6 โจทย์ท้าทาย ประเด็นสิ่งแวดล้อมปี 65 อากาศแย่ไฟป่ามา..ขยะล้น?

ประเด็นที่ 1- ฝุ่น PM2.5 มลพิษอากาศประจำปีในหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน, พื้นที่ กทม. และปริมณฑล ณ เวลานี้ยังไม่รุนแรง แนวทางรับมือล่าสุดที่ประชุม ครม. 28 ธ.ค. 64 มีมติรับทราบร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 65 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามร่างแผนเฉพาะกิจฯ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ซึ่งก่อนหน้านี้ฝุ่นเริ่มเกินค่ามาตรฐานบ้างแล้วในหลายเขตของ กทม.

มาตรการรับมือที่ว่าก็คือแผน “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ” ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบไปเมื่อ 17 ธ.ค. 64 คำถามก็คือแผนนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างไร มีเครื่องมืออะไรใหม่โดยเฉพาะการลดฝุ่นใน กทม. และทีเด็ดของภาครัฐคืออะไร ประชาชนไม่ค่อยมั่นใจมากนัก โดยเฉพาะภาคเหนือที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม “วราวุธ ศิลปอาชา” คิกออฟการแก้ฝุ่นควันไฟป่าภาคเหนือโดยจะเน้น “ชิงเก็บ ลดเผา” ตั้งเป้าเก็บเชื้อเพลิง 3,000 ตัน ไปเมื่อ 10 ธ.ค. 64 แล้วก็ตาม

การรายงานสถานการณ์ฝุ่นผ่านแอป “เช็คฝุ่น” ณ 4 ม.ค. 65

ถ้ากล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้แผนดังกล่าวยังมีช่องโหว่อีกมาก ตั้งแต่ประเด็นแรกคือ “1 สื่อสาร” ที่ระบุไว้ว่า “เพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า” (หน่วยงานที่ต้องรับไปดำเนินการคือ กระทรวงมหาดไทย (มท.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.), สำนักนายกรัฐมนตรี, ทส., สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.))

แผนนี้กล่าวได้ว่า มีความพยายามมากขึ้นกว่าปีที่แล้วอยู่บ้าง มีแมสแสจถูกส่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เช่น สสส.ที่เกาะติดประเด็นฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง มีการขับเคลื่อนร่วมกับหลายภาคี ทว่าหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยก็ยังเงอะงะเก้ ๆ กัง ๆ ไม่ถนัดบทบาท “การสื่อสาร” เท่าที่ควร ไม่เห็นการกระตุกการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมหาดไทยที่ดูแลท้องถิ่นต้องแอคชั่นมากกว่านี้ ส่วนการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าผ่านแอปก็ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงเทคโนโลยีว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมีหลายแอป เช่น เช็คฝุ่น, air4Thai, sensor for all ฯลฯ

ต่อมา “5 ป้องกัน” ประกอบด้วย )
1) ให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองบรรจุในแผน ปภ.จังหวัด (มท.) ขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการเก็บขน (ชิงเก็บ ลดเผา) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน พื้นที่ริมทาง และประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Burn Check) (มท./ ทส./ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)/ กระทรวงคมนาคม (คค.)/ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)) ต้องรอติดตามว่าถ้า ปภ.จังหวัดระบุแผนแล้วผลจะเป็นอย่างไร ประชาชนแต่ละหมู่บ้านและละชุมชนจะลงทะเบียนขออนุญาตเผาผ่านแอป Burn Check หรือไม่

2) ขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการเก็บขน (ชิงเก็บ ลดเผา) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน พื้นที่ริมทาง และประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Burn Check) (มท./ ทส./ กษ./ คค./ อว.) ปัญหาของนโยบายชิงเก็บลดเผาก็คือชาวบ้านเก็บมาแล้วไม่มีคนรับซื้อ การเก็บใบไม้ในพื้นที่ป่าของรัฐถือว่าผิดกฎหมาย และพื้นที่ป่ากว้างใหญ่ไพศาลมากไม่มีทางจะลดเชื้อเพลิงด้วยวิธีการนี้ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

3) เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่าภายใต้ ศอญ. จิตอาสาพระราชทาน (ทส./ มท.) เอาเข้าจริงการปลูกก็ทำกันมานาน แต่หลายพื้นที่ก็ไม่ค่อยจะเห็นผลมากนัก เช่น โครงการ “รวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว” ภายในอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน และมี ฌอน บูรณะหิรัญ ไปร่วมกิจกรรมจนเกิดดราม่าก่อนหน้านี้

4) สร้างเครือข่ายและอาสาสมัคร เพื่อสนับสนุนการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง (มท./ ทส./กษ.) กรณีอาสาสมัครนั้นมีทุกพื้นที่ แต่ปัญหาคือภาครัฐไม่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ขณะที่การถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าจากกรมป่าไม้ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากปี 2547 ถึงปัจจุบันมีจำนวน 2,542 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ป่า 42,231,775 ไร่ (ข้อมูลเดโช ไชยทัพ)

5) สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือกเพื่อลดปัญหา PM2.5 (กระทรวงพลังงาน/ มท./คค./ กทม./ กษ.) ข้อนี้เป็นนโยบายที่ล่าช้าและมีความคืบหน้าน้อยมาก

สำหรับ “3 เผชิญเหตุ” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดและปริมาณฝุ่นละอองไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน ประกอบด้วย

1) เพิ่มความเข้มงวดควบคุมมลพิษจากหล่งกำเนิด ทั้งจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม ในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม (คค./ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)/ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)/ กทม.) ประเด็นนี้พูดกันมาทุกปีแต่ไม่เคยทำได้จริง เช่น การปรับมาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 5, 6 ต้องรอถึงปี 67 การเผาซังนาข้าว ยกเว้นตั้งด่านจับรถควันดำตามฤดูกาลฝุ่น เช่น ในพื้นที่ กทม. ซึ่งทำกันเป็นอีเวนต์แต่ไม่มีความยั่งยืน

2) เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติ (ทส./ มท./ สตช.) ข้อนี้ไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรการและการดำเนินการ เพราะรัฐทราบดีว่าไฟป่าเกิดในพื้นที่ป่าของรัฐมากที่สุด (ข้อมูลจิสด้าปี 2563 chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/viewer.html?pdfurl=https%3A%2F%2Ffire.gistda.or.th%2Ffire_report%2FFire_2563.pdf&clen=18087258&chunk=true) และเมื่อไปดูสถิติย้อนหลังก็ยังไม่ลดลง

3) กำหนดตัวชี้วัดร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และขยายหมู่บ้านคู่ขนานชายแดนภายใต้กรอบคณะกรรมการชายแดน (ทส./ กระทรวงกลาโหม (กห.)) ข้อนี้ไม่มีรูปธรรม แม้การพูดคุยกับชาติอาเซียนล่าสุดตั้งเป้าลดจุดความร้อนลงร้อยละ 20

ประเด็นที่ 2 – ขยะพลาสติกล้นเมือง โรดแมปจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 ตามไทม์ไลน์ภายในปี 65 กำหนดจะเลิกใช้ถุงหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก ส่วนก่อนนี้ปี 62 กำหนดให้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (cap seal) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมของสารออกโซ (oxo) และไมโครบีด (microbead) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วโดยเฉพาะ cap seal แต่ยังมีข้อกังขาเรื่องการควบคุมการผสมสาร oxo ที่อาจจะไม่โปร่งใส หรือมีการลักสอบผสมสารดังกล่าวอยู่

สำหรับปีนี้จะเห็นได้ว่าช่วงการระบาดของโควิดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นมากและดูเหมือนมาตรการการจัดการขยะพลาสติกแผ่วลง (ต้องใช้พลาสติกเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ) ซึ่งตามมติ ครม. เมื่อ 15 ก.พ. 64 ได้เห็นชอบตามที่ ทส. เสนอนั่นคือเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) เพื่อขับเคลื่อนตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573

ตามมติดังกล่าวจะยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ประเภท แบบร้อยละ 100 ในปี 65 ประกอบด้วย
X ถุงพลาสติกหูหิ้ว แบบบาง ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
X กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม
X แก้วพลาสติกบาง แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน
X หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น

นอกจากนี้ นำพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำกลับมาใช้ใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปี 65 ประกอบด้วย
X ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบหนา
X บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว
X ขวดพลาสติกทุกชนิด
X ฝาขวด
X แก้วพลาสติก
X ถาด และกล่องอาหาร
X ช้อน ส้อม มีดพลาสติก

ในปีฐาน พ.ศ. 2562 รวมการใช้พลาสติก 7 ประเภทอยู่ที่ 1,341,668 ตัน เป้าหมายนำกลับไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 หรืออยู่ที่ 670,834 ตัน นอกจากนั้นจะนำมาหมุนให้ได้ร้อยละ 100 ในปี 70 ซึ่งพิจารณาในภาพรวมดูเหมือนมาตรการทั้งหมดนี้จะยังไม่คืบหน้ามาก ยกเว้นการงดแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ

แผนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา

ประเด็นที่ 3 – การสร้างนิคมอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดซึ่งถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านและขึ้นมาปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ล่าสุด ครม.ได้มีมติให้ทบทวนโดยให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) คือ โครงการสร้างอุตสาหกรรมจะนะ หรือ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมโดยล่าสสุดก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งต้องรอดูการทำ SEA ว่าจะออกมาอย่างไรและรัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการหรือไม่

อีกโครงการคือ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 1 ของบริษัท เออีซี โซล่าร์ พื้นที่ 57 ไร่ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 2 ของบริษัท ไบโอเพาเวอร์ แพลนท์ พื้นที่ 47 ไร่ ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน ทำให้ชาวนาบอนออกมาคัดค้านและ ครม.ได้มีมติให้ทำ SEA เช่นกัน

ที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ประเด็นที่ 4 – การผลักดันการก่อสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเมื่อ 1 ก.ย. 64 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ 20 องค์กร ได้ยื่นหนังสือคัดค้านถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้ทบทวนโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่า ซึ่งมีอย่างน้อย 7 แห่ง

ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จ.นครนายก โครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ โครงการอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด โครงการอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว ซึ่งแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่ง อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 5 แห่ง พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 1 แห่ง และพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา 1 แห่ง

แผนที่แนวอุโมงค์ส่งน้ำส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำยวม (ที่มา: ประชาไท)

ประเด็นที่ 5 – โครงการผันน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก โครงการนี้กรมชลประทานจะสร้างเขื่อนในแม่น้ำยวมเหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางด้านเหนือน้ำประมาณ 13.8 กิโลเมตร ที่บ้านแม่ละนา ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ความจุประมาณ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะผันน้ำประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ผ่านอุโมงค์น้ำขนาดขนาด 8.1-8.3 เมตร ยาว 62 กิโลเมตรลอดภูเขา มาลงที่เขื่อนภูมิพล รวมถึงปรับปรุงลำน้ำแม่งูด ระยะทางราว 2 กิโลเมตร

เป้าหมายคือจะใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า, แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อปลูกพืชในฤดูแล้ง จำนวน 1.6 ล้านไร่ บางส่วนนำมาทำประปา ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการทั้งหมด 9 ปี รวมมูลค่าโครงการประมาณ 71,110 ล้านบาท

สถานะของโครงการ เมื่อ 8 ก.ค. 64 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ลงมติเห็นชอบการจัดทำอีไอเอโครงการแล้วเมื่อการประชุมครั้งที่ 19/2564 เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป และ กก.วล. ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานได้เห็นชอบเมื่อ 15 ก.ย. 64 และมีเครือข่ายภาคประชาชน จ.แม่ฮ่องสอน แถลงการณ์คัดค้านในเวลาต่อมา

เส้นทางคลองไทยแนว 9A (ที่มา: แนวหน้า)

ประเด็นที่ 6 – โครงการขุดคลองไทย (โครงการขุดคอคอดกระเดิม) โครงการขุดคลองไทยเป็นตัดแบ่งแผ่นดินภาคใต้ และเชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อเป็นช่องทางสัญจรทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ข้อมูลระบุว่า คลองไทยผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีความยาว 135 กม.

ทั้งนี้ สภาผู้แทนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาขุดคลองไทย เส้น 9 A ผ่าน 5 จังหวัด เมื่อ 16 ม.ค. 63 เริ่มจากเกาะลันตา จ.กระบี่ และปากเมง อ.สิเกา จ.ตรัง ผ่าน อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา จ.ตรัง เข้าเขต จ.นครศรีธรรมราช ที่ อ.ทุ่งสง อ.ชะอวด ผ่านเข้า จ.พัทลุง ที่ อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน ทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และตัดออกทะเลอ่าวไทยที่คลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา รวม 8 อำเภอ 24 ตำบล 94 หมู่บ้าน

ถือเป็นความเคลื่อนไหวขุดคลองไทยที่คึกคักมากที่สุดในสมัยรัฐบาลประยุทธ์เมื่อเทียบกับอดีต โดยมีสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนาคอยผลักดัน รวมทั้งมี สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านออกตัวสนับสนุนกันอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จาก ม.เกษตรฯ ระบุว่า การศึกษาโครงการนี้ไม่ได้มีแค่คลองไทย แต่คณะประมง ม.เกษตรฯ สนับสนุนโดย สวทช. กรมทรัพยากรทางทะเล และกรมอุทยานฯ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IUCN ได้ศึกษาระบบนิเวศปากคลองไทยฝั่งอันดามันซึ่งจะเสร็จต้นปี 65 เบื้องต้นพบว่ามีการพบสิ่งมีชีวิตเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลเดิมของ สผ. บางชนิดเป็นสัตว์ที่พบเป็นครั้งแรกในไทย

นอกจากนี้มีสัตว์ทะเลหายากจากข้อมูลจากกรมทะเลระบุว่า พบในพื้นที่ 19 ชนิดจาก 28 ชนิดของไทย โดยพบสัตว์ที่ IUCN จัดให้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) 2 ชนิด มีรายงานสัตว์สงวนทางทะเลในพื้นที่ 4 ชนิดจาก 5 ชนิดของไทย ฯลฯ

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย