ครม.อนุมัติแผน NDC ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 222.3 ล้านตันคาร์บอน หรือร้อยละ 40 ภายในปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564 -2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021 – 2030) หรือ NDC ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ โดยแผนปฏิบัติการฯ นี้มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 222.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี 2573 ใน 5 สาขา
แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1) การดำเนินการในประเทศ จำนวน 184.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) หรือร้อยละ 33.3 ประกอบด้วย สาขาพลังงาน จำนวน 124.6 MtCO2eq สาขาคมนาคมขนส่ง 45.6 MtCO2eq สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม 9.1 MtCO2eq สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 1.4 MtCO2eq และสาขาเกษตร 4.1 MtCO2eq
2) กรณีได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ จำนวน 37.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ ร้อยละ 6.7 และ 3) กรณีการใช้กลไกบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ สูงสุดไม่เกินร้อยละ 3 โดยไม่ให้เกิดภาระต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการฉบับนี้
สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 ประกอบด้วย 5 แนวทางการพัฒนา 17 แผนงาน 140 มาตรการ ได้แก่ แนวทางการพัฒนาที่ 1 ขับเคลื่อนและติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รายสาขา (4 แผนงาน 76 มาตรการ) แนวทางการพัฒนาที่ 2 พัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือและกลไกในการสนับสนุน การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (4 แผนงาน 25 มาตรการ)
แนวทางการพัฒนาที่ 3 เสริมสร้างศักยภาพ การมีส่วนร่วม และเครือข่ายความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (4 แผนงาน 16 มาตรการ) แนวทางการพัฒนาที่ 4 เตรียมความพร้อมการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศ (3 แผนงาน 17 มาตรการ)
และแนวทางการพัฒนาที่ 5 ส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือด้านการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่าง ประเทศ (2 แผนงาน 6 มาตรการ) นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในแต่ละสาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สาขาคมนาคมขนส่ง โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สาขาการจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยกรมควบคุมมลพิษ สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสาขาเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ดร.เฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกฯ จะช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีองค์ความรู้ และงบประมาณจากต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 ตามที่ได้ประกาศไว้ต่อประชาคมโลก