัติศาสตร์ชุมชนและพลวัตการจัดการทรัพยากรโดยรัฐ

4. รื้อการวิเคราะห์เงื่อนไขเชิงพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถมองอย่างเป็นเรื่องทั่วไป เสมือนว่ามีองค์ประกอบเหมือนกันทุกพื้นที่ได้ (generalization) แม้จะเป็นพื้นที่ป่าของหนึ่งชุมชนหนึ่งก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขแวดล้อมที่ซ้อนทับหลายมิติและควรถูกนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดและครอบคลุม อย่างน้อยในมิติขอบเขตที่ดินตามกฎหมายแต่ละฉบับ ลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในฐานทรัพยากร ปัญหาข้อพิพาท ประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีการอยู่อาศัยและเศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ

ระยะกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ชุมชนในเขตป่าภาคเหนือเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายที่ส่งผลกระทบเชิงลบ เกิดข้อพิพาทและส่งผลต่อการปรับตัว โดยเฉพาะภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า การประกาศเขตป่าอนุรักษ์เพิ่ม กลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) การปรับแก้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้และการเผชิญกับมาตรการจัดการไฟป่าของภาครัฐในช่วงฤดูแล้ง

5. รื้อความรู้เชิงนิเวศป่าไม้ พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในภาคเหนือเป็นป่าประเภทผลัดใบ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ที่อาศัยไฟในการวิวัฒนาการ นั่งคือระบบที่ต้องการไฟหรือมีไฟเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้อง (Fire dependent system) และสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนิเวศเชิงสังคมข้ามเผ่าพันธุ์ทั้งเหล่าเชื้อรา พืชพรรณน้อยใหญ่ สัตว์เล็กใต้ดินถึงสัตว์ปีกบนฟ้าและชุมชนที่อาศัยอยู่และนิเวศแบบป่าดิบเขาที่เป็นระบบที่อ่อนไหวกับไฟ (Fire sensitive system) ที่ต้องเน้นการป้องกันอย่างเข้มข้น ร่วมกัน แต่องค์ความรู้และประสบการณ์ในการใช้ไฟของชุมชนแต่ละนิเวศป่ากลับถูกทำให้สูญหายไปอย่างไม่เห็นคุณค่า

6. รื้อวิธีคิดการออกแบบมาตรการจัดการปัญหาไฟในพื้นที่ป่า ต้องมีทั้งความหลากหลายและมีทั้งความเฉพาะกรณี ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและไม่สามารถใช้มาตรการเชิงเดี่ยวแบบใดแบบหนึ่งที่ตีขลุมใช้กับทุกพื้นที่ได้

7. รื้อฟื้นองค์ความรู้การจัดการไฟของชุมชนท้องถิ่น โดยแต่ละแห่งล้วนมีประสบการณ์ เทคนิควิธีการที่สั่งสมมายาวนาน เหล่านี้คือต้นทุนที่มีคุณค่าเพื่อยกระดับสู่การออกแบบมาตรการในระดับพื้นที่และยกระดับสู่การพัฒนานโยบายการจัดการไฟและมลพิษของประเทศ

ตัวอย่างชุมชนรูปธรรมหลายแห่งพยายามแก้ไขปัญหาจนเห็นผลความสำเร็จในการบริหารจัดการไฟป่าบนฐานของความรู้ การสร้างความร่วมมือจากฐานชุมชน เปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งระบบ การพัฒนาข้อบัญญัติท้องถิ่นเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไฟป่าและสร้างระบบกองทุนไฟป่าของตัวเอง แต่ไม่เคยถูกสนับสนุนให้ยกระดับสู่การพัฒนาเชิงนโยบาย

8. รื้อปรับกลไกการจัดการรวมศูนย์ของราชการ ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความซ้ำซ้อนของหน่วยงานและความไม่ชัดเจนของบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ซ้ำยังกลายเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา

9. รื้อระบบการติดตามประเมินผล ที่เน้นเฉพาะการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมแสดงตำแหน่งจุดความร้อน (Hotspot) และพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) เป็นหลัก ในขณะที่ยังมีข้อจำกัดในเชิงเทคนิคที่สำคัญอีกหลายประการ อาทิ ช่วงเวลาโคจรของดาวเทียมและ ฉะนั้นการใช้เพียงเครื่องมือใดหนึ่งเป็นตัวชี้วัด ชี้ขาดจึงไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงระดับพื้นที่

หลายครั้งที่เกิดไฟไหม้ลุกลามที่คาดว่ามาจากกิจกรรมจากคนนอกชุมชน แต่ความรับผิดชอบทั้งหมด ชุมชนต้องเป็นฝ่ายแบกรับแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่น เมื่อเกิดสัญญาณ Hot Spot แจ้งเตือนขึ้น ชุมชนต้องพยายามเข้าไปดับหรือสกัดไฟ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่เป็นช่วงต่างคนต่างนอนหลับพักผ่อน การจะปลุกแจ้งให้ใครมาช่วยก็ยิ่งเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง แม้จะทราบดีว่าเป็นคำสั่งทางนโยบายที่กดดันกันมาตามลำดับสั่งการ แต่ในระดับชุมชนท้องถิ่นกลุ่มผู้นำกับคนในชุมชนก็ต่างลำบากใจหากเกิดกรณีดังกล่าว

10. รื้อการสร้างบรรยากาศกล่าวโทษและการผลักความรับผิดชอบร่วม ในฐานะสมาชิกสังคม ทั้งที่ในความเป็นจริง ปัจเจกบุคคลล้วนเป็นหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

ตอนที่ 2 ข้อเสนอดับไฟภาคเหนือ ‘เลิก’ เติมเชื้อไฟความขัดแย้ง

ตอนที่ 3 ข้อเสนอดับไฟภาคเหนือ ‘สร้าง’ การจัดการเชิงระบบ

Credit ภาพปก : Nikom Putta

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย