ปลาทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์จากภาวะโลกร้อน

ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดหากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียสจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้พันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ทั่วโลกถึง 60% ไม่ว่าจะเป็นระยะฟักตัวหรือโตเต็มที่จะไม่สามารถรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มันอยู่อาศัยได้ภายในปี 2643 (ค.ศ. 2100)

งานวิจัยเรื่อง “Thermal bottlenecks in the life cycle define climate vulnerability of fish” (ภาวะความร้อนที่บีบคั้นในวัฏจักรชีวิตทำให้ปลาต้องอยู่ในอิทธิพลความเปราะบางของสภาพภูมิอากาศ) ได้ศึกษาเกี่ยวกับความทนทานต่อความร้อนของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดและปลาทะเล 694 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่าแม้มนุษยชาติจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสที่จะพยายามไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิของโลกก็ยังร้อนเกินไปอยู่ดีสำหรับปลา 10% ในโลก

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าคงมีเพียง 5% ของสายพันธุ์ปลาที่ต้องตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากภาวะโลกร้อนหากอุณหภูมิสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส แต่นั่นเป็นการประเมินเฉพาะปลาโตเต็มที่แล้ว ไม่ได้รวมเอาปลาในระยะฟักตัวและตัวอ่อน

สาเหตุหลักที่ปลารุ่นเยาว์และตัวอ่อนไม่สามารถทนต่อภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรได้ เนื่องจากปลาในช่วงวัยนี้ต้องการออกซิเจนมาก ออกซิเจนนั้นละลายได้ในน้ำที่เย็นและจะละลายได้น้อยกว่าในสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น และน้ำที่เย็นกว่ายังมีประโยชน์ต่อตัวอ่อนในทางอื่น ๆ อีกด้วย

Hans-Otto Pörtner นักกาลวิทยาจากสถาบัน Alfred Wegener Institute ในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย กล่าวว่า การจำกัดให้อุณภูมิสูงขึ้นแค่ 1.5 องศาเซลเซียสก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าพอใจนักเพราะจะมีความเปลี่ยนแปลงต่อโลกติดตามมา แต่เราสามารถจำกัดความเปลี่ยนแปลงให้น้อยลงได้ด้วยการหยุดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อปลา เพราะปลามีความสำคัญต่อโภชนาการของมนุษย์ ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นกรณีที่สำคัญสำหรับการปกป้องระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเรา

แต่ Pörtner กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คาดว่าทะเลจะอุ่นเร็วเกินกว่าที่ปลาจะปรับตัวให้เกิดวิวัฒนาการได้ทัน และถึงแม้ว่าปลาจะสามารถอพยพย้ายถิ่นไปยังภูมิภาคที่เย็นกว่า แต่คงไม่สามารถหาแหล่งวางไข่ใหม่ที่เหมาะสมได้ง่าย ๆ ดังนั้นเราจึงควรพยายามจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ที่มา: Vaughan, Adam. “Climate change will make world too hot for 60 per cent of fish species”. New Scientist. (July 2, 2020).

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน