ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 มีมติให้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง พักหนี้เงินต้นให้ชาวนาครึ่งหนึ่งหรือ 50% พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อนและเปิดโอกาสให้ชำระหนี้ที่เหลือภายใน 15 ปี
ชาวนากลุ่มที่มาปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลังในครั้งนี้เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยเป็นหนี้ธนาคาร 4 แห่ง จำนวน 50,621 ราย รวมยอดหนี้เงินต้น 9,282.92 ล้านบาท
จะแบ่งดำเนินโครงการแก้หนี้ระยะ 3 ปี นับจากวันที่ ครม.อนุมัติ ปีที่ 1 จำนวน 10,000 ราย ใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2565 รวม 2,000 ล้านบาท ปีที่ 2 จำนวน 22,000 ราย และปีที่ 3 จำนวน 18,621 ราย
การปรับโครงสร้างหนี้คือพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ที่เหลืออีกร้อยละ 50) ตามระยะเวลาที่ตกลง แต่ไม่เกิน 15 ปี
ทั้งนี้ เมื่อชาวนาชำระหนี้คืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้นร้อยละ 50 ที่พักไว้ และดอกเบี้ยที่พักไว้จะยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยธนาคารเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นและดอกเบี้ยจากรัฐบาล ในส่วนดอกเบี้ยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังไปหารือและนำเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง โดยชาวนาเหล่านี้จะต้องไม่ก่อหนี้กับสถาบันการเงินอื่นอีก
แบ่งเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร (ธ.ก.ส.) 47,973 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 8, 520.41 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2,008 ราย มูลหนี้เงินต้น 306.41 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 552 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 162.37 ล้านบาท และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) 88 ราย มูลหนี้เงินต้น 293.72 ล้านบาท
สำหรับชาวนากลุ่มนี้มาจาก 36 จังหวัด ได้เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้หนี้ที่บริเวณริมรั้วหน้ากระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2565 โดยขอให้ธนาคารเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดีและให้โอนหนี้จากธนาคารทั้ง 4 แห่ง มาอยู่กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)รวมทั้งให้ตรวจสอบการทุจริตในสำนักงาน กฟก.ด้วย