เรียกร้องลดมลพิษในพื้นที่ระยอง ให้ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เร่งออก กม.PRTR คุมปล่อยสาร

เครือข่ายประชาชนคนรักระยองยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ขอให้เร่งรัดแก้ปัญหามลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง” เนื่องจากหลังมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มานานกว่า 13 ปี แต่ที่ผ่านมายังประสบปัญหามลพิษ เช่นเหตุการณ์น้ำมันรั่วมาบตาพุด 2 ครั้งล่าสุด 

นายมนต์สังข์ ภูศิริวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นตัวแทนรับเรื่องและจะนำเสนอต่อประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไป

เครือข่ายประชาชนคนรักระยองมีข้อเรียกร้องต่อประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดังนี้

1) เร่งรัดให้ลดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษทั้งมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ขยะ และของเสียอันตรายและปัญหาอุบัติภัยจากโรงงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องก่อนยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในปี 2565

2) ถ้าจะยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ ต้องแก้ปัญหามลพิษเดิมให้มีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานและที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี และต้องทำข้อตกลงต่อประชาชนว่า ถ้ามลพิษกลับมาสูงเกินค่ามาตรฐานอีกจะทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่จะไม่ถูกละเมิดสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและมีอายุขัยสั้นลง

3) ต้องแก้ปัญหามลพิษที่มีในเขตควบคุมมลพิษให้ได้ ก่อนอนุญาตให้มีโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นตามโครงการ EEC

4) ประชาชนไม่ทราบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาเขตควบคุมมลพิษ จึงขอให้ส่งข้อมูลความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาตามที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนรับทราบด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่ปรากฎในคำพิพากษาศาลปกครอง

5) ราชการรายงานว่าค่ามลพิษต่าง ๆ ในอากาศไม่เกินคำมาตรฐาน (ยกเว้นสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่พบเกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน) ในความเป็นจริงประชาชนหายใจเข้าไปรู้ได้ถึงมลพิษที่มีในอากาศ ถ้าไปดูสถานีตรวจวัดอากาศพบว่ามีต้นไม้ปกคลุมและมีอาคารบัง กรมควบคุมมลพิษรายงานค่าเฉลี่ยของไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศและสรุปว่าไม่เกินมาตรฐานนั้น มาจากแค่ 5 สถานี ไม่สอดคล้องกับพื้นที่มลพิษ จึงควรติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้น

6) การจะอนุญาตให้สร้างโรงานเพิ่มขึ้นต้องมีการศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษไนพื้นที่เขตควบคุม ซึ่งมลพิษในจังหวัดระยอง (Carrying Capacity) ที่ครอบคลุมมลสารที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ก่อนที่จะมีขยายอุดสาหกรรมตามโครงการ EEC เพื่อที่จะนำไปกำหนดเป็นโควตาการระบายมลพิษ และต้องกำหนดแนวป้องกันโดยรอบ (Protection Strip) เพื่อเว้นระยะห่าง ระหว่างเขตโรงานอุตสาหกรรมกับชุมชน และแนวพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมกับพื้นที่ชุมชน/พื้นที่ท่องเที่ยวด้วย

7) เร่งรัดให้มีการกำหนดคำมาตรฐานกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้ง่าย หรือ VOCs เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันกำหนดไว้เพียง 9 ชนิด (ตั้งแต่ปี 2550) เพราะในเขตมาบตาพุดตรวจพบ VOCs มากกว่า 40 ชนิด

8) โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุดที่สร้างรุ่นแรก ๆ มีอายุประมาณ 30 ปี ควรได้รับการตรวจสอบความปลอดภัย อย่าให้เกิดอุบัติแบบน้ำมันรั่วอีก ถ้าสารเคมีรั่วลงทะเล หรือรั่วบนบก เกิดเพลิงไหม้ ระเบิดลุกลามไปจะพินาศกันทั้งเมือง ต้องจัดตั้งศูนย์รับมืออุบัติภัย มีการลงโทษและคิดค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อมลพิษ และชดเชยเยียวยาประชาชนที่รวดเร็ว

9) เร่งรัดการออกกฎหมายบังคับให้โรงงาน “รายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)” และควบคุมการปล่อยกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้ง่าย หรือ VOCs โดยกำหนดค่าอันตรายการระบายของโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติเคมีและท่าเทียบเรือ โดยควบคุมการปล่อย VOCs จากการประกอบกิจการ การเผาทิ้ง (ปล่องไฟที่ทำหน้าที่เผาก๊าซ) และถังกักเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลรายโรงงาน ต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ ประกาศเขตควบคุมมลพิษตามความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) ได้กำหนดให้ท้องที่เขตต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ และ ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยองทั้งตำบล ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา ทั้งตำบล และ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉางทั้งตำบล 

รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขตเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2552 ปัจจุบันผ่านมา 13 ปีแล้ว แต่ปัญหามลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองยังสูงเกินค่ามาตรฐานและสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 

ขณะเดียวกันยังมีการอนุญาตให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้พื้นที่ จ.ระยองนอกเขตควบคุมมลพิษมีปัญหามลพิษเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันยังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่