ผลพวงจากวิกฤตภัยแล้ง เผยโฉมเมืองอายุ 3,400 ปี โผล่กลางทะเลสาบอิรัก

อิรักเป็นหนึ่งในประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงเป็นเวลาหลายเดือน จึงมีการดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำโมซุลซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญที่สุดของอิรักมาใช้แก้ปัญหาพืชผลที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีก่อน แต่เจอปรากฎการณ์ที่น่าตะลึงเมืองเจอเมืองโบราณโผล่กลางทะเลสาบ

การดึงน้ำจากเขื่อนไปใช้ในปริมาณมากกลายเป็นว่าเกิดการปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งของเมืองในยุคสำริดที่จมอยู่ใต้น้ำเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเคมูเน ในเขตเคิร์ดิสถาน ของอิรัก เมืองแห่งนี้ไม่เคยผ่านการตรวจสอบและขุดค้นทางโบราณคดีมาก่อน เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนี้ทำให้นักโบราณคดีถูกกดดันอย่างกะทันหันเพื่อที่จะมีการขุดค้นก่อนที่มันจะจมลงไปอีก 

จากการแท็คทีมของนักโบราณคดีชาวเยอรมันและชาวเคิร์ด พวกเขาพบว่า มันคือเมืองใหญ่และมีความสำคัญยุคจักรวรรดิมิตตานี (Mittani Empire) ที่มีอายุ 3,400 ปี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่บนแม่น้ำไทกริส 

มันคือเมืองที่กว้างขวางมีพระราชวังและอาคารขนาดใหญ่หลายแห่งอาจเป็นเมืองซาคิกู (Zakhiku) โบราณ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในจักรวรรดิมิตตานิ (ประมาณ 1550-1350 ปีก่อนคริสตกาล)

ทีมวิจัยตกตะลึงกับสภาพของกำแพงที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งบางครั้งอาจสูงถึงหลายเมตร แม้ว่าผนังจะเป็นอิฐโคลนตากแห้งและอยู่ใต้น้ำนานกว่า 40 ปีก็ตาม 

สภาพเมืองที่ยังดีอยู่เกิดจากการที่เมืองถูกทำลายจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อราว 1,350 ปีก่อนคริสตกาล ในระหว่างนั้นส่วนบนของกำแพงที่พังทลายลงฝังอาคารต่าง ๆ ทำให้ส่วนที่ยังดีอยู่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ค่อนข้างดี

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการค้นพบภาชนะเซรามิก 5 ใบที่บรรจุแผ่นอัขระคิวนิฟอร์ม (อักษรรูปลิ่ม) มากกว่า 100 แผ่น มีอายุถึงสมัยอัสซีเรียตอนกลาง  

นักวิจัยหวังว่า การค้นพบนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการสิ้นสุดของเมืองในสมัยมิตตานีและการเริ่มต้นการปกครองของอัสซีเรียในภูมิภาค ซึ่งต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมแรก ๆ ของมนุษยชาติ

ศ. ปีเตอร์ ฟัลเนอร์ (Peter Pfälzner) หนึ่งในทีมงานจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงน จากเยอรมนี กล่าวว่า “มันเกือบจะเรียกว่าปาฏิหาริย์ได้เลยที่แผ่นอักษรลิ่มที่ทำจากดินเหนียวที่ไม่ผ่านการเผายังสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานหลายสิบปี

แม้ว่าในอนาคตน้ำในทะเลสาบอาจสูงขึ้นอีก แต่ทีมงานได้ทำการปกป้องแหล่งโบราณคดีส่วนหนึ่งเอาไว้แล้ว สิ่งที่น่ากังวลกว่า คือผลกระทบของอิรักจากภาวะโลกร้อยที่รุนแรงขึ้น

เพราะความมั่นคงทางน้ำของอิรักยังอิงตามกระแสแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส์ที่ในสมัยก่อนอุดมสมบูรณ์และเป็น “อู่อารยธรรมโลก” แต่ปัจจุบันนี้ระดับน้ำลดลงเพราะความแห้งแล้งและการสร้างเขื่อนอย่างหนัก

ข้อมูลจาก USAID ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง และการขาดแคลนน้ำที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อรัฐอิรักในอีกหลายปีข้างหน้า

ข้อมูลจาก

  • “A 3400-year-old city emerges from the Tigris River”. (30.05.2022). Press Releases from Universities of  Tübingen,

ภาพ : Universities of Freiburg and Tübingen, KAO

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน