เวลาที่กำลังจะผ่านไปในช่วงแรกของการดำเนินงาน “ลดก๊าซเรือนกระจก” ตามคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยให้ไว้ต่อประชาคมโลกนั้น พิสูจน์แล้วว่าการเดินหน้าในเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงคำพูดเลื่อนลอย
จากการที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงไว้ผ่าน การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ Nationally Appropriate Mitigation Actions (NAMAs) ระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 7-20% เมื่อเทียบเคียงกับกรณีปกติ (BAU)
ล่าสุดในการติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี พ.ศ. 2563 (NAMA Tracking) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ของกระทรวงพลังงาน พบว่าไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงไปได้แล้วไม่น้อยกว่า 14% ของค่าเป้าหมาย หรือลดได้ทั้งสิ้น 51.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq)
จากการดำเนินงานติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2560 พบว่าในช่วง 5 ปี ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 4% 10% 11% 12% และ 14% ตามลำดับ
ผลการดำเนินงานเหล่านี้คือตัวเลขที่จะถูกประกอบในรายงานความก้าวหน้ารายสองปี หรือ Biennial Update Report (BUR) ฉบับถัดไป เพื่อรายงานผลต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมิได้นิ่งนอนใจใด ๆ ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในโลก
วันเวลาถัดจากนี้ จึงเป็นการเดินหน้าต่อตามข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี พ.ศ. 2563 หรือ Intended Nationally Determined Contribution (INDC) ที่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20-25% จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573
สำหรับการดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ.2564-2573 หรือ NDC Roadmap สู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะดำเนินการใน 3 สาขาหลัก คือ สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย ซึ่งเป็นสาขาที่แผนหลักของหน่วยงานทั้งหมดมีความพร้อม และมีศักยภาพในการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกลงได้
ทั้งนี้ ภายใน 3 สาขาข้างต้น จะประกอบด้วย 15 มาตรการ ซึ่งคิดเป็นศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก ณ ปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งสิ้น 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 20.8%
ตัวอย่างมาตรการในสาขาพลังงาน อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในครัวเรือน อาคาร อุตสาหกรรมการผลิต และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเฉพาะสาขานี้มีศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มาตรการในสาขาการจัดการของเสีย เช่น การจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย คิดเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 2 ล้านตันคาร์บอนฯ ส่วนสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม คิดเป็นศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 0.6 ล้านตันคาร์บอนฯ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินงานของไทย ส่วนหนึ่งมาจากการจัดตั้งกลไกและแผนการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นแผนที่นำทาง หรือโครงสร้างเชิงสถาบันทั้งในระดับประเทศและระดับกระทรวง เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพิจารณาคัดเลือกมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม และพัฒนาวิธีการคำนวณผลการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศ
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงถึงการดำเนินงานตามเป้าหมายของแผนจากกระทรวงพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่มาจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) เช่น การใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าและความร้อน การเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงทดแทนในรถยนต์ หรือการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น
ความท้าทายหลังจากนี้ก็คือการคัดเลือกมาตรการใหม่ การกำหนดพื้นฐาน การพัฒนาวิธีการคำนวณในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การบรรลุเป้าหมาย NDC ซึ่งการลดก๊าซเรือนกระจกบางมาตรการอาจต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อมูลที่จำเพาะเจาะจงของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมาใช้ประกอบในการคำนวณ
นอกจากนี้ยังต้องเตรียมออกกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะช่วยสนับสนุนการรายงานข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีความต่อเนื่องและครบถ้วนในอนาคต
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบกับรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงาน ปี พ.ศ. 2560 (ลดได้ทั้งสิ้น 51.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เพื่อประกอบในรายงานความก้าวหน้ารายสองปีฉบับถัดไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมในข้อริเริ่ม Nitric Acid Climate Action Group (NACAG) Initiative เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตกรดไนตริก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอีกด้วย
ความคืบหน้าทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนเจตจำนงของประเทศในฐานะประชาคมโลกที่กำลังมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามศักยภาพที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบโลกใบเดียวกัน