หนามยอกเอาหนามบ่ง เมื่อลาวใช้ระบบนิเวศเอาชนะภัยโลกร้อน

ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน พ.ศ. 2561 เกิดอุทกภัยยืดเยื้อใน สปป. ลาว จากฤทธิ์ของพายุไต้ฝุ่นเซินติญและเบบินกา ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ใน 55 เมือง 13 แขวง (จากทั้งหมด 18 แขวง) ในช่วงที่เกิดอุทกภัยไปทั่วประเทศยังมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น โดยในคืนวันที่ 23-24 กรกฎาคม เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยที่แขวางจำปาสักไม่สามารถรับน้ำได้ จนเขื่อนแตกและน้ำท่วมฉับพลันในแขวงอัตตะปือที่อยู่ใกล้เคียง มีผู้เสียชีวิต 27 ราย สูญหายอย่างน้อย 130 ราย และประชาชน 6,600 คน ต้องพลัดถิ่น

จากการประเมินโดยองค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และกองทุนโลกเพื่อลดความเสี่ยงและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ (GFDRR) พบว่า ผลกระทบของอุทกภัยต่อเศรษฐกิจในประเทศลาวมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3,166.99 พันล้านกีบลาวหรือประมาณ 371.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2561 ยังเท่ากับ 10% ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศในปีเดียวกัน (1)

ลาวเป็นประเทศยากจนที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะปรับตัวให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก เพราะในปี 2562 องค์กรระหว่างประเทศได้เข้ามาช่วยลาวรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนของสภาพแวดล้อม โดยริเริ่มโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ใช้งบประมาณไม่มาก แต่ให้ผลลัพธ์สูง ทั้งยังเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนวิธีในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่แก่โครงการภูมิอากาศต่าง ๆ ได้อนุมัติงบประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับโครงการการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีตามธรรมชาติในสี่เมืองของลาว วิธีการนี้จะช่วยรับมือน้ำท่วมที่หนักหน่วงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โครงการดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่สำคัญ (paradigm shift) ของการจัดการน้ำท่วมในเขตเมืองของลาว จากเดิมที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสิ่งก่อสร้าง เช่น การสร้างเขื่อนรับมือกับน้ำท่วม นับจากนี้ลาวจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาตามธรรมชาติแบบบูรณาการ ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ 9,375 ไร่ (1,500 เฮกตาร์) ในเขตเมืองและระบบนิเวศลำธารเพื่อควบคุมการไหลของน้ำ (2)

โครงการนี้มีระยะเวลา 5 ปีจะดำเนินการโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว ได้รับการสนับสนุนจาก UNEP ซึ่งคาดว่าประชาชนชาวลาวถึง 10% ของประชากรทั้งประเทศจะได้รับประโยชน์

เจสสิกา โทรนี (Jessica Troni) หัวหน้าหน่วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNEP กล่าวว่า ระบบนิเวศคอยช่วยพยุงวิถีชีวิตของผู้คนแม้แต่ผู้คนในเขตเมือง การฟื้นฟูและคุ้มครองพื้นป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำที่กว้างใหญ่ในเขตเมือง จะทำให้เราสามารถเพิ่มการแทรกซึมน้ำลงสู่พื้นดิน ควบคุมการไหลของน้ำในลำธารและแม่น้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมน้อยลงและมีความรุนแรงน้อยลง

“โครงการนี้ให้ตัวอย่างที่ทรงพลังแก่เราว่า ธรรมชาตินั้นได้ช่วยให้ทางออกแก่เราในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร” โทรนี กล่าวเสริม

การใช้ธรรมชาติเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ เรียกว่า การปรับตัวที่อิงกับระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA)

EbA คือ การใช้ความได้เปรียบจากความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการช่วยให้ผู้คนปรับตัวเข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น ช่วยเป็นตัวกันชนไม่ให้ประชากรได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มนุษย์ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืนไปด้วย เพราะแต่เดิมนั้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เช่น การเพาะปลูกทำให้เกิดความเสื่อมของระบบนิเวศ ทำให้ธรรมชาติช่วยดูดซับผลกระทบจากน้ำท่วมได้น้อยลง

ดังนั้น EbA จะทำการประเมินแนวผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและออกแบบแนวทางการปรับตัว แล้วทำการสกัดผลกระทบในอนาคตเพื่อปกป้องประชาชน (3)

ผลที่ได้คือ “บริการตามธรรมชาติ” (natural services) หรือการที่ธรรมชาติให้บริการช่วยเหลือเพื่อปกป้องมนุษยชาติจากภาวะโลกร้อนนั่นเอง

สำหรับโครงการที่ลาวดำเนินการนี้ถือเป็นการริเริ่มใหม่ ๆ ใน 2 เรื่อง คือ 1. เป็นโครงการ EbA แห่งแรกในเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจาก GCF และเป็นโครงการ EbA ที่ใหญ่ที่สุดในลาว

โครงการที่ลาวทำได้สร้างแบบจำลองความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและมีการปรึกษาหารือกับสถาบันการวางแผนในประเทศลาว ซึ่งพบว่าพื้นที่ในเมืองเวียงจันทน์ และปากซัน, สะหวันนะเขตและปากเซ มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

สำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศของโครงการนี้จะดำเนินการโดยใช้สิ่งมีชีวิตที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในระยะยาว การฟื้นฟูนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำปากซัน จะมีประโยชน์เพิ่มเติมในการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับปรุงที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง และปลายี่สกซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ไซอัมพอน แสงจันดาลา (Syamphone Sengchandala) รองอธิบดีกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป. ลาว กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลาวก่อให้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในเขตเมือง  แต่โครงการนี้มอบความหวังสำหรับอนาคต โดยนำธรรมชาติมาเป็นเครื่องป้องกันสภาพอากาศที่สุดขั้ว และยังเป็นก้าวสำคัญทำให้เราเรียนรู้การให้บริการตามธรรมชาติ

ไซอัมพอน ยังกล่าวด้วยว่า “การสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียวมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อและทันเวลาสำหรับการแก้ไขผลกระทบจากสภาพอากาศเหล่านี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการปรับตัวจากโครงสร้างพื้นฐานสีเทาเป็นสีเขียวถือเป็นโอกาสที่ดีในการดำเนินการที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัยในเมืองต่าง ๆ ของเราในประทศลาว”

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานสีเทา (Grey infrastructure) หมายถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มนุษย์สร้างขึ้นสำหรับทรัพยากรน้ำและน้ำเสีย เช่น โรงบำบัดน้ำเสียท่อและอ่างเก็บน้ำ เป็นวิธีการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure) หมายถึงการใช้ยุทธศาสตร์เครือข่ายพื้นที่ธรรมชาติ, ภูมิทัศน์และพื้นที่เปิดโล่งอื่น ๆ เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศและใช้ประโยชน์ต่อประชากรมนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีการจัดการน้ำที่เป็นธรรมชาติและมีการกระจายอำนาจอีกด้วย (4)

ในระยะหลังมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ยืนยันว่า แนวทางแก้ปัญหาด้วยวิธี EbA หรือโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสิ่งก่อสร้าง หรือโครงสร้างพื้นฐานสีเทา

นั่นหมายถึง สปป. ลาว ได้เลือกวิธีการที่ถูกทางสำหรับการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต

อ้างอิง

  1. ReliefWeb. (31 December 2018) “Post-disaster needs assessment 2018 floods, Lao PDR”. Retrieved 21-11-2019. https://reliefweb.int/report/lao-peoples-democratic-republic/post-disaster-needs-assessment-2018-floods-lao-pdr-enlo
  2. UNEP. (13 November 2019). “Major new project to use nature-based solutions to help Laos adapt to climate change”. Retrieved 21-11-2019. https://www.unenvironment.org/news-and-stories/press-release/major-new-project-use-nature-based-solutions-help-laos-adapt-climate?fbclid=IwAR1EnhZxMRMbVQyaX30tJZ0IXvz2XrQIGMf9bNnLhW-IaI-Sy52j15jIDcY
  3. UNEP. “Introduction to EbA”. Retrieved 21-11-2019. https://www.unenvironment.org/explore-topics/climate-change/what-we-do/climate-adaptation/ecosystem-based-adaptation
  4. Alberta WaterPortal. “Introduction to green infrastructure and grey infrastructure”. Retrieved 21-11-2019. https://albertawater.com/green-vs-grey-infrastructure

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน