ผลพลอยได้ที่จะตามมาจากการสร้าง “สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา” ไปยัง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จะเป็น “แลนด์มาร์คแห่งใหม่” ให้กับภาคใต้ หรือเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงทำให้ “โลมาอิรวดีน้ำจืด” 14 ตัวสุดท้ายแห่งทะเลสาบสงขลาหายไปเร็วขึ้น – ประเด็นไหนมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน นี่คือคำถาม
ประเด็นแรก รัฐบาลจะต้องตอบคำถามนี้ให้ชัด โดยเฉพาะรัฐมนตรีคมนาคม เพราะเอาเข้าจริงพื้นที่ทรัพยากรทางทะเลภาคใต้ของประเทศทั้งหมดนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ธรรมชาติให้มาและมีมูลค่ามหาศาล ใช้ไปก็ชาติก็แทบไม่มีวันหมด (ถ้าไม่ปู้ยี่ปู้ย้ำจากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากจนเกินไป)
โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลานั้นถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบ และจังหวัดที่คาบเกี่ยวกัน หากปรารถนาดีจะพัฒนาให้สงขลาและพัทลุงน่าอยู่มากกว่าเดิม ประชาชนมีรายได้มากกว่าเดิม ก็ควรทุ่มงบประมาณเพื่อดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่เข้มข้นหรือ soft power มาก่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ทุ่มงบฯ เพื่อการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ลดปัจจัยคุกคามระบบนิเวศหรือวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของจังหวัด
ทั้งข้าวปลาหารและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นถือเป็นจุดขายของสงขลาและพัทลุง เรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนก่อสร้างวัตถุใดๆ ให้เป็นแลนด์มาร์คเพิ่มเติมอีกด้วยซ้ำ
ในขณะที่ประเด็น “โลมาอิรวดี” ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตจากเอ็นจีโอในพื้นที่และนักวิชาการ กล่าวตรงไปตรงมาว่า เหตุที่โลมาน้ำจืดแห่งทะเลสาบสงขลาลดลงเหลือแค่ 14 ตัวสุดท้าย ก็เพราะที่ผ่านมาพวกมันถูกคุกคามมาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการประมงเกินขนาด ถ้าจะก่อสร้างสิ่งแปลกปลอมยื่นลงไปในทะเลอีกก็ไม่แปลกที่ระบบนิเวศอาจได้รับผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเพิ่มเติม (ปัจจุบันมีสะพานติณสูลานนท์เชื่อมเกาะยอระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจาย อ.เมืองสงขลา และบ้านเขาเขียว อ.สิงหนคร รวมความยาวสะพาน 2 ช่วง 2,640 เมตรและทางข้ามทะเลอีกเส้นคือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ หรือสะพานเอกชัย ความยาว 5.5 กิโลเมตร ข้ามทะเลสาบระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ อ.ระโนด จ.สงขลา
ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา – ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท จึงมีคำถามตามมาว่า จำเป็นต้องสร้างความโดดเด่นเพิ่มเติมให้กับเมืองสงขลาโดยลงทุนใช้สะพานเชื่อมเป็นแลนด์มาร์คจริงหรือไม่ (อีกโครงการอนุมัติก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง–ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ วงเงิน 1,854 ล้านบาท)
หรือควรใช้วงเงินงบประมาณรวมทั้งจากสองโครงการจำนวน 6,695 ล้านบาท ไปใช้เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลที่ทรุดโทรมให้ฟื้นคืนสภาพที่สมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง เช่น ปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดโรงงานอุตสาหกรรม หรือปัญหาขยะทะเลที่เกิดจากการท่องเที่ยวเกินขนาดในทะเลกระบี่ หรือจากปัจจัยอื่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงขลามีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุง เพียงแต่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่เห็นการณ์ไกลต่อความเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ไม่ละโมบใช้ทรัพยากรอย่างเห็นแก่ได้ ขณะที่กระบี่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศซึ่งควรต้องได้รับการดูแลมากกว่าการสร้างสะพานเชื่อมเกาะ
ดังนั้น คนในรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงสิ่งแวดล้อม หากจะพูดถึงโลมาอิรวดีก็ควรพูดให้เต็มปากว่า เห็นความสำคัญของสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก และลงมือจะทำอะไรให้ดีกว่าเดิม อย่าพูดเอากระแส หรือสวมบทบาทนักอนุรักษ์เท่ๆ แต่ไม่ได้แอคชั่นอะไรที่เป็นรูปธรรม
พี่น้องชาวสงขลา พัทลุง และกระบี่ คงไม่ได้ต้องการวัตถุสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่จะสร้างสิ่งแปลกปลอมและทำลายทรัพยากรที่มีให้หมดคุณค่าลง พวกเขาคงอยากเห็นความตรงไปตรงมาของนักการเมืองที่จริงใจต่อคนภาคใต้มากกว่า
ขอบคุณภาพ: จิรายุ เอกกุล