รัฐบาลสมรู้ร่วมคิดนายทุนสังหารนักสิ่งแวดล้อม 264 คนในภูมิภาคละตินอเมริกา

รายงานระบุว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวน 264 คนถูกสังหารทั่วทั้งภูมิภาคละตินอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว โดยมากกว่า 40% ของการฆาตกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงกับข้อพิพาทเรื่องที่ดิน สิทธิของชนพื้นเมือง และสิ่งแวดล้อม

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชายแปลกหน้าสามคนเข้ามาในชุมชนและข่มขู่ให้ เอ็ดวิน เฟอร์นันเดซ มอบกุญแจไขล็อคประตูรักษาความปลอดภัยของชุมชนริโอตินโต ซึ่งคณะกรรมการชุมชนได้ปิดไว้เพื่อปกป้องชนพื้นเมืองการิฟูนาของฮอนดูรัสจากการระบาดของโควิด-19

เอ็ดวิน เฟอร์นันเดซ ซึ่งเป็นสมาชิกของ OFRANEH กลุ่มสิทธิคนผิวดำ และคณะกรรมการชุมชนริโอ ตินโต ปฏิเสธคำขู่ ทำให้เขาถูกยิงจังๆ ภายในบ้านต่อหน้าครอบครัว อีกสองเดือนต่อมา ผู้นำการีฟูนาผิวดำ 5 คน ถูกกลุ่มคนติดอาวุธที่สวมชุดตำรวจพาอุ้มหายไป และคนในชุมชนไม่รู้ว่าพวกเขาหายตัวไปอยู่ที่ไหน

ในปี 2563 ประชาชนและนักเคลื่อนไหวที่ปกป้องแผ่นดินและธรรมชาติในละตินอเมริกาต้องเผชิญกับการถูกคุกคามอย่างหนักจากจากหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจ ตามข้อมูลของรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อ Front Line Defenders Global Analysis 2020

รายงานระบุว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวน 264 คนถูกสังหารทั่วทั้งภูมิภาคละตินอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว โดยมากกว่า 40% ของการฆาตกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงกับข้อพิพาทเรื่องที่ดิน สิทธิของชนพื้นเมือง และสิ่งแวดล้อม

 

รายงานยังชี้ว่าการเสียชีวิตของผู้ปกป้องสิทธิ์ของมุนษย์และธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมกันในหมู่ประชนคนรวยและจนที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

รายงานพบว่าประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ โคลอมเบียมากถึง 177 คน ตามด้วยฮอนดูรัส 20 คน เม็กซิโก 19 คน บราซิล 16 คน กัวเตมาลา 15 คน

นักปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการสังหารทั่วทั้งภูมิภาค ผู้ลงมือคุกคามยังรวมถึงตำรวจและกองกำลังทหารโดยอ้างประกาศภาวะฉุกเฉินหรือการกุมอำนาจรัฐชั่วคราวปิดล้อม

ในชิลี ผู้พิทักษ์สิทธิ์มนุษย์และธรรมชาติของชนเผ่ามาปูเชถูกกระทำการรุกรานและการกักขังตามอำเภอใจต่างๆ ผู้นำมาปูเช 25 คนถูกคุมขังเพราะแค่ทำกิจกรรมอย่างสันติ แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้ปล่อยตัวท่ามกลางการระบาดของไวรัส

ในฮอนดูรัส การโจมตีนักปกป้องสิทธิชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองและสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ลงมือโดยกองกำลังของรัฐและเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว จะเห็นจากกรณีของอ็ดวิน เฟอร์นันเดซและกรณีอื่นๆ ที่ไปขัดผลประโยชน์ของรัฐและธุรกิจใหญ่ๆ

ผู้มีอำนาจรัฐยังช่วยให้ผู้ลงมือไม่ต้องรับโทษจากการอุ้มนักเคลื่อนไหว เช่น เมื่อเดือนกันยายน ผู้พิพากษาในเมืองเตฮัวกัน ประเทศเม็กซิโกได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาสามคนที่ก่อเหตุอุ้มเซอร์จิโอ ริเวรา เฮอร์นานเดซในปี 2561 แม้ว่าจะมีพยานหลายคนระบุตัวตนพวกเขาในที่เกิดเหตุแบบชัดๆ

เซอร์จิโอเป็นผู้เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้งต่อชุมชนพื้นเมืองในท้องถิ่นและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้างระบบไฟฟ้าพลังน้ำ Coyolapa-Atzatlán แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเขาหายตัวไปไหน

รายงานระบุว่า รัฐบาลและผู้ประกอบธุรกิจที่สมรู้ร่วมคิดใช้มาตรการโควิด-19 ฉวยโอกาสในการผลักดันให้มีการยึดที่ดินและการขับไล่คนพื้นเมือง และกระแสต่อต้านอ่อนแอลงจากมาตรการข้อจำกัดและการระบาดของไวรัส

เช่น รัฐบาลบราซิลที่ฉวยโอกาสยกเลิกการปกป้องสิ่งแวดล้อมทำให้ชุมชนหลายพันแห่งตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะเดียวกันรัฐบาลบราซิลล้มเหวในการปกป้องประชาชนจากการระบาดของโควิด-19

รัฐบาลอื่นๆ รวมทั้งในเปรู ฮอนดูรัส เม็กซิโก และปานามา อนุญาตให้ดำเนินโครงการพัฒนาที่รุกรานสิ่งแวดล้อม การตัดไม้ทำลายป่า และการทำเหมืองต่อไป แม้จะปิดตัวทางเศรษฐกิจเพราะโควิด-19 ก็ตาม และใช้โอกาสนี้คุกคามคนพื้นที่

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 สมาชิกของกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ 300 คน มาถึงค่ายซาปาติสตาในเมืองอาปัทลาโก ประเทศเม็กซิโก เพื่อขับไล่ค่ายของประชาชนพื้นเมืองที่ดูแลอาณาเขต

จากนั้นกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติอนุญาตให้นายทุนนำเครื่องจักรเข้ามาเพื่อเริ่มงานก่อสร้างแนวท่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Morelos Integral Project (PIM) ที่ละเมิดสิทธิในแหล่งน้ำ การกำหนดอำนาจปกครองตนเอง ที่ดินและอาณาเขตและชีวิตในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะที่ดินชุมชนเอฮิโด (Ejido) ที่คนท้องถิ่นใช้ร่วมกัน

ท่ามกลางการคุกคามเหล่านี้ ยังมีชัยชนะบนความสูญเสียของผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม คลอเดลิเซ ซอนโตส เป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐปารา ประเทศบราซิล เธอถูกขู่ฆ่าหลายครั้งอันเป็นผลมาจาก
การที่เธอประณามการยึดที่ดิน การตัดไม้ และอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมอื่น

ในปี 2554 โชเซ เคลาดิโอ พี่ชายของเธอซึ่งผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมและภรรยาของเขา มาเรียถูกฆาตกรรม หลังจากตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากงานของพวกเขาในการปกป้องป่าฝน ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยถูกขู่ฆ่าจากคนตัดไม้และเจ้าของปศุสัตว์ หลังจากการสังหารของพวกเขา

คลอเดลิเซจึงเริ่มต่อสู้เป็นเวลาสิบปีเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับพี่ชายและพี่สะใภ้ของเธอ แม้ว่าการสังหารนักต่อสู้เหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติและไม่ค่อยมีความคืบหน้าเรื่องคดีก็ตาม

จากความพยายามของเธอ ชายสองคนถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม หนึ่งในนั้นคือเกษตรกรรายใหญ่ ถูกตัดสินจำคุก 60 ปี ในปี 2559 แต่ตำรวจในรัฐปาราไม่ได้พยายามดำเนินการตามหมายจับ ชายคนที่สองซึ่งเป็นเกษตรกรรายใหญ่ถูกตัดสินจำคุก 42 ปี ในปี 2556 แต่หลบหนีไปได้ในปี 2558 ตอนที่เขาถูกย้ายระหว่างเรือนจำและซ่อนตัวอยู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตลอดเวลานอกเหนือจากงานของเธอในการปกป้องสิ่งแวดล้อม คลอเดลิเซพยายามกดดันด้วยตัวเองให้ตำรวจดำเนินการและขอข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้กระทำความผิด เพราะไม่มีการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐในคดีนี้

ในเดือนสิงหาคม 2563 คลอเดลิเซได้รับเบาะแสเกี่ยวกับการกบดานผู้กระทำความผิดที่หลบหนีออกจากเรือนจำในปี 2558 ซึ่งเธอได้ส่งเบาะแสต่อไปยังตำรวจ ข้อมูลนี้นำไปสู่การจับกุมตัวฆาตกรที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดอีกครั้ง

คลอเดลิเซยังคงพยายามนำตัวผู้ต้องหาคือชายคนที่สองให้มารับโทษตามความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้คือเธอถูกคุกคามเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และเธอถูกบีบให้ต้องออกจากภูมิภาคนี้เพื่อความปลอดภัยของเธอเอง

หลังการจับกุมคนที่ฆ่าพี่ชายและพี่สะใภ้ คลอเดลิเซบอกว่า “พวกเขาโค่นต้นไม้หนึ่งต้น สองต้น แต่ต้นไม้อื่นๆ อีกพันห้าพันต้นจะปรากฏขึ้น เท่านี้เราก็จะสามารถทำให้โลกเป็นที่มีความหวังได้โดยที่คนมองเห็นอนาคตด้วยสายตาที่หวังดีและไม่กลัวที่จะต้องตายเพราะความโลภของคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดว่าสิ่งแวดล้อมคือชีวิต และผู้ที่ปกป้องมันก็สมควรที่จะมีชีวิตอยู่”

ข้อมูลจาก
Front Line Defenders Global Analysis 2020
https://www.frontlinedefenders.org/sites/default/files/fld_global_analysis_2020.pdf
ภาพ
http://www.agenciabrasil.gov.br/media/imagens/2009/01/31/1530FP8886.jpg/view

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย