NASA เตือนโลกเผชิญหายนะภัย ปี 66 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เตือนว่า สถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นระหว่างเดือน ก.พ. ถึง เม.ย. 2567 จะสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ที่สุด และมีโอกาส 50% ที่ปีนี้จะเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และคาดการณ์ว่าในปีถัดไปจะร้อนยิ่งกว่าเดิมอีก

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐ รายงานว่า วันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นวันที่โลกร้อนที่สุดตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 17.01 องศาเซลเซียส ทุบสถิติเดิมเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ที่ 16.92 องศาเซลเซียส

ด้านศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 16.96 องศาเซลเซียส ถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือน ก.ค. ระหว่างปี 2534-2563 ราว 0.72 องศาเซลเซียส

ทำให้หลายพื้นที่ในยุโรป แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชีย ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสภาพอากาศร้อนจัด ส่วนทวีปอเมริกาใต้ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอนตาร์กติกา มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงฤดูหนาวปีนี้

อุณหภูมิของโลกที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้มีปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นตัวเร่ง ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอีก 1.5 ปีข้างหน้า จะมีวันที่ร้อนกว่าที่เคยมี เดือนที่ร้อนกว่าปกติ หรือตลอดทั้งปีที่อากาศร้อนกว่าปีอื่นๆ

นักวิทยาศาสตร์เกรงว่าสถานการณ์เลวร้ายนี้จะยิ่งผลักดันให้โลกร้อนเกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียส และจะเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และเกิดพายุที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ยืนยันเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า อุณหภูมิที่สูงกว่าสถิติเดิมในปี 2562 มากกว่า 0.2 องศาเซลเซียส

ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 50 คน ระบุในรายงานด้านสภาพภูมิอากาศฉบับปรับปรุงที่เผยแพร่ในวารสาร Earth System Science Data ว่า ในช่วงปี 2556-2565 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นประวัติการณ์เฉลี่ยปีละ 54,000 ล้านตัน หรือคิดเป็นวินาทีละ 1,700 ตัน แม้โลกยังไม่ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่โลกจะปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558

อย่างไรก็ตาม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์จะปล่อยได้สูงสุด (carbon budget) มีแนวโน้มว่าจะหมดสิ้นไปในอีกไม่กี่ปี เพราะได้ปล่อยไปแล้วครึ่งหนึ่ง นับจากที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เริ่มเก็บข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานปี 2564

บิล เนลสัน จากนาซ่าเตือนว่า “ธรรมชาติกำลังส่งข้อความถึงเรา และข้อความนั้นก็คือ ‘เราควรทำตอนนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไปที่จะช่วยโลกของเรา’”

แน่นอนว่าหากทุกประเทศกว่า 190 ชาติที่ตกลงความร่วมมือในการประชุม COP ในทุกครั้งที่ผ่านมาไม่ลงมือทำ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจะจุดชนวนให้เกิดหายนะที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่น้ำแข็งในมหาสมุทรละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดไฟป่า น้ำท่วม และเกิดพายุ

“สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรไม่ได้อยู่ในมหาสมุทร มันส่งผลกระทบต่อทั้งโลก” คาร์ลอส เดล กัสติโย หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยามหาสมุทรของนาซ่า กล่าว

“ไม่มีขอบเขตทางการเมืองหรือทางภูมิศาสตร์ เราทุกคนอยู่ในนี้ด้วยกัน” บิล เนลสัน ย้ำ

สำหรับความคืบหน้าการประชุม COP 28 หรือการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 ในเดือน พ.ย.นี้ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) สุลต่าน อัล จาเบอร์ ประธาน COP28 กล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ด้านสภาพอากาศในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลายประเทศยังลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิอย่างน่าผิดหวัง

ดังนั้น คาดหวังจะได้คำมั่นจากกว่า 80 ประเทศที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเชิงในการประชุม COP28  ครั้งนี้ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป อีกทั้งจะเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ มุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถาวร

อัล จาเบอร์ ยังต้องการความแน่ใจว่าเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับการแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศที่สัญญาไว้โดยประเทศร่ำรวย เมื่อ COP 27 นั้นจะได้รับการส่งมอบจริง ทั้งที่ควรจะส่งมอบในปี 2563 แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

สำหรับ “อัล จาเบอร์” ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม COP 28 เป็น CEO ของ Abu ​​Dhabi National Oil Company (ADNOC) ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในยูเออีและใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก รวมถึงเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของยูเออี และทูตด้านสภาพอากาศด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของ อัล จาเบอร์ เพราะ ADNOC ได้ประกาศแผนการขยายกิจการครั้งใหญ่ระยะ 5 ปี มูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็น 5 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านบาร์เรลในปี 2563 และวางแผนขยายแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดใน Upper Zakum ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันในทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อ้างอิง:

https://www.euronews.com/green/2023/08/15/way-warmer-than-anything-weve-ever-seen-50-chance-2023-will-be-the-hottest-year-ever-nasa-

https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-17/2023-is-already-on-track-to-be-the-hottest-year-ever-recorded#xj4y7vzkg

https://www.theguardian.com/environment/2023/jul/13/what-is-the-uae-cop28-plan-of-climate-action

https://www.euronews.com/green/2023/07/14/fossil-fuel-bosses-controversial-invites-and-mixed-messages-heres-how-cop28-is-shaping-up-

https://edition.cnn.com/2023/07/18/middleeast/cop-28-dubai-greenwashing-climate/index.html

https://edition.cnn.com/2023/05/16/world/syria-al-assad-cop28-climate-summit-intl/index.html

Related posts

ถ้าเจรจา ‘สนธิสัญญาพลาสติก’ สะดุด ขยะพลาสติกจะทะลักภายใน 10 ปี

ปิดฉาก COP29 ไม่ราบรื่น ประเทศร่ำรวยช่วยโลกร้อนแค่ 3 แสนล้าน

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%