อัปเดตการฟื้นตัวธรรมชาติ เต่าทะเลวางไข่มากขึ้น-พะยูนเพิ่ม เร่งผสมเทียมโลมาทะเลสาบสงขลา

เครดิตภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานฯ ทางทะเลจังหวัดภูเก็ต

สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในช่วง 3 ปที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทั้งโลมา ฉลาม วาฬ และฉลามวาฬ รวมถึงเต่าทะเลที่มีการวางไข่เพิ่มขึ้นล่าสุดมี 502 รัง พะยูนเพิ่มขึ้นเป็น 255 ตัว เร่งศึกษาการผสมเทียมโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลากับแหล่งอื่นเพื่อรักษาสายพันธุ์ 14 ตัวสุดท้ายที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อัปเดตถานการณ์และผลการดำเนินงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า แนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ 52% ป่าชายเลนคงสภาพกว่า 1.7 ล้านไร่ 

นอกจากนี้ มีการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้นทั้งโลมา ฉลาม วาฬ และฉลามวาฬ รวมถึงเต่าทะเลที่มีการวางไข่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จาก 373 รัง ถึงปีล่าสุดมีจำนวน 502 รัง ด้านพะยูนหลังจากเหตุการณ์สูญเสีย “น้องมาเรียม” เมื่อปี 2562 ทำให้เกิดแผนแม่บท “มาเรียมโปรเจกต์” ในการอนุรักษ์พะยูนโดยมีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นจาก 221 ตัว เป็น 255 ตัว 

สำหรับโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลาซึ่งตกอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากการรักษาสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารแล้ว การผสมพันธุ์แบบเลือดชิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลมาตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงจากปัญหาสุขภาพ 

ทั้งนี้ ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งศึกษาแนวทางการผสมเทียมกับโลมาอิรวดีจากแหล่งอื่น เพื่อรักษาสายพันธุ์โลมาอิรวดีฝูงนี้ไว้ ควบคู่กับแผนระยะสั้นที่ให้ดูแลความปลอดภัยโลมาอิรวดี 14 ตัวที่เหลืออยู่ 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ทะเลสาบสงขลาคือสถานที่แห่งแรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ โดยขณะนี้เหลืออยู่เพียง 14 ตัว จากเดิมที่เคยมีอยู่ 100 กว่าตัว โลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว พม่า 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว และไทย 14 ตัว

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด