น้ำไม่ได้ท่วมแค่กรุงเทพฯวัดกึ๋นรัฐบาลร่วมแก้ระยะยาวคนกรุงลุ้นปริมาณฝนและน้ำเหนือ

1) อิทธิพลร่องมรสุมและจากพายุยังคงทำให้ฝนตกหนักในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และหลายฝ่ายก็จับจ้องไปที่วิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงของผู้ว่าฯ กทม. (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ว่าทำไมยังแก้ไม่ได้ (ดังใจ) ซึ่งมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการ อาทิ เพิ่งเข้ามาทำงาน 3 เดือนเศษจึงเจอปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน, การกำหนดยุทธศาสตร์แก้จากเส้นเลือดฝอยไปยังเส้นเลือดใหญ่อาจไม่สอดคล้องความเป็นจริงกับปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก, ตลอดจนอำนาจที่มีของผู้ว่าฯ และกลไกและความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางต่อปัญหาภัยพิบัติ ฯลฯ

2) คนกรุงเทพฯ ต้องเข้าใจภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน 31 จังหวัดทั่วประเทศ โดยภาพรวมระดับน้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว ซึ่งข้อมูลที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงาน ไม่ได้ระบุให้กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในจังหวัดประสบภัยด้วยซ้ำ แต่เสียงโวยวายกลับดังสุด และดูเหมือนจะเป็นพื้นที่มีคนเดือดร้อนมากที่สุด

3) แนวโน้มสถานการณ์นับจากนี้กรุงเทพฯ จะรอดหรือไม่ พิจารณาได้จาก 5 ปัจจัยหลัก คือ
ปัจจัยแรกหากฝนตกใต้เขื่อนมากขึ้น การระบายน้ำเหนือจะเพิ่มมากขึ้นซึ่งวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. บอกว่าไม่น่ากังวล เพราะปัจจุบันน้ำไหลผ่านบางไทรเฉลี่ย 1,800 ลบ.ม/วินาที แต่จุดเตือนภัยจะอยู่ที่ระดับ 2,500 ลบ.ม/วินาที หากถึงระดับนั้นยังมีเวลาเตรียมการ เพราะน้ำจากบางไทรถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง แต่ต้องประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 38/2565 วันที่ 12 ก.ย. 65 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.2) 1,900 – 2,000 ลบ.ม.วินาที ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. และระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40 – 0.60 ม. เมตร ในช่วงวันที่ 16 – 17 ก.ย. บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำจะได้รับผลกระทบคือ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

ประการที่สอง ปริมาณน้ำฝนใน กทม. เดือน ก.ย. 65 ทุบสถิติสูงสุดในรอบหลายปี โดยระหว่างวันที่ 1 ส.ค.– 12 ก.ย. 2565 มีจำนวนวันที่ฝนตกหนักเกิน 120 มม. มากถึง 10 วัน ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน 10 วันแรกของเดือน ก.ย. อยู่ที่ 96.5 มม. ขณะที่เดือน ก.ย. ปีก่อนอยู่ที่ 52.2 มม. และเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 65 มีปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 112.7 มม. ซึ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี

ประการที่สามน้ำทะเลหนุน เมื่อน้ำเหนือสมทบและน้ำทะเลหนุนสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการจัดการน้ำ ซึ่งกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ประกาศว่าในวันที่ 7-14 ก.ย. 65 น้ำทะเลหนุนสูง บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือกรุงเทพฯ ประมาณ 1.7 – 2 ม. เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ก็คือยิ่งน้ำทะเลหนุนสูง การระบายน้ำจากเจ้าพระยาออกสู่ทะเลจะทำได้ยากขึ้น และจะมีโอกาสทำให้น้ำล้นตลิ่ง

ประการที่สี่การปรับวิธีบริหารจัดการน้ำของ กทม. จะทันการณ์หรือไม่ เนื่องจากเวลานี้ปริมาณน้ำเต็มคลองแนวเหนือใต้ ทั้งคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว จากคลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ ทำให้น้ำท่วมบริเวณรามอินทรา หลักสี่ ดอนเมือง ในส่วนคลองแนวตะวันออก-ตก คือ คลองประเวศบุรีรมย์ระดับน้ำสูงทำให้ท่วมเขตลาดกระบัง

วิธีแก้ที่ กทม.กำลังดำเนินการก็คือ ให้กรมชลประทานเพิ่มระบายน้ำไปทางทิศตะวันออกผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งต้องดูปริมาณน้ำฝั่งฉะเชิงเทราว่ารับได้แค่ไหน ถ้าจะระบายไปฝั่งตะวันตกจากคลองประเวศบุรีรมย์ผ่านประตูระบายน้ำพระโขนงจะทำได้ช้าเพราะระยะทางงเกือบ 40 กม. และเปิดประตูน้ำมากไม่ได้เพราะระดับน้ำคลองประเวศฯ สูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 54 จะกระทบชุมชนริมตลิ่งในพระโขนงและสะพานสูง จึงต้องทยอยดันน้ำและสูบออก ประเด็นอยู่ที่ว่าจะดึงน้ำไปลงอุโมงค์มักกะสันได้เร็วแค่ไหนเพื่อรอสูบออกเจ้าพระยา

สรุปมาตรการรับมือช่วงวิกฤตของผู้ว่าฯ กทม. คือ จะพึ่งการระบายน้ำ 4 คลองหลัก ได้แก่ คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร จากทิศเหนือลงใต้ ผันออกสู่เจ้าพระยา, เพิ่มการระบายน้ำออกจากคลองลาดพร้าวเข้าอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน โดยผ่านคลองชวดใหญ่ คลองสามเสน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มในคลองสามเสนเพื่อเร่งระบายลงสู่อุโมงค์บึงมักกะสัน

นอกจากนี้ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแนวคลองเปรมประชากรจากเขตดอนเมืองถึงเขตบางซื่อ 18 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา, ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำคลองบางเขน 2 เครื่อง เพื่อผันน้ำและเร่งระบายน้ำออกจากคลองเปรมประชากรไปสู่สถานีสูบน้ำบางเขนเพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ด้านตะวันออกของ กทม. ยกระดับบานประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ (ตอนคลองบางชัน) เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการระบายน้ำจากพื้นที่ภายนอกคันกั้นน้ำ (เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก) เข้าสู่พื้นที่ด้านในตามขีดความสามารถการระบายน้ำปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะระบายลงสู่คลองประเวศบุรีรมย์ เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นคลองหลักฝั่งตะวันออก ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจะเร่งสูบน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตไปทางฝั่งตะวันออก

ประการที่ห้าการประสานความร่วมมือกับผู้ว่าฯ จังหวัดโดยรอบ (ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ) และรัฐบาลกลางเพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในประเด็นนี้ยังทำได้ไม่ดีพอ โดยผู้ว่าฯ กทม.ยอมรับว่าจะประสานความร่วมมือกับผู้ว่าฯ จังหวัดโดยรอบ และจะเชิญกรมชลประทานมาร่วมด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นต้องประสานกับรัฐบาลกลางซึ่งมีรัฐมนตรีกำกับส่วนราชการต่างๆ ในแต่ละกระทรวง

4) จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น เมื่อน้ำเหนือมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจะทำอย่างไรให้การระบายน้ำโดยกรมชลประทานมีความ “สมดุล” ระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำเทไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป กรณีนี้ถ้าบริหารน้ำเหนือสมดุล น้ำจะไม่ล้นคลองรังสิตประยูรศักดิ์และอาจจะไม่ท่วมย่านรังสิตหรือเขตรอยต่อด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ อาทิ ดอนเมือง สายไหม

5) โจทย์ใหญ่รับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในอนาคตก็คือ เรา (ผู้อาศัยทุกคน) จะอยู่กับสภาพอากาศสุดขั้วและโลกที่มีความผันผวนสูงอย่างไร เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำและทรุดทุกปี เมืองที่ขยายตัวต่อเนื่อง แนวโน้มมีประชากรหนาแน่นและแออัดมากขึ้น จึงจะต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบร่วมกับรัฐบาล โดยพึ่งพาเครื่องสูงน้ำเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน