รมต.ท็อปฟาดแรง SPRC ต้องทำตามกม. ดร.ธรณ์แนะเร่งออกประกาศเขตทางทะเล ตั้งกองทุนใช้งบฉุกเฉินแก้ปัญหาหน้างาน

นักวิชาการกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ยกตัวเลขประเมินความเสียหายที่เคยศึกษาหาดแม่รำ 1,700 ล้าน บวกเงินเฟ้อปัจจุบันเอกชนต้องจ่ายมากกว่านี้ อาจารย์ธรณ์แนะเร่งออกประกาศเขตทางทะเลเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าฯ ใช้แก้ปัญหา เสนอตั้งกองทุนฉุกเฉินใช้จ่ายหน้างาน

แนะประกาศเขตทางทะเล-ตั้งกองทุน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างเสวนาวิชาการ หัวข้อ “พลิกฟื้นทะเลไทยจากมหันตภัยน้ำมันรั่วไหล” ตอนหนึ่งว่า เหตุน้ำมันรั่ว 2 ครั้งที่ระยองในรอบ 9 ปี เริ่มทำให้ความเชื่อมั่นลดลง และยังรั่วซ้ำครั้งที่ 3 อีกเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ทำให้คนทำงานได้รับผลกระทบเท่ากันคือไม่มีเงินในการทำงานไม่ทราบเบิกได้เมื่อไหร่ เช่น งานของ ม.เกษตรฯ ใช้เงินส่วนตัวทั้งนั้น ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเงินส่วนกลางก็ร่อยหรอจึงไม่ต้องพูดถึงการเบิกในอีก 2 ปี แต่ควรมีกองทุนหรือมีประกันที่สามารถนำเงินฉุกเฉินออกมาใช้จ่ายได้ในช่วงเกิดผลกระทบ มิฉะนั้นจะติดขัดในการเก็บข้อมูลเก็บตัวอย่าง

ท่อส่งน้ำมันของบริษัท SPRC รั่วซ้ำจุดเดิม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ภาพ: กรมเจ้าท่า

ขณะที่เงินกรมกองก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว การระดมคนมารวมกันแก้ปัญหาก็ไม่มีคน ไม่มีน้ำมัน ไมมีเรือ โดยที่ไม่รู้ว่าจะกลับไปเบิกได้เมื่อไหร่ เงินประกันหรือเงินฉุกเฉินไม่ต้องมากมายแต่สำคัญมากให้การทำงานหน้างานให้ว่องไวขึ้น และอีกเรื่องจะต้องมีการออกประกาศเขตทางทะเลในพื้นที่ระยอง

 

 

“ครั้งนี้ผู้ว่าฯ มีอำนาจประกาศได้เฉพาะแค่หาดแม่รำพึง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีก็พยายามกันอยู่แต่ติดขัดมา 2-3 ปีแล้ว ถ้าประกาศเขตฉุกเฉินทางทะเลไม่ได้ ซึ่งเกี่ยวกับ พ.ร.บ.รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล แต่ตอนนี้ประกาศได้เฉพาะหาด มันก็จะมีผลกระทบเรื่องอื่นเพราะไม่กฎหมายที่จะมีอำนาจใช้เต็มเมื่เกิดเหตุทางทะเล ตราบใดที่เราไม่มีการประกาศเขตจังหวัดทางทะเล เรามีที่อ่าวไทยตัว ก. ข้างนอกไม่มี” อาจารย์ธรณ์ระบุ

ทช.เคยประเมินความเสียหายทรัพยากรทางทะเลไว้ 1,700 ล้าน

นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า การเกิดเหตุซ้ำ เรียกว่าอัพเซ็ตมากเมื่อวานรั่วอีกแล้ว จริง ๆ บริษัทน่าจะรู้ระบบท่อของตัวเองอย่างดีว่าเมื่อเกิดเหตุจะมีน้ำมันตกค้างในท่อเมื่อไปกู้ขึ้นมาก็ต้องเตรียมการเพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้

“สุดท้ายก็ยังเกิดขึ้นอีกไม่ใช่น้อย ๆ ตั้ง 5,000 ลิตร เขาเรียกว่าของเก่าไม่ทันจะเคลียร์ของใหม่ก็มาอีกแล้วบางครั้งเราก็รู้สึกเซ็งเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม ทาง ทช.อยากให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์โดยข้อมูลเมื่อปี 2553 ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ นักวิชาการจากสถาบันฯ ศึกษาเรื่องประเมินมูลค่าความเสียหายชายหาดแม่รำพึงที่ได้รับผลกระทบ อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท ซึ่งต้องบวกเงินเฟ้อในปัจจุบันด้วย

นักวิชาการ มธ.แนะทบทวนอีไอเอเอกชน

ผศ.ดร.มารุต สุขสมจิตร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ขอฝากให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แก้ที่เหตุว่าจะแก้อย่างไร โดยเฉพาะการจัดทำรายงานวิเคราะผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งในรายการทุ่นรับน้ำมันไม่ได้อยู่ในอีไอเอ ทั้งที่ควรพิจารณาผลกระทบตั้งแต่แรกเพื่อไม่ต้องมาแก้ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่

“เสียทั้งคนเสียทั้งแรง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ไม่นับรวมเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมว่าเราย้อนไปดูว่าเป็นไปได้ไหม ที่เขาไม่เอาไปผนวกเพราะอะไร ถ้าผนวกไม่ได้เพราะมันทำให้ล่าช้า เยิ่นเย้อ มีเครื่องมือตัวอื่นไหมที่จะทำให้โครงการประเภทนี้ทำยังไงที่จะปรับปรุงแก้ไขและตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฝากทาง คพ.ด้วยไม่อย่างนั้นจะแก้กันไม่จบไม่สิ้น” อาจารย์มารุตระบุ

เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าลงสำรวจบริเวณจุดน้ำมันรั่ว เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565

 

‘วราวุุธ’ ฟาดแรง SPRC
ถ้าจะอยู่ต่อต้องฟังคำสั่งหรือ กม.

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ว่า ขณะนี้ทางบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง หรือ SPRC ไม่สามารถชี้แจงสาเหตุน้ำมันรั่วซ้ำที่ทะเลระยองได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยยังมีข้อกังขาหลายประเด็นและคลุมเครือในกรณีกรมเจ้าท่าได้สั่งการให้หยุดดำเนินการใด ๆ ในจุดน้ำมันรั่วเมื่อวันที่ 25 ม.ค. แล้ว แต่ยังมีการซ่อมแซมหรือไปสำรวจจนเกิดเหตุน้ำมันรั่วขึ้นอีก

“บริษัทอยู่มา 30 ปีแล้วถ้าเกิดจะอยู่ต่อต้องนำคำแนะนำทั้งคำสั่งและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การที่อยู่มา 30 ปีแล้วเกิดเหตุเช่นนี้ภายใน 2-3 อาทิตย์ติด ๆ กันแสดงถึงความไม่เอาใจใส่ และอาจคิดไปเองได้ว่าบริษัทเลินเล่อหรือเปล่า หรือบริษัทเอาใจใส่หรือไม่

“กรมเจ้าท่าสั่งให้หยุดแล้วแต่ทำไมไม่หยุด แสดงว่าบริษัทไม่ฟังคำสั่งกรมเจ้าท่าหรือเปล่า ผมตอบแทนไม่ได้ บริษัทแอบกระทำการเองหรือเปล่าก็ตอบแทนบริษัทไม่ได้ และจนขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะตรวจสอบให้ได้แน่ชัดว่า น้ำมันที่รั่วมีปริมาณเท่าไหร่หรือจำนวน 5,000 ลิตรตามที่บริษัท SPRC ให้ข้อมูลหรือไม่” นายวราวุธกล่าว

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับการเรียกร้องค่าเสียหายทางบริษัทยืนยันว่าจะชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะต้องใช้เวลาสำรวจผลกระทบ ยังไม่สามารถสรุปภายใน 3 วัน 5 วัน แต่อาจจะใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะทราบผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลว่าเป็นอย่างไรบ้างในระยะยาว

ตัวแทนบริษัท SPRC เข้าร่วมประชุมและร่วมฟังการแถลงข่าว

ทั้งนี้ก่อนการแถลงนายวราวุธได้ประชุมร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนจากบริษัท SPRC เข้าร่วมด้วย

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เหตุน้ำมันรั่วเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ทางบริษัทขอใช้สารสารกำจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) จำนวน 85,400 ลิตร พบว่าใช้ไปแล้ว 83,150 ลิตร จึงเหลือ 2,250 ลิตร และครั้งนี้บริษัทได้ขอใช้สารอีก 5,000 ลิตร แต่ คพ.ยังไม่อนุญาตให้ใช้ เนื่องจากต้องดูความจำเป็นในการใช้เพราะสารเคมีตัวนี้จะกระทบต่อปะการังและทรัพยากรธรรมชาติในทะเลรวมทั้งต้องทราบตัวเลขน้ำมันรั่วที่ชัดเจนก่อน จึงจะอนุมัติให้ใช้ได้

ด้านกองทัพเรือ ระบุว่า คราบน้ำมันที่รั่วไหลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก เป็นฟิล์มน้ำมันบาง ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 3 ขณะที่กลุ่มที่ 2 เป็นฟิล์มน้ำมันที่มีสีฟ้าเจือปน ซึ่งทางกองทัพเรือได้ฉีดพ่นสารกำจัดคราบน้ำมันแล้ว และจำกัดวงไม่ให้เข้าสู่ชายฝั่ง

 

 

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด