หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ อุณหภูมิโลกจะต่ำกว่าปกติ ผู้คนล้มตายจากภาวะร้อนฉับพลัน

ความกลัวเรื่องสงครามนิวเคลียร์กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่รัสเซียขู่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในระหว่างการรุกรานยูเครน รวมถึงการรบในแถบ ๆ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลและโรงไฟฟ้านิวเคลีย์แห่งอื่น ๆ ในยูเครน ทำให้หลายคนกลัวว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ”

ในปี 2021 มนุษยชาติมีอาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 13,410 ชิ้น ส่วนใหญ่อยู่ในมือสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าหากคลังนิวเคลียร์จากยุคสงครามเย็น (ในอเมริกาและรัสเซีย) ถูกใช้ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งคลังขนาดเล็กกว่าในประเทศอื่น ๆ อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษย์ได้

ในรายงานของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาปี 1979 สำนักงานการประเมินเทคโนโลยีได้ประมาณการผู้เสียชีวิตภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ หากเกิดการยิงนิวเคลียร์ตอบโต้อย่างเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต คาดการณ์ว่าการเสียชีวิตของสหรัฐจะมีถึง 35-77% (70 ล้านถึง 160 ล้านคนในตอนนั้น) และการเสียชีวิตของประชากรของสหภาพโซเวียตจะมีตั้งแต่ 20-40% 

แม้ว่ารายงานนี้จัดทำขึ้นตอนที่คลังนิวเคลียร์อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นตัวเลขประเมินที่เลวร้ายสุด ๆ แล้ว แถมมันยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงของฤดูหนาวนิวเคลียร์ (Nuclear winter) เพราะการประเมินเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 นอกจากนี้ ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 นักวิทยาศาสตร์เริ่มพิจารณาผลกระทบของควันและเขม่าที่เกิดจากการเผาไม้ พลาสติก และเชื้อเพลิงปิโตรเลียมในเมืองที่ได้รับความเสียหายจากนิวเคลียร์ มีการคาดเดากันว่าความร้อนจัดจะนำอนุภาคเหล่านี้ไปยังระดับความสูงที่สูงมาก ซึ่งพวกมันสามารถลอยได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์และปิดกั้นแสงทั้งหมดจากดวงอาทิตย์ให้เหลือแสงเพียงเสี้ยวเดียว

การศึกษาในปี 2007 ได้ตรวจสอบผลที่ตามมาของสงครามนิวเคลียร์ระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับปริมาณแสงสว่างทั่วโลก ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิโลกจะเย็นลงประมาณ 12–20 องเศาเซลเซียสในพื้นที่เกษตรกรรมหลักส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รัสเซีย และจีน และมากถึง 35 องเศาเซลเซียสในส่วนของรัสเซียในช่วงสองฤดูกาลแรกของการเพาะปลูกในฤดูร้อน

ไม่ใช่แค่เย็นจนหนาวตายกันเป็นเบือแหรืออดอยากเพราะเพาะปลูกไม่ได้ แต่ยังจะทำให้โลกแห้งแล้งขึ้นด้วย เพราะรายงานยังพบว่า การเย็นลงทั่วโลกทำให้วัฏจักรอุทกวิทยา (กระบวนการที่ทำให้เกิดความชื้นและน้ำ) ทั่วโลกอ่อนแอลง โดยช่วยลดปริมาณน้ำฝนทั่วโลกถึงประมาณ 45%

การศึกษาในปี 1986 สันนิษฐานว่าหลังสงครามนิวเคลียร์จะไม่มีการผลิตอาหารเป็นเวลาหนึ่งปี และคาดการณ์ว่า “คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้จะขาดอาหารและอดตายในตอนนั้น” และรายงานใน 2007 ประเมินเพิ่มเติมว่า “ช่วงเวลาที่ไม่มีการผลิตอาหารที่จำเป็นจะต้อง (ประเมินใหม่) โดยให้ยืดเยื้อไปอีกหลายปี ทำให้ผลกระทบของฤดูหนาวนิวเคลียร์เลวร้ายยิ่งกว่าที่เคยคิดไว้”

เอาแค่การทำสงคราม 2 ประเทศในเอเชียก็หนักแล้ว ในรายงานปี 2013 แพทย์ระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันสงครามนิวเคลียร์ (IPPNW) ได้สรุปว่าผู้คนมากกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสามของประชากรโลก จะเสี่ยงต่อการอดอาหารในกรณีที่มีการยิงนิวเคลียร์ระดับภูมิภาคระหว่างอินเดียและปากีสถาน (และให้ผลเท่ากันหากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยที่ถือครองโดยอเมริกาและรัสเซีย)

ผลการศึกษาอื่น ๆ ยังพบว่า แม้แต่ความขัดแย้งด้านนิวเคลียร์ในระดับภูมิภาคที่มีขนาดเล็กก็สามารถทำลายสภาพภูมิอากาศโลกได้เป็นเวลากว่าทศวรรษหรือมากกว่านั้น เช่น ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ระดับภูมิภาคที่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์สองประเทศในเขตร้อนชื้น แต่ละประเทศจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาดฮิโรชิมา 50 ลูก (แต่ละอันประมาณ 15 กิโลตัน) ในศูนย์กลางที่มีประชากรจำนวนมาก

นักวิจัยประเมินว่าจะมีการปล่อยเขม่ามากถึง 5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้โลกเย็นตัวลงหลายองศาเหนือพื้นที่ขนาดใหญ่ในอเมริกาเหนือและยูเรเซีย รวมถึงพื้นที่ปลูกธัญพืชส่วนใหญ่ด้วย การเย็นตัวลงจะคงอยู่นานหลายปี และจากการวิจัยพบว่าอาจเป็น “หายนะ” และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วโลกลดลง 10% โดยการสูญเสียมากที่สุดในละติจูดต่ำอันเนื่องมาจากฤดูมรสุมปั่นป่วน

ความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ในระดับภูมิภาคอาจสร้างความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อชั้นโอโซน ผลการศึกษาในปี 2008 พบว่าการยิงอาวุธนิวเคลียร์เข้าใส่กันระดับภูมิภาคสามารถสร้างหลุมโอโซนใกล้ระดับภาคพื้นของโลก ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อการเกษตรเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ

ผลกระทบต่อโอโซนนี้จะเป็นผลมาจากการดูดซับความร้อนโดยเขม่าในสตราโตสเฟียร์ตอนบน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนกระแสลมและดึงไนโตรเจนออกไซด์ที่ทำลายโอโซนเข้ามา อุณหภูมิที่สูงและไนโตรเจนออกไซด์เหล่านี้จะลดโอโซนให้อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายเช่นเดียวกับที่เราประสบอยู่ตอนนี้ในพื้นที่ด้านล่างรูโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกาที่เกิดทุกฤดูใบไม้ผลิ

และยังมีทฤษฎีด้วยว่า เมื่อฤดูหนาวนิวเคลียร์สิ้นสุดลงแล้ว มันจะตามมาด้วยฤดูร้อนนิวเคลียร์ (Nuclear summer) โดยหลังการตกตะกอนของละอองลอยจากเขม่าส่วนใหญ่ใน 1-3 ปี ผลกระทบจากการเย็นตัวจะแทนที่ด้วยความร้อนจากภาวะโลกร้อนซึ่งจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลายองศา ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้มากมายในหมู่ผู้ที่รอดชีวิตจากความเย็นก่อนหน้านี้ 

พวกที่รอดฤดูหนาวนิวเคลียร์ก็เพราะมีความทนต่ออากาศที่หนาวเย็นได้ แต่ส่วนใหญ่เสี่ยงต่ออุณหภูมิที่สูงกว่าปกติมากกว่าอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อโลกร้อนขึ้นฉับพลัน พวกนี้ก็จะทนไม่ไหว พากันล้มตายไปในที่สุดเหมือนกัน หรือหากยังมีผู้ที่รอดชีวิตอีกก็อาจจะไม่รอดจากภาวะรูโอโซนขยายตัวใหญ่ขึ้นไปอีกเพราะภาวะโลกร้อนทำงานหนักกว่าเดิม

 ข้อมูลจาก

  • Wikipedia contributors. “Nuclear holocaust.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 10 Mar. 2022. Web. 11 Mar. 2022.
  • Wikipedia contributors. “Nuclear winter.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 10 Mar. 2022. Web. 11 Mar. 2022.

ภาพ United States Department of Energy – US gov

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่