1) ประชาชนชาวม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ลงมติด้วยคะแนน 324 ต่อ 4 ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ซึ่งจัดเวทีโดยเทศบาลเมืองม่วงงาม อ.สิงหนคร เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2565 และจะนำเสนอมติดังกล่าวพร้อมรายชื่อยื่นต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง ประกอบการพิจารณายกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม จ.สงขลา
2) ข้อพิพาทโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม เริ่มต้นในปี 2558 โดยกรมโยธาฯ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม หมู่ที่ 7 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งไม่ให้ถนนขาด โดยมีเทศบาลห่วงงามเป็นผู้ขออนุมัติงบประมาณ
3) เวลานั้นหน่วยงานรัฐได้ว่าจ้างบริษัทออกแบบและเปิดรับฟังเวทีความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ม.ค. 2560 และจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 2 ครั้ง จากนั้นลงมือก่อสร้างเฟสแรกเมื่อเดือน มี.ค. 2560 แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก ระยะทาง 710 เมตร และเฟสสอง ระยะทาง 1,995 เมตร โดยก่อสร้างเป็นกำแพงกันคลื่นรูปแบบขั้นบันไดคอนกรีต
4) หลังจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ในนามเครือข่ายประชาชนนรักษ์หาดม่วงงามได้เข้าร้องเรียนที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาขอให้มีการระงับโครงการ และให้เปิดเผยแบบแปลนการก่อสร้าง รวมถึงรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และเอกสารขออนุญาตดำเนินโครงการ โดยให้เหตุผลถึงข้อกังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความจำเป็น และการก่อสร้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
5) กระทั่งวันที่ 14 พ.ค. 2563 ชาวม่วงงามที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการนี้ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งให้ให้กรมโยธาฯ และกรมเจ้าท่า ยกเลิกโครงการทั้งหมดในบริเวณหมู่ที่ 7, 8 และ 9 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา เนื่องจากการดำเนินโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนสิ่งปลูกสร้างบนหาดม่วงงามทั้งหมด พร้อมดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
6) ต่อมาวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว โดยศาลเห็นว่ากรมโยธาฯ และกรมเจ้าท่าไม่ได้มีข้อมูลเพียงพอว่า การก่อสร้างเพื่อป้องกันการกันเซาะชายฝั่งรูปแบบคอนกรีตขั้นบันไดจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายหาดได้
7) ถัดมาวันที่ 18 พ.ย. 2564 ศาลปกครองสงขลาอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับคำสั่งวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม หมู่ที่ 7 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา (ระยะที่ 2) เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการจัดทำอีไอเอ ไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ
8) สำหรับคดีนี้ตัวแทนชาวบ้าน ต.ม่วงงาม 5 ราย ได้ยื่นฟ้องกรมโยธาฯ และกรมเจ้าท่า ต่อศาลปกครองสงขลาซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นดังกล่าว และต่อมากรมโยธาฯ ได้อุทธรณ์คดีโดยมีนายกเทศมนตรีเมืองม่วงงามเป็นผู้ร้อง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดสรุปว่าการอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น
9) ตัวแทนชาวบ้านผู้ร้องให้เหตุผลการต่อสู้คดีว่า อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลม่วงงามและเป็นสมาชิกในเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามโดยใช้ประโยชน์จากชายหาดม่วงงามในการพักผ่อนหย่อนใจ ต่อมากรมโยธาฯ ได้จัดทำโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงามรูปแบบโครงการเป็นเขื่อนคอนกรีตขั้นบันไดความกว้าง 17.75 เมตร ความยาว 2,705 เมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ บริเวณชายฝั่งทะเลหมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 ช่วงกิโลเมตรที่ 3+000 ถึง 5+6000
10) ขณะที่กรมโยธาฯ ให้เหตุผลว่าได้รับการร้องขอสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลเมืองม่วงงาม เนื่องจากประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนจากคลื่นลมในช่วงมรสุม ทำลายที่ดินและทรัพย์สินของราชการเสียหาย โครงการดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกรมโยธาฯ ยังอ้างด้วยว่าได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่แล้วและประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย
11) โครงการนี้กรมโยธาฯ ได้ว่าจ้างบริษัท แมคโคร คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอสทีเอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการโครงการออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 และต่อมาวันที่ 23 เม.ย. 2563 ผู้รับเหมาได้นำเครื่องจักรเข้าไปบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างดังกล่าวและวันเดียวกันนั้นชมรม Beach for life มีหนังสือถึงประธานสภาเทศบาลเมืองม่วงงามขอให้ระงับโครงการ
12) ต่อมาเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามได้มีหนังสือลงวันที่ 25 เม.ย. 2563 ถึงผู้ว่าฯ สงขลา โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายกเทศมนตรีเมืองม่วงงาม ขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและระงับการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว แต่กรมโยธาฯ ยังดำเนินโครงการก่อสร้างโดยมิได้ชะลอโครงการแต่อย่างใด
13) สาเหตุที่โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นระบาดไปทั่วแทบจะทุกชายหาดของประเทศและทำกันมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าเมื่อย้อนไปดูข้อมูล ก่อนปี 2556 การจะสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่รัฐบาลสมัยนั้น (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) มีมติเพิกถอน EIA ออกจากการสร้างกำแพงกันคลื่น ด้วยเหตุผลเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา
14) เมื่อไปดูการขอใช้งบประมาณสำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตั้งแต่ปี 2554-2565 รวม 12 ปี เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559-2560 เพิ่มขึ้นถึง 149.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.635% ของงบประมาณที่ถูกขอในปี 2559 โดยเว็บไซต์ Beach For Life เปิดตัวเลขร่างงบประมาณประจำปี 2566 (ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) เพื่องานศึกษา งานก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างป้องกันชายฝั่งใน 3 กรมหลัก และงบกลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,779.9 ล้านบาท ใน 79 โครงการ
15) นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Beach for life ซึ่งทำหน้าที่รณรงค์ #Saveหาดม่วงงาม #กำแพงกันคลื่นต้องทำEIA และเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า หลังจากผลการลงมติของชาวม่วงงามออกมาชัดเจนว่า 324 คนไม่เอาโครงการกำเเพงกันคลื่น สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือกรมโยธาฯ จะยังดึงดันเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปหรือไม่
อ่านประกอบ:
คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่นี่
10 เหตุผลคนไม่เอากำแพงกันคลื่น ที่นี่
อ้างอิง:
https://bit.ly/3Q5ZXjr
https://bit.ly/3PRLnvx
ภาพ: Beach For Life