ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดหากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียสจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้พันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ทั่วโลกถึง 60% ไม่ว่าจะเป็นระยะฟักตัวหรือโตเต็มที่จะไม่สามารถรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มันอยู่อาศัยได้ภายในปี 2643 (ค.ศ. 2100)
งานวิจัยเรื่อง “Thermal bottlenecks in the life cycle define climate vulnerability of fish” (ภาวะความร้อนที่บีบคั้นในวัฏจักรชีวิตทำให้ปลาต้องอยู่ในอิทธิพลความเปราะบางของสภาพภูมิอากาศ) ได้ศึกษาเกี่ยวกับความทนทานต่อความร้อนของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดและปลาทะเล 694 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่าแม้มนุษยชาติจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสที่จะพยายามไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิของโลกก็ยังร้อนเกินไปอยู่ดีสำหรับปลา 10% ในโลก
ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าคงมีเพียง 5% ของสายพันธุ์ปลาที่ต้องตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากภาวะโลกร้อนหากอุณหภูมิสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส แต่นั่นเป็นการประเมินเฉพาะปลาโตเต็มที่แล้ว ไม่ได้รวมเอาปลาในระยะฟักตัวและตัวอ่อน
สาเหตุหลักที่ปลารุ่นเยาว์และตัวอ่อนไม่สามารถทนต่อภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรได้ เนื่องจากปลาในช่วงวัยนี้ต้องการออกซิเจนมาก ออกซิเจนนั้นละลายได้ในน้ำที่เย็นและจะละลายได้น้อยกว่าในสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น และน้ำที่เย็นกว่ายังมีประโยชน์ต่อตัวอ่อนในทางอื่น ๆ อีกด้วย
Hans-Otto Pörtner นักกาลวิทยาจากสถาบัน Alfred Wegener Institute ในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย กล่าวว่า การจำกัดให้อุณภูมิสูงขึ้นแค่ 1.5 องศาเซลเซียสก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าพอใจนักเพราะจะมีความเปลี่ยนแปลงต่อโลกติดตามมา แต่เราสามารถจำกัดความเปลี่ยนแปลงให้น้อยลงได้ด้วยการหยุดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อปลา เพราะปลามีความสำคัญต่อโภชนาการของมนุษย์ ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นกรณีที่สำคัญสำหรับการปกป้องระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเรา
แต่ Pörtner กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คาดว่าทะเลจะอุ่นเร็วเกินกว่าที่ปลาจะปรับตัวให้เกิดวิวัฒนาการได้ทัน และถึงแม้ว่าปลาจะสามารถอพยพย้ายถิ่นไปยังภูมิภาคที่เย็นกว่า แต่คงไม่สามารถหาแหล่งวางไข่ใหม่ที่เหมาะสมได้ง่าย ๆ ดังนั้นเราจึงควรพยายามจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ที่มา: Vaughan, Adam. “Climate change will make world too hot for 60 per cent of fish species”. New Scientist. (July 2, 2020).