รีไซเคิลแบบนอร์เวย์ โมเดลเมืองไร้ขยะ (ขวด) พลาสติก

การจัดการขยะพลาสติกถูกยกระดับเป็นปัญหาในระดับอาเซียนและระดับโลก เพราะแต่ละประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามหันตภัยจากพลาสติกได้ส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศ ตลอดจนการดำรงชีวิตของมนุษย์

โจทย์ใหญ่ก็คือแต่ละประเทศไทยจะใช้กลไกอะไรในการจัดการไม่ให้ขยะเหล่านี้หลุดรอดกลายเป็นมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมหรือถึงจะมีก็ให้น้อยที่สุด ซึ่งบางประเทศสำเร็จมาแล้ว

จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ พบว่าปัจจุบันโลกผลิตขวดพลาสติกใหม่ปีละ 480 พันล้านขวด และปลายทางของขวดเหล่านั้นจบลงที่หลุมฝังกลบ บ้างถูกนำไปเผา และปล่อยมลพิษออกมา บ้างหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม ในทุกปีพลาสติกที่ผลิตทั่วโลก 91% ไม่ได้นำกลับมารีไซเคิล และ 8 ล้านเมตริกตันมีปลายทางจบลงที่มหาสมุทร กลายเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งผลกระทบอื่นๆ อีกมากมาย

การรีไซเคิลอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งซึ่งจะทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเล็กลง ถ้าหากยังหยุดผลิตและเลิกใช้พลาสติกแบบ Single-use ไม่ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องรีไซเคิล ประเทศนอร์เวย์นับเป็น “ยืนหนึ่ง” ของโลก โดยเฉพาะการจัดการกับขวดเครื่องดื่มพลาสติก ซึ่งในปี 2019 นี้สามารถรีไซเคิลได้มากถึง 97% ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทำได้ 30% และสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่าง 20 – 45%
ด้วยแนวคิดและวิธีการซึ่งไม่ซับซ้อน ทว่าเต็มเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ นอร์เวย์จึงสามารถเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศได้

อะไรคือความลับในความสำเร็จของนอร์เวย์ … ?

แรงจูงใจคือภาษีและเงินค่ามัดจำ
ระบบรีไซเคิล “นอร์เวย์สไตล์” ค่อนข้างเรียบง่าย รัฐบาลจูงใจบริษัทผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายสินค้าซึ่งมีบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติกด้วยการใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม ยิ่งขวดหรือกระป๋องของพวกเขาถูกนำกลับมารีไซเคิลมากเท่าไหร่ก็จะเสียภาษีน้อยลงเท่านั้น หากสามารถรีไซเคิลได้มากกว่า 95% ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ตัวเลขการรีไซเคิลจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในแง่ผู้บริโภค สินค้าที่พวกเขาซื้อ อย่างเช่น เครื่องดื่มต่างๆ ก็จะบวกค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ลงไปในราคาจำหน่าย ถ้านำบรรจุภัณฑ์ไปคืนหลังบริโภคเสร็จก็จะได้เงินกลับมา โดยบรรจุภัณฑ์อย่างเช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว หรือกระป๋องจะมีราคาค่ามัดจำหรือ PANT ติดอยู่ที่ฉลาก เช่น ขวดครึ่งลิตร 1 Kr (ประมาณ 4 บาท) หรือ ขวดลิตร 2.5 Kr (ประมาณ 10 บาท) เป็นต้น

การคืนขวดก็ทำได้ไม่ยาก เพราะทั่วทุกมุมเมืองจะมีตู้รับคืน บางร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันก็มีจุดรับคืน โดยเครื่องรับคืนจะอ่านข้อมูลบาร์โค้ดบนฉลาก ก่อนออกสลิปคืนเงินให้ เพื่อนำไปขึ้นเงินสด หรือใช้จ่ายแทนเงินสด ใครอยากจะบริจาคเงินเหล่านี้ให้การกุศลก็ทำได้
จากตู้หรือจุดรับคืน บรรจุภัณฑ์ต่างๆ จะถูกขนส่งไปคัดแยกและเข้าสู่โรงงานรีไซเคิล นำมาผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก ในบางกรณีมากกว่า 50 ครั้ง!

รีไซเคิลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการรีไซเคิลขวดพลาสติกของนอร์เวย์คือ Infinitum ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นผู้ดูแลนับตั้งแต่เปิดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์แบบรีฟิลไม่ได้มาลงทะเบียน ก่อนจัดทำระบบ PANT ให้กับสินค้าต่างๆ รวมทั้งจัดระบบการคืนขวด ขนส่ง คัดแยก นำเข้าโรงงานรีไซเคิล ฯลฯ

Infinitum ก่อตั้งเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยตอนแรกใช้ชื่อว่า Norsk Resirk พวกเขาได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและสร้างระบบการคืนขวดรับเงินมัดจำสำหรับกระป๋องเครื่องดื่มและขวดรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อนจะสร้างโรงงานรีไซเคิลแห่งแรกที่เมืองออสโลในปี 2000 ทั้งยังพยายามลดต้นทุนการขนส่งสำหรับวัสดุเพื่อการรีไซเคิล และผลักดันเรื่องการยกเว้นภาษีสำหรับกิจการที่เข้าร่วมระบบรีไซเคิล

หลังดำเนินกิจการมา 5 ปี บริษัทสามารถรีไซเคิลกระป๋องได้ 92% และขวดพลาสติก 77% ทำให้นอร์เวย์เป็นชาติอันดับ 1 ของการรีไซเคิล นอกจากนี้พวกเขายังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ Single-use ที่เหมาะสำหรับการนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ขึ้นมา วิธีการลงทะเบียนสำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้าก็ได้ปรับเปลี่ยน เพื่อให้รายเล็กๆ มีโอกาสเข้าร่วมโครงการได้
ในปี 2014 Norsk Resirk เปลี่ยนชื่อเป็น Infinitumโดยได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า Infinity Numberหมายความถึง การรีไซเคิลไม่สิ้นสุด

หลายภาคส่วนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยทำให้ระบบนี้ประสบผลสำเร็จเกินคาด อย่างเช่น Odd Børretzen นักเขียนและศิลปินคนสำคัญได้สร้างภาพยนตร์เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ชาวนอร์วีเจียนเข้าร่วม มีการสร้างแคมเปญให้คนรู้สึกว่า การคืนขวดพลาสติกคือ “การทำดี” โดยสามารถนำเงินที่ได้ไปทำการกุศล เช่น ช่วยเหลือสภากาชาด เป็นต้น พวกเขายังกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

พลังงานมหาศาลในขวด
ภายใต้การทำงานอย่างจริงจังของ Infinitum ชาวนอร์เวย์รับรู้ว่า การโยนขวดทิ้งก็เท่ากับการสูญเสียพลังงานอันมีค่าไปโดยใช่เหตุ เงินที่ได้รับเมื่อคืนขวดนั้นอาจเทียบไม่ได้เลยกับพลังงานซึ่งอยู่ในหนึ่งขวดเปล่าและกระป๋องเครื่องดื่ม

เพื่อให้เข้าใจง่ายมากขึ้น Infinitum ได้พยายามสื่อสารให้คนทั่วไปเห็นภาพว่า พลังงานจำนวนเดียวกันกับที่ทำให้เกิดขวดพลาสติกและกระป๋องเครื่องดื่มนั้นสามารถนำไปติดเครื่องยนต์ท้ายเรือได้เป็นเวลา 4 นาที ใช้สำหรับการทำงานของเครื่องยิงลูกเทนนิสได้นานกว่าชั่วโมง หรือเป็นพลังงานสำหรับเครื่องโกนหนวดไฟฟ้านานถึง 25 ชั่วโมง

การขับเคลื่อนของ Infinitum ยังได้ดึงองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เข้าร่วมด้วย เพื่อทำให้ประชาชนตระหนักว่า ต้องหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบ Single-use แต่หากจำเป็นต้องใช้ ควรนำกลับมารีไซเคิล ซึ่งเท่ากับเป็นการประหยัดน้ำมัน พลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทุกปีมีคนรุ่นใหม่และผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดถูกเลือกมาเป็นทูตของ Infinitum เพื่อร่วมผลักดันไปสู่เป้าหมาย

รีไซเคิล 100% เป็นไปได้
เป้าหมายสูงสุดสำหรับ Infinitum คือ การรวบรวมและรีไซเคิลขวดพลาสติกและกระป๋องเครื่องดื่มที่ไม่สามารถรีฟิลได้ 100% ปัจจุบันพวกเขามีโรงงานรีไซเคิลอันทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในโลกอยู่ทั่วนอร์เวย์ โรงงานเหล่านี้ขายวัสดุรีไซเคิลในรูปแบบซึ่งนำไปใช้งานต่อได้กับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทั้งยังรวมถึงบริษัทแฟชั่นที่ต้องการสร้างสรรค์เสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิลต่างๆ เป็นต้น

ตั้งแต่แรก Infinitum ไม่ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อหวังผลกำไร ทว่าเป็นเหตุผลของการสร้างอนาคตที่ดี และวิถีการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอร์เวย์ได้แสดงให้โลกเห็นถึงวิธีการใช้งานพลาสติกบนเงื่อนไขที่สร้างความเสียหายน้อยที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การรีไซเคิลแบบนอร์เวย์ จึงเป็น “โมเดล” สำหรับเมืองปลอดขยะขวดพลาสติกที่หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจและอยากจะนำมาทดลองทำในบ้านเมืองของตัวเองบ้าง

Related posts

ประเทศผู้ผลิตน้ำมันขัดขวางข้อตกลง แก้มลพิษพลาสติกโลกล้มเหลว

ว้าวมาก พลาสติกชนิดใหม่รีไซเคิลได้ สามารถย่อยสลายในน้ำทะเล

โลกกำลังสำลักพลาสติก ใครต้องรับผิดชอบลด ‘ขยะที่อันตรายที่สุด’ นี้?