ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.จะเอายังไงกรมโรงงานไม่กล้าถอนใบอนุญาตโรงขยะอ่อนนุชเหม็น 2 ปีแล้ว

โรงงานกำจัดขยะขนาด 800 ตัน ของบริษัทกรุงเทพธนาคม ที่ กทม.เป็นผู้ถือหุ้นถูกจัดตั้งขึ้นได้ภายใต้คำสั่ง คสช. 4/2559 จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติกฎหมายผังเมือง และได้ส่งกลิ่นเหม็นมาตั้งแต่ปี 2563 ไม่มีใครเข้าไปแก้ไข ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่ยอมถอนใบอนุญาต อ้างแต่ว่ากำลังแก้ไข ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร

ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กทพ.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงงานขยะ 800 ตัน ณ ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 เพื่อแจ้งให้ทราบว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามประมวลหลักการปฏบัติ CoP โดยเฉพาะการส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง

ทาง กกพ.จึงเห็นว่าการกระทำของบริษัทฯ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะและอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างปกติสุขของประชาชน รวมทั้งสุขภาพอนามัยของประชาชนในระยะยาว จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ และให้ดำเนินการ ดังนี้

1) ให้ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง 2) ให้ปรับปรุงระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพ 3) ให้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งมีตัวแทนภาคปคะรชาชน หน่วยงานราชการ และโครงการ เพื่อตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย 4) ให้แสดงเอกสารหลักฐานผลการปรับปรุงสถานประกอบกิจการพลังงาน 5) ให้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการต่อสำนักงาน กกพ.ทุกเดือนจนกว่าจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนคำสั่ง กกพ.มีอำนาจบังคับให้บริษัทชำระค่าปรับวันละไม่เกิน 5 แสนบาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต อย่างไรก็ดีปรากฎว่าโรงงานกำจัดขยะของ กทม. แห่งนี้ยังคงดำเนินการตามปกติ ไม่ได้ปิดทำการชั่วคราว ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจาก กทพ. มีอำนาจสั่งพักใบอนุญาตได้เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้า

แต่โรงงานแห่งนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทั้งสิ้น 3 ใบ ซึ่งไม่ได้ถูกพักหรือระงับ จึงยังคงมีการดำเนินกิจการในส่วนอื่น ๆ ได้ เช่น รับขยะ ขนย้ายขยะได้

ทั้งนี้ การพักใบประกอบกิจการโรงงานทั้ง 3 ใบดังกล่าว เป็นอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

สำหรับโรงงานดังกล่าวได้ถูกร้องเรียนจากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงหลายครั้งถึงผลกระทบและความเดือดร้อน โดยปัญหาหลักที่มีการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2563 ก็คือ กลิ่นเหม็นรุนแรง จากการขนถ่ายขยะ และกระบวนการต่าง ๆ ของโรงงาน ซึ่งไม่มีระบบควบคุมกลิ่น หรือระบบแรงดันกำจัดกลิ่น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในชุมชนเนื่องจากได้รับกลิ่นเหม็นรุนแรงเกือบตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้นบางส่วนยังเริ่มมีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ บ้างมีอาการแสบตา บ้างก็เกิดผื่นคันตามร่างกาย จนบางครอบครัวต้องตัดสินใจย้ายผู้สูงอายุออกจากชุมชน

นอกจากปัญหาด้านกลิ่นแล้ว ประชาชนในชุมชนยังมีความวิตกเกี่ยวกับปัญหาน้ำเสียรอบบริเวณโรงงานว่าจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงรวมถึงน้ำใต้ดินหรือไม่

ปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะกลิ่นเหม็นได้ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ที่ผ่านมาประชาชนในชุมชนได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐหลายแห่ง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.565 ตัวแทนชุมชนจากหลายหมู่บ้านในเขตสะพานสูง-ประเวศ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) ขนาด 800 ตัน/วัน ของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน
พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ และนายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล เขตสะพานสูง-ประเวศ ได้เข้าร่วมการประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อนำเสนอปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากโรงงานของโครงการดังกล่าว

มีบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะผู้ประกอบกิจการ บริษัทเอทู เทคโนโลยี จำกัด ผู้รับเหมาออกแบบก่อสร้าง และติดตั้งระบบเทคโนโลยี MBT พร้อมตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ตัวแทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ปัญหาความเดือดร้อนหลักต่อประชาชนในชุมชนโดยรอบมาตั้งแต่ปี 2563 ก็คือ กลิ่นเหม็นรุนแรงจากการขนถ่ายขยะ และกระบวนการต่าง ๆ ของโรงงาน ซึ่งไม่มีระบบควบคุมกลิ่น หรือระบบแรงดันกำจัดกลิ่น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการใช้ชีวิตประจำวันเกือบตลอด 24 ชั่วโมง

นายณัฐพงศ์ ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า แม้ในพื้นที่ประเวศ-อ่อนนุชจะมีโรงงานขยะตั้งอยู่ก่อนแล้วหลายโรง แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากบริษัทกรุงเทพธนาคมเข้ามาตั้งโรงงานแห่งนี้ในพื้นที่ ปัญหากลิ่นเหม็นก็รุนแรงขึ้นอย่างมีชัดเจน และจากการสืบค้นข้อมูลก็พบว่า พื้นที่ดังกล่าวจัดเป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยภายใต้ผังเมือง กทม. 2556 ซึ่งยังบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

แต่เนื่องจากในปี 2559 ได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับโรงงานไฟฟ้าขยะ จึงควรตั้งคำถามว่าโรงงานดังกล่าวถูกตั้งขึ้นภายใต้คำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวจริงหรือไม่ อีกประเด็นคือ เป็นที่น่าสังเกตว่ากระบวนการพิจารณาว่าจ้างบริษัทเอทู เทคโนโลยีนั้นมีลักษณะรวบรัดไม่ชอบมาพากลหรือไม่ อีกทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทยังมีความเชื่อมโยงกับนายทหารใหญ่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบ

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคและวิจัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้นำเสนอผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศในพื้นที่ชุมชนข้างโรงงาน MBT เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 ต่อที่ประชุม ซึ่งตรวจพบค่ากลิ่นสูงสุดในบริเวณที่ติดกับรั้วโรงงาน คืออยู่ที่ 25,517 ppb และพบค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) สูงสุดในเวลาใกล้เคียงกัน ณ สถานที่เดียวกันที่ 31 ppb

นอกจากนั้นยังพบว่าน้ำในลำรางหน้าโรงงานและบ่อรับน้ำชะขยะจากศูนย์จัดการขยะฯ มีค่าของแข็งละลายน้ำ (TDS) ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะน้ำในลำรางมีค่า TDS ถึง 3,640 mg/L ซึ่งเกินค่ามาตรฐานน้ำทิ้งของโรงงานตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตัวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ชี้แจงว่า โรงงาน MBT จัดตั้งขึ้นได้ภายใต้คำสั่ง คสช. 4/2559 จริง และโรงงานแห่งนี้ออกแบบให้ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกนอกโรงงาน โดยน้ำเสียทั้งหมดจะถูกบำบัดก่อนนำมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตามอาจมีการรั่วไหลในระบบจนเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทางโรงงานกำลังแก้ไข

ส่วน “ระบบปิด” ของโรงงานนั้นขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งทาง กรอ. ได้มีการตรวจสอบและสั่งให้ทางโรงงานปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ แล้ว

ก่อนปิดการประชุม ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ได้กล่าวให้คำมั่นว่า กทม. จะทำหนังสือชี้แจงประเด็นที่ถูกหยิบยกและคำถามทั้งหมดในที่ประชุม ไปหารือก่อนนำคำตอบและแผนการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่งให้แก่ทางคณะผู้ร้องเรียนภายใน 15 วัน

ที่มา: https://www.facebook.com/EarthEcoAlert/posts/4929616683754823
ภาพ: ใช้สำหรับประกอบบทความเท่านั้น

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด