พบนาโนพลาสติกครั้งแรก ที่ขั้วโลกเหนือและใต้ อนุภาคมาจากยางรถยนต์-ขวดน้ำ

การปนเปื้อนของขยะพลาสติกกระจายไปทั่วโลก ล่าสุดตรวจพบมลพิษนาโนพลาสติกบริเวณขั้วโลกเหนือในมหาสมุทรอาร์กติก และขั้วโลกใต้ที่มหาสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งถือเป็นการพบครั้งแรก นั่นเท่ากับว่าขณะนี้อนุภาคขนาดเล็กของพลาสติกได้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว

ที่น่าประหลาดใจก็คือไม่ใช่การพบบนพื้นน้ำแข็งธรรมดาอย่างที่เคยพบมาก่อนในอาร์กติก แต่ทีมนักวิจัยได้พัฒนาวิธีการตรวจหาแบบใหม่เพื่อวิเคราะห์อนุภาคนาโนที่มีขนาดเล็กกว่าด้วยการการเจาะแกนน้ำแข็งของกรีนแลนด์ลงไปที่ความลึก 14 เมตร ซึ่งเป็นชั้นหิมะตั้งแต่ปี 1965 หรือเมื่อ 57 ปีที่แล้ว โดยหนึ่งในสี่ของอนุภาคที่พบมาจากยางรถยนต์

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบมลพิษพลาสติกตั้งแต่ยอดเขาเอเวอเรสต์ไปและผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่าอนุภาคเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับเซลล์ของมนุษย์

นักวิจัยกำลังเจาะแกนน้ำแข้งบนเกาะกรีนแลนด์เพื่อสำรวจพลาสติก เครดิตภาพ @@DusanMateric

Dušan Materić แห่งมหาวิทยาลัย Utrecht ในเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยใหม่ กล่าวว่า “เราตรวจพบนาโนพลาสติกในมุมที่ห่างไกลของโลกทั้งบริเวณขั้วโลกใต้และขั้วโลกเหนือ ซึ่งนาโนพลาสติกมีฤทธิ์เป็นพิษอย่างมากเมื่อเทียบกับไมโครพลาสติก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสิ่งนี้จึงมีความสำคัญมาก”

ผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research พบว่ามีนาโนพลาสติก 13.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรของน้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์ และเฉลี่ย 52.3 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรในน้ำแข็งแอนตาร์กติก

อุปกรณ์เจาะน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ เครดิตภาพ @DusanMateric

ในกรีนแลนด์ พลาสติกนาโนครึ่งหนึ่งเป็นโพลิเอทิลีน (PE) ซึ่งใช้ในถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หนึ่งในสี่เป็นอนุภาคยางรถยนต์ และหนึ่งในห้าคือโพลิเอทิลีนเทเรพทาเลต (PET) ซึ่งใช้ในขวดเครื่องดื่มและเสื้อผ้า

ขณะที่พลาสติกนาโนครึ่งหนึ่งในน้ำแข็งแอนตาร์กติกเป็นพลาสติก PE เช่นกัน แต่โพรพิลีนเป็นพลาสติกชนิดต่อมาที่ใช้กันมากที่สุดสำหรับภาชนะใส่อาหาร ไม่พบอนุภาคยางในทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การศึกษาก่อนหน้านี้พบอนุภาคนาโนพลาสติกในแม่น้ำในสหราชอาณาจักร น้ำทะเลจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลสาบในไซบีเรีย และหิมะในเทือกเขาแอลป์ของออสเตรีย

นักวิจัยย้ำว่า นาโนพลาสติกได้แสดงผลกระทบต่าง ๆ ต่อสิ่งมีชีวิต การสัมผัสกับนาโนพลาสติกของมนุษย์อาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์และการอักเสบ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก

จากการวิจัยของ Fay Couceiro ดอกเตอร์ที่เป็นหัวหน้าวิจัยไมโครพลาสติกที่มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ สหราชอาณาจักร กำลังตรวจสอบไมโครพลาสติกในปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคหอบหืด รวมทั้งจะตรวจสอบว่าห้องที่ปูพรมหรือห้องปลอดเชื้อ ซึ่งสามารถมีเส้นใยจำนวนมากในอากาศได้ เป็นตัวกระตุ้นสภาพของผู้ป่วยหรือไม่ “นอกเหนือจากความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติกแล้ว ยังมีความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไมโครพลาสติกที่สูดดมเข้าไปกำลังทำอะไรกับร่างกายของเรา” Couceiro กล่าว

การวิจัยล่าสุดของเธอชี้ให้เห็นว่า ผู้คนอาจหายใจไมโครพลาสติกเข้าไป 2,000-7,000 ชิ้นต่อวันจากในบ้าน ศาสตราจารย์ Anoop Jivan Chauhan ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจที่มหาวิทยาลัย NHS ของโรงพยาบาลพอร์ตสมัธ กล่าวว่า “ข้อมูลนี้ค่อนข้างน่าตกใจจริง ๆ เป็นไปได้ว่าเราแต่ละคนหายใจเข้าหรือกลืนไมโครพลาสติกมากถึง 1.8 ล้านชิ้นทุกปี และเมื่อเข้าไปในร่างกายจะอันตรายแค่ไหน”

ทั้งนี้ คำว่า “ไมโครพลาสติก” ถูกคิดขึ้นและนำมาใช้ในปี 2004 เพื่ออธิบายอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เสื่อมสภาพจากบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุต่าง ๆ นับตั้งแต่เริ่มใช้คำศัพท์นี้ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็พบไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมพื้นที่ห่างไกลและคาดไม่ถึง มลภาวะจากพลาสติกในปัจจุบันไม่เพียงแผ่ซ่านไปทั่วระบบนิเวศทางทะเลและน้ำจืดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบนบกและในอากาศด้วย

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2018 รายงานว่า มีพลาสติกในร่องลึกบาดาลมาเรียนา ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรโลก ในปี 2020 ไมโครพลาสติกถูกค้นพบบนพื้นที่ห่างไกลของที่ราบสูงทิเบตและบนยอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

หลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพบไมโครพลาสติกแสดงให้เห็นว่า ไม่มีที่ใดบน (หรือสูงกว่า) โลกที่สามารถต้านทานมลภาวะจากพลาสติกได้ และจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นด้วยว่าไมโครพลาสติกที่สัตว์กินเข้าไปสามารถทำให้เกิดความบกพร่องหลายอย่าง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจนถึงความเสียหายของดีเอ็นเอ การเผาผลาญที่เปลี่ยนแปลงไป การเจริญเติบโตที่ลดลง อันตรายต่อการสืบพันธุ์ และการเสียชีวิต

ในฐานะมนุษย์ เราสัมผัสกับไมโครพลาสติกผ่านอาหาร เครื่องดื่ม และอากาศที่เราหายใจเข้าไป การศึกษาสองชิ้นที่ตีพิมพ์เมื่อปลายปีที่แล้วระบุว่า พบไมโครพลาสติกในระบบย่อยอาหารของมนุษย์ และรกของมนุษย์ แต่ความรู้ของเราในประเด็นนี้ยังคงค่อนข้างแคบ นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อระบุลักษณะความเสี่ยงเฉพาะของการดูดซึมไมโครพลาสติกและการเคลื่อนที่ผ่านใยอาหาร ตลอดจนความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายกับมนุษย์

ความพยายามทางวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจแหล่งที่มา และผลกระทบของไมโครพลาสติกได้นำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีดักจับไมโครพลาสติก เช่น การพัฒนาเพื่อรวบรวมอนุภาคการสึกหรอของยางรถยนต์และเส้นใยสิ่งทอที่ปล่อยออกมาจากการซักผ้า รวมถึงการออกกฎระเบียบที่มุ่งเป้าไปที่การลดหรือกำจัดการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม

เช่น ไมโครบีดในผลิตภัณฑ์ซักล้างและไมโครไฟเบอร์จากสิ่งทอที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว รวมทั้งมีการห้ามใช้ไมโครบีดในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร เกาหลี และนิวซีแลนด์ หรือตัวอย่างในฝรั่งเศสที่จะกำหนดให้เครื่องซักผ้าใหม่มีตัวกรองไฟเบอร์ในตัวในปี 2025

แม้ว่ากฎระเบียบเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับวิกฤตมลพิษจากพลาสติก แต่ก็ยังต้องดำเนินการอีกมากเพื่อปกป้องโลกจากภัยคุกคามเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น

อ้างอิง:
• Damian Carrington (Jan 21 2022) “Nanoplastic pollution found at both of Earth’s poles for first time” . The Guardian
• Olivia Rosane (Jan 21, 2022) “Toxic Nanoplastics Found at North and South Poles” . EcoWath
• (Jan 11, 2022) “Microplastics Are Found at the Earth’s Deepest Trough and Highest Peak Even the most remote places in the world are not safe from plastic pollution” . oceanconservancy

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน