ก้าวไกลชัดแก้ PM2.5 พร้อมชนนายทุนต้นตอการเผา

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า สถานการณ์ PM2.5 ในภาคเหนือรุนแรงมาก บางจังหวัดเช่นเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก

โดยที่ผ่านมามีการพูดถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเฉพาะด้านการป้องกัน บรรเทาไปพอสมควร แต่ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีการพูดถึงมากนักคือต้นตอของสาเหตุที่ทำให้ PM2.5 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

>>เกษตรกรเผา

ข้อมูลจาก GISTDA เปิดเผยว่าวันที่ 26 มีนาคม 2566 เพียงวันเดียว ประเทศเมียนมาพบจุดความร้อน 10,563 จุด สปป.ลาว 9,652 จุด และไทยพบจุดความร้อนถึง 5,572 จุด สูงที่สุดในรอบ 5 ปี จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10.6 ล้านไร่ ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาของประเทศลาว เมียนมา และไทย

นายพิธากล่าวว่าสาเหตุของการเผานั้นเกิดจากประเทศไทยของเราเอง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 770 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 14,325 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า

>>นายทุนรับซื้อ

การขยายตัวของกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมในลาวและเมียนมา และเป็นที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย

“ทุกตันข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันที่มาจากการเผาป่า แลกมาด้วยอากาศบริสุทธิ์และอายุขัยคนไทย”

>>แก้ด้วยนโยบาย “ไม่ยอมรับการเผาทุกกรณี”

จะแก้ปัญหา PM2.5 นอกจากต้องมีมาตรการผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่จะแก้ได้จากใจกลางของปัญหา คือต้องกล้าจัดการกับต้นตอที่ทำให้เกิดการก่อมลพิษในประเทศของเราเองด้วยการประกาศนโยบาย “ไม่ยอมรับการเผาทุกกรณี”

ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะประกาศทันทีว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ผ่านด่านการค้าในภาคเหนือ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทย ตัดวงจรการเผา ลบจุดแดงบนแผนที่ทางอากาศ

>>ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดทั้งเพ่งและอาญา

ประเทศไทยต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย หลักการเดียวกันกับ ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ หรือ Transboundary Haze Pollution Act ของประเทศสิงคโปร์

นายพิธาทิ้งท้ายว่า “ในโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลที่จะแก้ปัญหา PM2.5 ได้ คือรัฐบาลที่พร้อมชนกับกลุ่มทุน กล้าจัดการกับบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ และสามารถใช้เวทีระหว่างประเทศในการเจรจาสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาระดับภูมิภาค ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะร่วมมือและสนับสนุนกับประเทศเพื่อนบ้านในการดับไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของจุดความร้อน และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ประชาชนทุกประเทศในอนุภูมิภาคต้องเผชิญเช่นกัน”

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด