Opinion: เกรต้า จะไม่มีทางได้รางวัลโนเบล?

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 สมาชิกรัฐสภาสวีเดนเสนอชื่อ เกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมกับขบวนการ Fridays for Future ให้เป็นผู้รับรางวัลโนเนลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2563

ในจดหมายถึงคณะกรรมการโนเบลของนอร์เวย์ Jens Holm และ Hakan Svenneling นักการเมืองฝ่ายซ้ายของสวีเดนกล่าวถึงคุณสมบัติของเกรต้าเอาไว้ว่า “เกรต้า ธันเบิร์ก เป็นนักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศและเหตุผลหลักที่เธอสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคือ แม้ว่าเธอจะอายุน้อย แต่เธอก็ทำงานอย่างหนักเพื่อให้นักการเมืองได้เปิดตารับรู้ถึงวิกฤตการณ์สภาพอากาศ”

และกล่าวว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่และนำไปสู่สงครามในที่สุด การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยมลพิษของเราและการปฏิบัติตามความตกลงปารีสจึงเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดสันติภาพ”

จากคำอธิบายนี้ผู้ที่เสนอชื่อตั้งสมมติฐานว่า ปัญหาโลกร้อนจะนำไปสู่สงคราม ดังนั้นผู้ที่ต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนจึงเป็นผู้ที่หยุดยั้งสงคราม และสร้างสันติภาพขึ้นในโลก

แต่นักต่อสู้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้มีคนเดียว การมอบรางวัลให้เกรต้าคนเดียว หรือขบวนการที่เธอเป็นแกนนำ อาจก่อให้เกิดข้อครหาขึ้นมาได้ว่าคณะกรรมการรางวัลโนเบลหลงลืมคนอื่นๆ ที่ทำงานอย่างหนักในด้านนี้มานานหลายปีไปหรือเปล่า?

ที่ผ่านมารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกติเตียนมาตลอดว่าให้รางวัลตามกระแส หรือให้รางวัลคนที่ยังไม่ได้สร้างผลงานอะไร แต่คาดหวังว่าคนๆ นั้นจะผลักดันความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่ได้รับประกันได้เลยว่าเขาคนนั้นจะทำได้

การทำแบบนี้ทำให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกมองว่าให้รางวัลกับ “ไอดอล” (คนที่ถูกยกย่องเพราะภาพลักษณ์) แทนที่จะให้รางวัลกับ “ไอค่อน” (บุคคลตัวอย่างที่สร้างความเปลี่ยนแปลง)

ในระยะ 5 ปีหลัง คณะกรรมการรางวัลโนเบลเน้นมอบรางวัลให้กับผู้ที่ทำงานด้านความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่สงครามที่ยังไม่เกิด

และครั้งสุดท้ายที่มอบรางวัลให้กับคนที่มีผลงานด้านปัญหาโลกร้อนคือปี 2550 โดยมอบให้กับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ “สำหรับความพยายามในการสร้างและเผยแพร่ความรู้ที่มากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น และเพื่อวางรากฐานสำหรับมาตรการที่จำเป็นในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”

แต่มอบรางวัลให้อัล กอร์ กับ IPCC ถูกตำหนิว่า เป็นการแจกรางวัลโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง และผลงานของผู้ได้รางวัลยังไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการยุติความขัดแย้ง

ถ้าใช้มาตรฐานจากเสียงวิจารณ์เมื่อปี 2550 เกรต้าก็คงจะไม่มีโอกาสได้รางวัลไปด้วย

แถมเมื่อปีที่แล้วบริษัทรับพนันของอังกฤายังเคยต่อรองว่า เกรต้า จะมีโอกาสสูงสุดที่จะได้รางวัลโนเบล แต่สุดท้ายก็ไม่มีการเสนอชื่อเธอไป

แต่ถ้าคณะกรรมาการรางวัลอยากจะเสี่ยงดวงมอบรางวัลตามกระแส ปีนี้ก็ยังไม่ใช่ปีของเกรต้ากับปัญหาโลกร้อนอยู่ดี เพราะมันคือปีแห่งการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

การระบาดของไวรัสไม่ใช่แค่ทำให้เจ็บป่วย แต่ยังสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นอีกด้วย เรื่องนี้น่าจะเข้าตากรรมการรางวัลโนเบลมากกว่าอีก

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน