เหมืองหยกมรณะถล่มในเมียนมา
ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่มีคนตาย

by IGreen Editor

จากกรณีโศกนาฏกรรมในหมู่บ้านซากมู เมืองพากัน รัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของเมียนมาเมื่อเหมืองหยกเกิดถล่มพร้อมด้วยคลื่นกระแสน้ำและดินโคลนทับชาวเมืองไปต่อหน้าต่อตา ข้อมูลจากเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 พบผู้เสียชีวิตอย่างน้อยแล้ว 162 คนในดินถล่มที่เหมืองหยก

จากคลิปวิดิโอจะเห็นสภาพเหมืองที่มีลักษณะเป็นแแอ่งขนาดใหญ่ โดยมีฝนตกพรำๆ เนื่องจากเป็นฤดูมรสุม ขณะที่ชาวบ้านกำลังหาหยกอยู่นั้น จู่ๆ ดินโคลนที่กองรอบๆ ก็เกิดถล่มลงมาพร้อมกับมีมวลน้ำมหาศาลที่ขังในแอ่งม้วนตัวเป็นคลื่นขนาดใหญ่ทำให้ผนังหินของเหมืองถล่มลงมาอีก เป็นภาพที่น่าตกตะลึงอย่างมาก และทำให้คนที่หนีไม่ทันต้องเสียชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว

ผู้รอดชีวิตกล่าวกับ BBC ว่าเขาเห็นกองดินที่ขุดจากเหมืองสูงตระหง่านกำลังจะพังลงมา จนผู้คนตะโกนว่า “วิ่งหนีเร็ว” พยานเล่าว่า “ภายในไม่กี่นาทีทุกคนที่อยู่ด้านล่าง [ของเนินเขา] ก็หายไป .. มีคนติดอยู่ในโคลนตะโกนเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครช่วยพวกเขาได้”

กระทรวงสารสนเทศของเมียนมาเปิดเผยว่า ผู้ที่บาดเจ็บล้มตายทั้งหมดเป็นชาวบ้านในท้องที่ที่เข้าไปในเหมืองเพื่อค้นหาเศษหินที่อาจจะเป็นหยกเพื่อนำไปขายต่อ ส่วนการช่วยเหลือถูกระงับเอาไว้ก่อน เนื่องจากสถานการณ์ค่อนข้างอันตราย


ในขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจหยกของเมียนมา (Myanma Gems Enterprise) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ออกคำสั่งให้บริษัททำเหมืองหยกต่างๆ ระงับการดำเนินงานที่ไซต์เหมืองเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูมรสุมโดยเริ่มต้นในเดือนนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกและไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวบ้านตาดำๆ และแรงงานเหมืองที่ยากจนต้องมาทิ้งชีวิตเอาไว้ที่เหมือง พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อลงไปคุ้ยหินที่น่าจะซ่อนหยกเอาไว้ท่ามกลางไซต์เหมืองที่สุ่มเสี่ยงที่จะถล่มได้ตลอดเวลา และไม่ใช่แค่คนสองคน แต่เป็นคนหลายร้อยชีวิตที่ยอมเสี่ยงตายเพื่อที่จะได้เป็นเศรษฐีหยกแบบฟลุ๊คๆ

แต่การได้หยกมายังยากกว่าการถูกเหมืองเอาชีวิต เมืองพากันเป็นแหล่งที่มีเหมืองหยกมากกว่า 100 แห่งและมีความเสี่ยงมากที่จะเกิดถล่มได้ตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2558 กองดินที่ขุดออกมาจากเหมืองถล่มลงมาทำให้มีผู้คนอย่างน้อย 116 คนเสียชีวิต สูญหายอีกราว 100 คน แต่กรณีนี้เป็นคราวเคราะห์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ เหมืองและที่จริงแล้วเราไม่รู้ว่าตัวเลขความสูญเสียมีมากแค่ไหน เพราะทางการไม่รู้ว่ามีชาวบ้านมาปักหลักใกล้ๆ ที่นี่กี่ครัวเรือนและกี่คน

ต่อมาเดือน ก.ค. ปี 2561 เหมืองที่ปิดแล้วแห่งหนึ่งในเมืองพากันเกิดถล่มลงมาอีก มีคนหาหยกอย่างน้อย 15 คนเสียชีวิตและบาดเจ็บ 45 คน

ในวันที่ 22 เม.ย. 2562 เกิดแผ่นดินถล่มทำให้เหมืองหยกแห่งหนึ่งในเมืองพากันถล่มตามไปด้วย มีคนงาน 54 คน ติดอยู่ในดินถล่ม พบผู้เสียชีวิต 4 คน เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องเสียสละชีวิตไปอีก 2 คน

จากเหตุที่เกิดซ้ำซากนี้ทำให้ผู้ประสานงานของสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศเมียนมาปรับใช้กฎหมายความปลอดภัยใหม่ เพื่อปกป้องคนงานเหมือง ส่วนรัฐบาลรัฐคะฉิ่นก็เร่งรัดให้บริษัทเหมืองมีมาตรการความปลอดภัยที่รัดกุมกว่านี้ ปรากฎว่าหลังจากนั้น รัฐบาลกลางของเมียนมาระงับการดำเนินงานเหมืองในพากันถึง 17 เหมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัท 11 แห่ง

แต่โศกนาฏกรรมก็ยังเกิดขึ้นอีกในวันที่ 2 ก.ค. 2563 และเป็นเหตุการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุด

เราคาดว่ามันคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะมาตรการความปลอดภัยหลายๆ เหมืองยังไม่รัดกุม และบางเหตุการณ์แทบไม่มีการสวบสวนเอาผิด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ากองทัพพม่าควบคุมเหมืองหยกหลายแห่งเอาไว้และมีปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างหนัก

นอกจากนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองยังเลวร้ายอย่างมาก องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมคะฉิ่น กล่าวว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พากันเรียกร้องไม่ให้บริษัทเหมืองอย่าทิ้งขยะใกล้แม่น้ำอูรูและให้พยายามหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและเสียงเรียกร้องของประชาชนในท้องถิ่นมักถูกเพิกเฉย

ตราบใดที่เมียนมายังปล่อยให้มีการขุดแผ่นดินและถล่มภูเขาเพื่อค้นหาหยกเพื่อดูดเงินเข้ากระเป๋าคนในกองทัพ แล้วปล่อยให้ประชาชนที่ยากจนต้องเสี่ยงชีวิตลงไปหาเศษหยก เพียงเพื่อจุดประกายควมหวังเล็กๆ ในชีวิตของพวกเขาโดยแลกกับชีวิตของพวกเขานั่นเอง

อ้างอิงข้อมูลจาก
• Myanmar jade mine accident: 162 killed, more trapped (https://rb.gy/3bo9sv)
• Myanmar jade mine landslide kills 160 (https://rb.gy/p2hofj)
• Myanmar Mine Disaster Highlights Challenge to Suu Kyi (https://rb.gy/2vxbx2)
• 2015 Hpakant jade mine disaster (https://rb.gy/p8sit3)
• 2019 Hpakant jade mine collapse (https://rb.gy/tvjdlh)
• 2020 Hpakant jade mine disaster (https://rb.gy/ovt7d9)

ภาพ: https://www.facebook.com/tainoom.org/posts/3085045684909287

Copyright @2021 – All Right Reserved.