เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

Cr.ภาพ: cop29 Azerbaijan

COP29 ไทยจะรายงานความคืบหน้า NDC ที่คาดว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย และ +3% จากกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ

การประชุม COP29 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 จะมีการรายงานความคืบหน้า NDC ของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากกับประเทศไทย นั่นเพราะเป็นการบ่งบอกถึงความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก และแผนปรับตัวการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจะนำไปสู่การปรับเป้าหมายใหม่ที่จะนำเสนอในการประชุม COP30 ที่ประเทศบราซิลในปี พ.ศ.2568

NDC คืออะไร?
NDCs หรือ Nationally Determined Contributions คือการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เป็นเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศตั้งขึ้น โดยไทยได้ส่ง NDC ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (NDC 2.0) ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 โดยเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 30 จากกรณีปกติ (BAU) จากการดำเนินงานภายในประเทศ และจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 40 จากกรณีปกติ (BAU) โดยขึ้นอยู่กับการเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพ อีกทั้งจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 (1)

ในการเข้าร่วมประชุม COP29 ไทยจะรายงานความคืบหน้าที่คาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) และ +3% จากกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ (2)

กระบวนการเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง NDC เป็นส่วนสำคัญของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี เพื่อเพิ่มความมุ่งมั่นในระยะยาว โดยแต่ละประเทศต้องแสดงการมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งครอบคลุมทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก และการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (3)

เมื่อปี 2565 สิ้นสุดแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) จากข้อมูลปี 2563 (ค.ศ. 2020) ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 56.54 MtCO2eq คิดเป็น 15.4% ซึ่งบรรลุเป้าหมาย NAMA ที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลกที่จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7-20% จากกรณีปกติ (BAU) (4)

สำหรับแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศหลังปี 2563 ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ซึ่งได้นำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอน ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้ (5)

เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศรายสาขา ที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 222 MtCO2eq หรือ 40% จากกรณีปกติ ภายในปี 2573 แบ่งเป็นการดำเนินงานภายในประเทศ 33.3% และต้องการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 6.7% ซึ่งแผนดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง 17 แผนงาน 130 มาตรการ (5)

อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2568 ประเทศไทยมีแผนจะส่งเป้าหมาย NDC ฉบับใหม่ (NDC3.0) ซึ่งครอบคลุมช่วงปี 2574-2578 เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไทยต้องการการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีจากนานาชาติ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (4)

ประเทศไทยมุ่งมั่นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งพัฒนามาตรการสนับสนุนและสิ่งจูงใจ เช่น มาตรการภาษีและการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่าง ๆ และยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยการจะบรรลุ Net Zero ได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการพัฒนากลไกสนับสนุนอย่างเหมาะสม ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ (4)

การบรรลุเป้าหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดของประเทศ การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยในปี 2562 ไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 373 MtCO2eq ซึ่งภาคพลังงานและขนส่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 1 ประมาณ 260 MtCO2eq คิดเป็น 70% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รองลงมาเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) และภาคของเสีย ขณะที่ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 92 MtCO2eq ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนในพลังงานทดแทน รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น (4)

การประชุม COP29 นี้ ไทยจะต้องนำเสนอแผนปฏิบัติการใหม่ที่ท้าทายยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระดับโลก โดยการประชุมในครั้งนี้จะเน้นการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความเท่าเทียมในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน (4)

จะเห็นได้ว่า NDC ของแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทั่วโลกสามารถติดตามความก้าวหน้าของการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ NDC ยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบของแต่ละประเทศในการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งภายในปี 2573 โลกต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงกลางศตวรรษ โดยเป้าหมายใหม่ที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องส่งในปี 2568 เป็นเป้าหมายปี 2578 (NDC 3.0) ที่จะต้องเข้มข้นขึ้นจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซได้ทันหรือไม่ (6)

สถาบันทรัพยากรโลก (WRI) ชี้แนะให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุความสำเร็จใน NDC ฉบับใหม่ โดยให้มุ่งเน้นการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซที่สอดคล้องกับเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ เร่งการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนสำคัญ สร้างความเข้มแข็งให้ทุกระบบ เพิ่มการลงทุนในโซลูชั่นพลังงานคาร์บอนต่ำ และการปรับตัว ตลอดจนให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน หากประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามแนวทางนี้ใน NDC ใหม่ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แล้ว ยังจะนำโลกไปสู่อนาคตที่สะอาด ปลอดภัย และการมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน (7)

อ้างอิง:
(1) https://www.wri.org/…/nationally-determined…
(2)https://www.facebook.com/dcceth/posts/965062752316814
(3) https://unfccc.int/…/nationally-determined…
(4) สรุปข้อมูลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ข้อมูล ณ 16 กันยายน 2567 โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
(5) https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/607648
(6) https://www.wri.org/…/cop29-climate-summit-what-to-expect
(7) https://www.wri.org/ndcs

Related posts

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน