‘พสุธ รัตนบรรณางกูร’ ชีวิตธรรมดาที่พอดี วิถีใหม่รับมือโลกร้อน

เสียงบ่นพึมพำไม่อาจช่วยให้อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องลดลงได้ แต่ถ้าทุกคนลงมือปฏิบัติด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนละอย่างสองอย่าง ถึงจะไม่เห็นผลทันทีในวันนี้ ก็ยังมีโอกาสเป็นได้ที่จะทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนลดลงได้ในวันหน้า

หนึ่งในตัวอย่างคนออกแบบการใช้ชีวิตให้ “สมดุล” อย่าง พสุธ รัตนบรรณางกูร หรือ “พี่โพ” ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว เขากับคู่ชีวิต “หนูดี” วนิษา เรซ มีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายคลึงกันเพราะกินแพลนต์ เบส เหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็บอกกับตัวเองว่า จะไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป และไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตเป๊ะกับทุกเรื่อง

“พสุธ” นักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์สกินแคร์ ให้ความสำคัญกับสาระของชีวิต ไม่ชอบออกสังคม ไม่ชอบกินข้าวนอกบ้าน และยอมรับว่า ตัวเองเป็น Introvert (สบายใจที่ได้อยู่กับตัวเอง(1)) ไม่เชื้อเชิญคนในสังคมเข้ามาในสมอง “ตอนนี้กินวัน 2 มื้อ ผมรู้สึกว่าการกินเป็นภาระชีวิต ต้องคิดอีกแล้วเหรอว่าจะกินอะไร ช่วยเอามาวางข้างหน้า และกินให้เสร็จ แล้วจะได้ไปทำอย่างอื่นต่อ ถ้าไปกินข้างนอกรถก็ติด กว่าจะได้กินหมดเวลาไป 3 ชั่วโมง (หนูดี เสริมว่า เขาไม่เอนจอยร้านอาหาร ไม่เอนจอยคาเฟ่ ไม่ชอบถ่ายรูปอาหาร ไม่ชอบถ่ายรูปตัวเองด้วย แต่ต้องไลฟ์บ้างเพราะอยากโชว์ผักของตัวเอง) (2)

ทั้งคู่ตั้งใจปลูกผักกินเอง จึงตัดสินใจซื้อที่ดินข้างบ้าน เนื้อที่ 60 ตารางวา มาทำสวนผักออร์แกนิก เพราะหนูดีชอบทำอาหารจึงเป็นที่มาการเปิดเพจ From Farm to Fork – Bangkok ไว้แนะนำการรับประทานผักปลอดภัย แต่ไม่ได้ปลูกเพื่อขาย ตกลงกันว่าจะไม่นำงานอดิเรกมาเป็นอาชีพ เพราะถ้าขายแล้วไม่มีผัก หรือผักไม่สวยจะทำให้เครียด เนื่องจากการทำธุรกิจต้องคิดเรื่องต้นทุน การตลาด หรือทำแล้วต้องมีกำไร

“ผมชอบปลูกต้นไม้และชอบเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว เป็นคนใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ไม่เคยปลูกผักเพื่อกินจริงจังแบบนี้ แต่ผักผลไม้ที่ซื้อมามียาฆ่าแมลงเยอะมาก ก็เลยใช้พื้นที่ตรงนี้ปลูกผักกินเอง ผมทำงานบริษัทยาในอเมริกามาเกือบ 10 ปี ในอเมริกาและฝั่งยุโรป สาเหตุการตายมาจากโรคหัวใจ แต่คนไทยอันดับหนึ่งคือมะเร็ง ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสารเคมีตกค้างเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง และอัตราการตายสูงมาก”

“ประเทศไทยไม่ใหญ่มาก แต่อัตราการนำเข้ายาปราบศัตรูพืชอันดับต้น ๆ ของโลก และมันก็จะไปอยู่ในพืชผัก ในน้ำในดิน ฉะนั้นเราไม่ไว้ใจว่ามีผักปลอดภัยอยู่ในตลาด เรารู้ว่า มันไว้ใจไม่ได้ เพราะเกษตรในปัจจุบันถูกกดดันจากโมเดิร์นเทรด จะต้องส่งผักเท่านี้ในจำนวนเท่านี้ เวลานี้ ไม่งั้นจะโดนปรับ ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถผลิตจำนวนตามความต้องการได้ เพราะวันหนึ่งอยู่ ๆ ฝนตก ผักเน่า แมลงลง เมื่อกำหนดปริมาณการผลิตไม่ได้ ทำให้เกษตรกรต้องมีทางลัดในการประกันความเสี่ยง เพราะเขาไม่อยากโดนปรับ จึงจำเป็นต้องใช้ยาในการปลูก”

ในฐานะเรียนจบด้านเคมีมา ดอกเตอร์จากสแตมฟอร์ด ย้ำว่า เกษตรกรไม่ได้ใช้เพียงยาตัวเดียว แต่ใช้ยาฆ่าแมลงเป็นค็อกเทล 5-10 ตัว ทั้งยาฆ่ารา ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ใช้หลายอย่างผสมกันเพื่อฉีดพ่น ยกตัวอย่าง ส้ม มีการฉีดยา 100 เปอร์เซนต์ และเกินปริมาณที่พอดี หรือพริก กะเพรา โหระพา ผักชี จากการอ่านงานวิจัยพบว่า แม้จะใช้ยาต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่เมื่อฉีดหลายตัวไปรวมกันจะมีผลทวีคูณ นี่คือที่มาของการปลูกผักกินเอง

แปลงผักออร์แกนิกของพี่โพและหนูดีใช้ปุ๋ยหมักทำเอง โดยนำเปลือกผลไม้ เศษผักเศษอาหาร ของเหลือจากการประกอบอาหารมาเทรวมกัน แล้วนำไปใส่ในบ่อหมักที่มีดิน ขยะเปียก ขยะแห้ง วางซ้อนเป็นชั้น ๆ มีทั้งใบไม้ กระดาษลัง พอผ่านไปสักระยะก็จะกลายเป็นดินและนำไปปลูกผักในสวน “พอใบไม้ในบ้านไม่พอก็เขียนจดหมายไปหาเพื่อนบ้านเพื่อขอเศษไม้ ใบไม้ เอากระสอบไปให้ด้วย และนำมาทำปุ๋ย มีผักก็ไปแบ่งปันเขา พอเราไม่ขายก็ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องมานั่งล้างผัก แพ็กผัก ตอบไลน์ มันกินเวลาเรามาก เราอยากเอาเวลาไปทำอย่างอื่น”

“พสุธ” เป็นแพลนต์ เบส ที่กินซีฟู๊ด เขาเล่าเรื่องนี้เพราะจะบอกถึงความไม่เข้มงวดในการรับประทานอาหารหรือกินแพลนต์ เบส แล้วจะไม่กินอย่างอื่นเด็ดขาด โดยพี่โพและหนูดีอธิบายว่าบางครั้งต้องไปกินข้าวกับเพื่อนก็สามารถกินเมนูเดียวกับเพื่อนได้ เพื่อไม่ให้เพื่อน ๆ ลำบากใจ จะไม่มีการแยกเมนูกันกิน หรือจะไม่บอกเพื่อนว่าไม่กินสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งในชีวิตจริงไม่ได้นัดเจอเพื่อนบ่อย แต่ชีวิตปกติจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์

การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และ “พอเพียง” ทำให้พี่โพ และ หนูดี ไม่เน้นบริโภคนิยม ไม่มีความรู้สึกว่าต้องมีรถแพง ๆ มีนาฬิกาแพง ๆ หรือใช้เสื้อผ้าแพง ๆ เพื่อแสดงถึงความสำเร็จ หรือมีรายได้สูงกว่าคนอื่น เขาเห็นด้วยกับ หนูดี ที่เสริมขึ้นว่า  “คำว่าพอเพียง คือการไม่ล้างผลาญทรัพยากรโลก เงินของมนุษย์มันสมมติขึ้น แต่ใช้แล้วต้องไม่ทำให้ทรัพยากรมันพัง สิ่งแวดล้อมมันพัง เราจะสูญเสียทั้งสุขภาพ และชีวิตแบบจริง ๆ ฉะนั้นเรามองไปไกลกว่าคำว่าเงิน หรือไม่อยากใช้คำว่า “พอเพียง” ควรใช้คำว่า เราให้เกียรติทรัพยากรโลก”

การใช้ชีวิตไม่ฟุ่มเฟือยเป็นการลดการใช้ทรัพยากร ลด Carbon Footprint หรือลดรอยเท้าคาร์บอน แต่ก็อยู่บนพื้นฐานที่ว่า ต้องมีความสุขและสมดุล เขาทั้งคู่จึงไม่มองคำว่า “พอเพียง” ต้องจนเท่านั้น “ผมมองว่าคำว่าพอเพียงนิยามกันผิด คือ พอพูดเรื่องพอเพียงคนจะมองเรื่องตัวเงิน พอเพียงต้องไม่ใช้เงิน ไม่หาเงิน ใช้น้อย ๆ กินน้อย ๆ แต่ความพอเพียงของผมคือ เป็นความพอเพียงทางทรัพยากร หมายความว่าเราใช้เงิน อาจจะใช้เงินเยอะ แต่ซื้อของที่ได้มามันต้องคุ้ม จะไม่ซื้ออะไรที่ใช้เงินเยอะ ๆ ไม่คุ้ม แต่มันฟุ่มเฟือย”

“ฉะนั้นความพอเพียงพอของผม มันแพงได้ เรามีเงินได้ แต่ใช้เงินให้มันเกิดประโยชน์มากที่สุด อะไรที่มันอาจจะถูก แต่มันทำให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นน้ำขวดพลาสติก อาจจะไม่กี่ตังส์ แต่ผมเลือกที่จะไม่ซื้อ ผมเลือกที่จะเอาแก้วไปเอง ผมคิดว่าไม่พอเพียงทางทรัพยากร”

ชีวิตที่พอเพียงทำให้ประหยัด “เซฟเยอะมาก (เสียงสูง) ผมไม่ทำงานข้างนอกก็เซฟค่าน้ำมันแล้ว ผมไม่มีภาษีสังคม เพราะไม่เข้าสังคม ไม่ต้องไปออฟฟิศ ก็ประหยัดอีก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ชอบความวุ่นวาย ผมเป็น introvert หน่อย…ผมไม่สนใจว่าจะแต่งตัวอย่างไร มันไม่ยั่งยืน มาแล้วก็ไป สิ่งที่สำคัญคุณธรรม ศีลธรรม และความรู้ความสามารถที่เรามี”

ในฐานะทั้งคู่ทำธุรกิจ แน่นอนต้องมีกำไร สินค้าต้องมีคุณภาพ ทุกวันนี้บริษัทของ “พสุธ” ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่มีหน้าร้าน แค่มีนัดประชุมทีมงานบ้างไตรมาสละครั้ง แต่ในฐานะสายกรีน วัตถุดิบที่นำมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้องเน้นความปลอดภัย “ส่วนประกอบของสกินแคร์มีเยอะมาก แต่ผมมองว่าไม่ต้องใช้เยอะมากขนาดนั้น เพราะบางตัวต้องสั่งมาจากฝรั่งเศส อเมริกา จากญี่ปุ่น เพื่อมาอยู่ในสกินแคร์ของเรา”

“ผมจึงตัดส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นออกไปให้เยอะที่สุด แต่เป็นสูตรที่เรียบง่าย แต่ได้ผลดี ก็เป็นการประหยัดทรัพยากรไปแล้ว ลดการสัมผัสสารเคมีในชีวิตประจำวัน อย่างผู้หญิงวันหนึ่งต้องใช้เยอะ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบอย่างน้อย 20 อย่าง และถ้าใช้ 5 อย่างก็จะมีสารเคมีประกอบเป็นร้อยอย่าง แล้วหลายตัวมันซึมเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งทำให้ผิวแพ้ง่าย”

“คอนเซปต์บริษัท คือ ยิ่งเยอะยิ่งเสี่ยง ตอนนี้ในมาร์เก็ตเทรนด์เขาประโคมกันว่า ยิ่งเยอะยิ่งดี ฉันมี 5 สารสกัด ฉันมี 10 สารสกัด แต่ผมอยากไปในทางตรงกันข้ามเลย คือ ยิ่งเยอะยิ่งเสี่ยง และน้อยที่สุดที่จะทำให้ผิวเราดีได้ ซึ่งสกินแคร์ของบริษัทพยามลดการใช้ปิโตรเลียม (ที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง) ให้มากที่สุด ยกเว้นเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เพราะเคยไปซื้อวัตถุดิบที่ไม่ใช่ปิโตรเลียม แต่หายากมาก แทบไม่มีคนคุยด้วย เราจะเน้นส่วนผสมที่มาจากพืช ซึ่งผ่านไป 5 ปี ธุรกิจคอสเมติกส์เป็นธุรกิจที่ผลกำไรสูง มีการปรับตัวเร็วมาก ทิศทางหันไปทาง Sustainable”

นอกจากเลือกอาหารกินเพื่อดูแลสุขภาพ ลดรอยเท้าคาร์บอนจากการใช้ชีวิต ไม่มุ่งทำลายทรัพยากร เรื่อง “จิตใจ” ก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งพี่โพ และหนูดี จึงเลือกนั่งวิปัสสนากรรมฐานควบคู่ไปด้วย แต่ย้ำว่า ไม่ใช่การถือศีลหรือเคร่งแบบนักบวช เขาทั้งคู่พยามส่งสัญญาณบอกลูกเพจว่า ชีวิตอย่าสมบูรณ์แบบมากนัก หรือต้องเป็น Perfectionist เพราะจะกลายเป็นความเครียด

“หนูดี” เสริมบทสนทนาว่า แม้กระทั่งเพื่อนนักโภชนาการแพลนต์ เบส คนที่เขียนหนังสือเรื่องแพลนต์ เบส เขายังบอกว่า อย่าคิดว่าต้องกินตลอดชีวิต และชีวิตต้องสมบูรณ์แบบ เพราะมันจะเครียดเกินไป ซึ่งจริง ๆ กินเนื้อสัตว์ได้ตามกาลเทศะ เช่น ไปงานแต่ง งานเลี้ยงรุ่น ซึ่งนาน ๆ ที ถ้าไม่กินจะผิดกาลเทศะ หรืออย่าเรียกตัวเองว่าเป็นวีแกน เพราะจะทำให้ตัวเองเครียด ถ้าเป็นวีแกนก็เป็น แต่ไม่ต้องเรียกตัวเองก็ได้ เราก็เป็นตัวของเรา หรือเรื่องความเชื่อก็อย่างหนึ่ง เช่น การถือศีล ไม่เหมือนกัน ซึ่งวีแกนมันไปเกินกว่าเรื่องอาหารและจะมีการตัดสินกันตลอดเวลาว่า (คนทาน) ยังทำได้ไม่ดีพอ เราอาจจะทำ 95% อีก 5% อาจจะชิลบ้าง ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไร

พี่โพที่หนูดีเรียกติดปาก และแฟนเพจก็เรียกตาม แนะนำว่า การเป็นสายกรีนต้องเลือกแนวทางที่สมดุลกับตัวเอง “เราเองคงไม่ถึงขั้นใช้แอปวัดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ตัวเองหรือบริษัท มันเหมือนการกินแพลนต์ เบส ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป๊ะทุกมื้อ หรือไปกินข้าวกับเพื่อนจะนั่งกับเพื่อนที่กินเนื้อไม่ได้ หรือคอยบอกว่าฉันไม่กินเนื้อนะ เวลาไปทานข้างนอกผมไม่ทานผัก เพราะไม่ไว้ใจผัก เนื้อผมก็กินไม่ได้ ผักก็ไม่ปลอดภัย ผมก็ไม่ต้องกินอะไรพอดี”

ชีวิตจริงต้องยืดหยุ่น ถ้าพยามทำให้ทุกอย่างเป๊ะจะไม่ใช่ความสมดุลในชีวิต ซึ่งพี่โพเห็นด้วยกับ “หนูดี” ที่บอกว่า การใช้ชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ยาก ถ้ามีการปรับโครงสร้างทั้งระบบ ในปัจจุบันถ้าจะใช้ชีวิตโดยไม่ทำลายโลกเป็นการฝืนโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มาจากระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ แม้แต่ GDP (อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) ที่ทุกรัฐบาลทั่วโลกใฝ่ฝันว่าต้องเพิ่มต้องโต GDP ก็คือการย่อยทรัพยากรธรรมชาติมาเป็น GDP โดยหนูดีย้ำว่า นี่ไม่ใช่คำพูดของเธอ แต่เป็นคำพูดของ โจน จันใด ซึ่งพี่โพพยักหน้าและเห็นด้วยกับเรื่องนี้

“เป้าหมายของรัฐบาลทั่วโลก คือ GDP โต ๆ ๆ หมายความว่าทุกปีทรัพยากรจะถูกย่อยมากขึ้น ๆ ๆ ซึ่งทรัพยากรมีจำกัด คุณไม่สามารถที่จะโตขึ้นไปได้ จะมีไม่พอให้โต แต่ตอนนี้รัฐบาลใช้ GDP เป็นมาตรวัดความเจริญวัดความมั่งคั่ง ทุกครั้งที่ GDP โตคือทรัพยากรที่หายไป และชดเชยกลับมาไม่ได้ เป็นอะไรที่เรากังวลมาก ถ้าจะให้ดีคุณต้องวัดกันที่ Green GDP ที่มาจากการสร้างรายได้ที่มีความยั่งยืน ผมมองว่าถ้ารัฐบาลเปลี่ยนมาตรวัดมาเป็น Green GDP และพยายามทำให้ตัวนี้มันโต แทนที่ใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน อนาคตอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่เร็วพอ” ดอกเตอร์พสุธ ย้ำหลักคิดของตัวเอง

วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับวิกฤต มวลมนุษยชาติต้องมีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาที่ทุกคนมีส่วนสร้างขึ้น อย่างน้อยที่สุดเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองในวิถีที่สมดุล เหมาะสม เพื่อให้ทุกพลังมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้ใกล้เคียงความเป็นจริง

  • What Is An Introvert? Types And Traits. Retrieved Apr 13, 2024, from https://www.forbes.com/health/mind/what-is-an-introvert/
  • ดร.พสุธ รัตนบรรณางกูร และ หนูดี – วนิษา เรซ, สัมภาษณ์, 17 มีนาคม 2567

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่