‘ธรณ์’ ยันไทยห่างฟุกุชิมะ 5,000 กม. ไม่ต้องกังวลอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น

การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา เกิดข้อกังขาว่า จะมีความปลอดภัยต่อมนุษย์หรือไม่ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารทะเล เพราะแม้ญี่ปุ่นจะยืนยันมาตรฐานน้ำปนเปื้อนฯส่วนใหญ่ได้ผ่านการกรองก่อนปล่อยลงมหาสมุทรแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้ญี่ปุ่นจะยืนยันว่า สารทริเทียมและคาร์บอน-14 ได้รับการบำบัดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน แต่นักวิชาการก็ตอกย้ำว่าสารทริเทียมและคาร์บอน-14 แยกออกจากน้ำได้ยากมาก ซึ่งชาวแดนปลาดิบเองก็วิจารณ์ว่ารัฐบาลดำเนินการอย่างไร้ความรับผิดชอบ และก็ถูกจับตาไปทั่วโลก โดยเฉพาะเกิดความหวาดวิตกจากประเทศข้างเคียงต่อกรณีนี้

อย่างเช่น จีนได้ออกประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว แต่อนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดอื่นได้โดยต้องผ่านการทดสอบกัมมันตภาพรังสี หรือต้องมีหลักฐานว่าการผลิตอาหารนอก 10 จังหวัดต้องห้าม รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งได้ออกมาประท้วง รวมทั้งมีการกักตุนอาหารทะเลกันล่วงหน้าด้วย

การทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ TEPCO ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในรอบแรก เริ่มปล่อยปริมาณ 7,800 ตัน ในระยะเวลา 17 วัน จากปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนฯ ในถังกักเก็บมากกว่า 1.33 ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยคาดว่าจะใช้เวลาปล่อยนานถึง 30 ปี

หากจินตนาการปริมาณน้ำปนเปื้อนฯ ที่จะปล่อยลงมหาสมุทรทั้งหมด 1.33 ล้านตัน จะเทียบเท่ากับ

– ขวดน้ำขนาด 1 ลิตร จำนวน 1,350 ล้านขวด

– ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 6.7 แสนถัง

– สระว่ายน้ำโอลิมปิก จำนวน 500 สระ

– Aquaria Phuket จำนวน 193 แห่ง

– Blue Lake ประเทศนิวซีแลนด์ จำนวน 20 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมานาน 2 ปี จากนั้นก็ได้ไฟเขียวการปล่อยจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่ ราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ยืนยันว่า น้ำปนเปื้อนฯ ได้รับการบำบัดด้วยระบบ Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งเป็นระบบที่ทำการปั๊มและกรองนำแร่กัมมันตรังสีออกมาก่อนปล่อยลงสู่ทะเลแล้ว และส่งผลกระทบในทางรังสีวิทยาต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

ผู้บริโภคชาวไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่ คำอธิบายจาก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ทะเลไทยห่างจากฟุกุชิมะ 5,000 กม. และหากวัดลัดเลาะชายฝั่งมาจะไกลกว่ามาก หากสารมีอันตราย กว่าจะมาถึงต้องผ่านหลายประเทศ

นอกจากนั้น กระแสน้ำคูโรชิโอะ (Kuroshio) ซึ่งเป็นกระแสน้ำหลักในทะเลแถบนั้นยังไหลขึ้นเหนือ ก่อนเบี่ยงออกกลางมหาสมุทร ไม่ได้ไหลลงใต้มาทางบ้านเรา

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในฐานะกรมประมงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการตรวจสอบการนำเข้าปลาและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ณ ด่านศุลกากร ตั้งแต่ปี 2559 จากการถ่ายโอนภารกิจในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

ทั้งนี้ กรมประมงได้ยกระดับการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากแผนปฏิบัติงานประจำปี มุ่งเน้นการสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากเมืองที่มีความเสี่ยง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น โตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุมมะ โทจิงิ อิบารากิ มิยางิ นีงะตะ นากาโนะ ไซตามะ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเข้มงวดเพื่อมิให้มีการนำเข้าอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจากการตรวจสอบจนถึงปัจจุบันพบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นที่ตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะจำนวน 4,375 ตัวอย่างในปี 2565 จนถึง เม.ย. 2566 ก็ยังไม่พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานตามที่กำหนดเช่นกัน

สำหรับ เหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิถล่มเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและเกิดสึนามิครั้งใหญ่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย จนสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหล ถือเป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของโลก นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิลในปี 2529

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 TEPCO เคยออกประกาศถึงแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยยืนยันว่า จะทำการเจือจางแร่ทริเทียมให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก่อนปล่อยลงสู่ท้องทะเล แต่ได้เกิดกระแสคัดค้านอย่างหนักจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศบนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมไปถึงชุมชนประมงและชุมชนเกษตรกรรมรอบ ๆ ฟุกุชิมะ

ข้อสังเกตจาก โรเบิร์ต เอช ริชมอนด์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางทะเล Kewalo จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ระบุว่า แผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นไม่รอบคอบและเร็วเกินไปที่จะสรุปถึงมาตรฐานการบำบัด และไม่เพียงพอที่จะลดผลกระทบต่อสัตว์น้ำใต้ท้องทะเล ในขณะที่แร่ทริเทียมเองจะตกค้างและสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารทั้งพืช สัตว์ และแบคทีเรีย

อ้างอิง:

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2720300

https://edition.cnn.com/2023/07/04/asia/japan-fukushima-wastewater-explainer-intl-hnk/index.html

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/how-japan-plans-release-contaminated-fukushima-water-into-ocean-2023-07-04/

https://www.thansettakij.com/health/health/574447

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด