อุณหภูมิมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น เทียบเท่าระเบิดปรมาณู 5 ลูกต่อวินาที

View of the Mediterranean sea coast, view from the surface of the water

มนุษย์อาจไม่รู้เนื้อรู้ตัวเท่ากับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรว่า “อุณหภูมิ” ในมหาสมุทรที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้นร้อนมากแค่ไหน และมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกมันอย่างไรบ้าง

เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น “มหาสมุทร” ทำหน้าที่เป็นตัวจักรสำคัญที่คอยกำกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งการดูดซับความร้อน, ผลิตออกซิเจนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

นั่นหมายถึง “น้ำที่อุ่นขึ้น” จะทำให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง หรือเท่ากับจะมีก๊าซคาร์บอนล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มมากขึ้น

แน่นอนว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเป็นตัวเร่งทำให้ธารน้ำแข็งละลายลงสู่มหาสมุทรเร็วขึ้น และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นตามนั่นเอง

รายงานที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Advances in Atmospheric Sciences ชี้ว่าในปี 2019 มหาสมุทรร้อนขึ้นในอัตราที่น่าตกใจยิ่งกว่าเดิม โดยพลังงานความร้อนที่เพิ่มขึ้นเทียบได้กับระเบิดปรมาณูแบบที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น ซึ่งถูกทำให้ระเบิดขึ้นเป็นจำนวน 5 ลูกต่อวินาทีอยู่ตลอดเวลา

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติซึ่งจัดทำรายฉบับนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 จนถึงปี 2019 โดยพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรโลกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.075 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับของช่วงปี 1981-2010 ซึ่งตัวเลขที่ว่าอาจจะดูเล็กน้อย แต่ต้องเข้าใจว่า มหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่ และมีปริมาณน้ำอยู่มหาศาล การทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็จะต้องใช้พลังงานความร้อนสูงมาก

ทีมผู้วิจัยคณะนี้ได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพพลังงานความร้อนที่ปลดปล่อยจากระเบิดปรมาณู ซึ่งสหรัฐฯ ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 ว่า “ระเบิดปรมาณู 1 ลูก ปลดปล่อยพลังงานราว 63 ล้านล้านจูล…พลังงานความร้อนที่เราใส่เพิ่มเข้าไปในมหาสมุทรตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมา 3,600 ล้านลูก หรือเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 4 ลูก ในทุก 1 วินาที

“…แต่ในปี 2019 อัตราการเพิ่มขึ้นของพลังงานความร้อนนี้กลับสูงขึ้นอีก เทียบเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 5 ลูก ในทุก 1 วินาทีอยู่ตลอดเวลา”

นี่คือพลังงานความร้อนระดับมหาศาลที่กำลังทำร้ายมหาสมุทรอยู่ทุกวี่วันนั่นเอง

“ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้ลองเปรียบเทียบกับการที่คนบนโลกนี้ทุกคนใช้ไดร์เป่าผมคนละ 100 ตัว เป่าลมร้อนจ่อไปยังมหาสมุทรพร้อมกันก็ได้” ศ.จอห์น อับราแฮม จากมหาวิทยาลัยเซนต์โทมัสในรัฐมินนิโซตาของสหรัฐฯ หนึ่งในทีมคณะผู้วิจัยชุดนี้กล่าวเสริมให้เห็นภาพชัดขึ้น

ฉะนั้น สาเหตุไม่มีอะไรซับซ้อนที่จะต้องอธิบายอีกต่อไปแล้ว นอกจากเกิดจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่ง “มหาสมุทร” ที่ทำหน้าที่ดูดซับความร้อนเอาไว้ กำลังถูกทำร้ายอย่างทารุณและต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ

บีบีซีรายงานว่า ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นทำลายสถิติเดิม เมื่อปี 2016 โดยอุณหภูมิสูงถึง 20.96 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อนๆ มาก ตามข้อมูลของโคเปอร์นิคัส (Copernicus) ที่ให้บริการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุโรป

มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น รวมถึงภาวะคลื่นความร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง จะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลทั้งหมด พวกมันต้องอพยพไปหาพื้นที่ที่น้ำเย็นกว่า ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อจำนวนประชากรของปลาด้วย นอกจากนั้น สัตว์นักล่าอย่าง ฉลาม อาจก้าวร้าวขึ้นจากความสับสนเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่น้ำอุ่น

เมื่อต้นปี 2023 บีบีซี รายงานอ้างข้อมูลเว็บไซต์ข้อมูลสภาพอากาศ ClimateReanalyzer.org ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับทำลายสถิติที่ 21.10 องศาเซลเซียส ล้มแชมป์เก่าซึ่งเป็นข้อมูลจากเดือน มี.ค. 2016 ซึ่งวัดระดับอุณหภูมิผิวน้ำสูงสุดได้โดยเฉลี่ยที่ 21.00 องศาเซลเซียส

ไมเคิล แม็กแฟเดน นักสมุทรศาสตร์จากองค์การบริหารกิจการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศหรือโนอา (NOAA) ของสหรัฐฯ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ผิวน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นเรื่อยๆ นั้น มีอยู่สองประการด้วยกัน หนึ่งคือ ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ขึ้นไปสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศ

ประการต่อมาคือ การสิ้นสุดของปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. 2023 ทำให้ไม่มีสภาพอากาศหนาวเย็นและฝนตกชุกในแถบแปซิฟิกมาคอยทำหน้าที่ลดระดับอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำทะเลลง

โลกของเรามีพื้นที่ที่เป็นมหาสมุทรอยู่ประมาณ 71% ของพื้นที่ทั้งหมด มหาสมุทรจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยการผลิตออกซิเจน และมีหน้าที่หลักในการดูดซับอุณหภูมิความร้อนของโลก

แน่นอนที่สุดว่า นี่คือภาวะความแปรปรวนที่มนุษย์กำลังเผชิญจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศโลก โดยเฉพาะระบบนิเวศใต้ท้องมหาสมุทร ซึ่งภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ยังไม่ลดละการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเท่าที่ควร

นี่คือมหันตภัยที่กำลังถูกส่งต่อไปยังอนาคตของคนรุ่นหลัง

  • อ้างอิง
  • https://www.bbc.com/thai/articles/cd1xj4pp99wo
  • https://www.bbc.com/thai/articles/c6plym805d2o
  • https://www.bbc.com/news/science-environment-66387537
  • https://actionforclimate.deqp.go.th/news/1740/

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่