เรื่องเล่าลิงเก็บมะพร้าวในภาคใต้
มุมมองการทรมานสัตว์?

by The Green Mile

ในบทความเรื่อง “เสี้ยวหนึ่งของภาพชีวิตและความเคลื่อนไหวในชุมชนหาดทรายขาว” ในวารสารรูสมิแล ได้เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวปัตตานีกับลิง (ลิงแสม) ที่ช่วยพวกเขาเก็บผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวหรือสะตอ ผู้เขียนบรรยายไว้ว่าลิงคือ “สัตว์เลี้ยงที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของชาวสวน”

เป็นความจริงที่คนปักษ์ใต้เลี้ยงลิงเหมือนคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน แม้จะไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่จะเมตตากับลิงแบบนี้และมีบางกรณีที่ทารุณกับมันเหมือนเป็นทาส แต่มีน้อยมากที่เราจะได้ยินเรื่องทารุณลิง และการทุบตีหรือล่ามพวกมัน เว้นแต่เกิดจากความดุของลิงเป็นเหตุ

ลิงเก็บมะพร้าวไม่ใช่ของโบราณ แต่เพิ่งมีมาเมื่อ 100 ปีนี้ในหนังเรื่องการปลูกมะพร้าของกระทรวงเกษตราธิการเอ่ยถึงเรื่องลิงเก็บมะพร้าวเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454

และจากคำบอกเล่าของคุณสมพร แซ่โค้ว ครูฝึกลิงที่มีชื่อเสียงแห่ง จ.สุราษฎร์ธานี แห่งบอกกับวารสารวัฒนธรรมไทยฉบับปี พ.ศ. 2532 ว่ามีคนจับลิงกังมาเลี้ยงและฝึกใช้งานแล้วไม่ต่ำกว่า 80 ปีส่วนมากจะใช้เก็บของป่าจากต้นไม้และภูเขาสูง ต่อมาก็พัฒนามาตามยุคตามสมัย และในที่สุดก็เอามาฝึกเก็บมะพร้าว

ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนชาวปักษ์ใต้ เจ้าของผลงานเรื่อง ความรักของคุณฉุย (ซึ่งเป็นเรื่องเกาะสมุยดินแดนแห่งลิงเก็บมะพร้าว) เล่าไว้ในหนังสือ “อีกหนึ่งลมหายใจ” ว่า “สวนมะพร้าวที่เกาะสมุยหรือที่ทับสะแกซึ่งปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย สมัยแรกๆ จะใช้คนปีนต้นไม้ขึ้นไปเก็บมะพร้าวลงมาขาย ต่อมาเปลี่ยนใช้ลิงเก็บมะพร้าวแทน ทั้งนี้ก็เพราะลิงเก็บเก่งกว่าคน ค่าแรงก็ถูกกว่าด้วย”

แต่ในนิตยสารกสิกรของกรมวิชาการเกษตรเล่าเรื่องลิงเก็บมะพร้าวไว้เมื่อปี พ.ศ. 2502 ว่าลิงเก็บมะพร้าวมีค่าแรงเท่ากับคน

ความสัมพันธ์ระหว่างลิงกับคนอาจเป็นเพื่อนกันก็ได้ บางคนรักมันเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่เมื่อมีงานมาเกี่ยวข้องมันคงเป็นได้แค่เจ้านายกับลูกน้อง และเป็นลูกน้องที่เจ้านายรับเงินแทน

และลิงไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยง มันไม่ใช่สัตว์ติดบ้านเหมือนหมาและแมว คนจะต้องไปพรากลิงมาจากป่า เช่นบางพื้นที่จะไปหาลิงอายุ 2 – 3 เดือนจากป่ามาฝึกให้เป็นลิงเก็บมะพร้าว แต่ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วลิงจะถูกขึ้นทะเบียนจึงถือว่าถูกต้องตามกระบวนการ

ลิงป่าที่กลายเป็นลิงเก็บมะพร้าวที่โด่งดังที่สุดตัวหนึ่งในความทรงจำของคนไทยคือ เจ้าไข่นุ้ย ลิงคู่ใจของคุณสมพร แซ่โค้วก็เป็นลิงป่าที่ถูกจับมาฝึกหัดให้เป็นลิงบ้านที่ทํางานต่างๆ ทั้งเก็บมะพร้าว ไปจนถึงเก็บสะตอ และผลไม้ต่างๆ และลิงอื่นๆ ที่ถูกนำมาฝึกก็เป็นลิงกังจากป่าเช่นกัน

ดูเหมือนว่าเวลาคนไทยจะปกป้องการใช้งานลิงว่าเป็นวัฒนธรรมของคนไทยเราลืมไปว่าการให้ได้ลิงมานั้นต้องไปพามันออกมาจากป่า ในขณะที่คนไทยอาจรู้สึกหวงแหนภูมิปัญญาการฝึกลิง แต่คนรักสัตว์และนักอนุรักษ์อาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับเรื่องที่มาของลิงเก็บมะพร้าว

แต่ไม่ใช่ลิงเก็บมะพร้าวทุกตัวที่มาจากป่า มีลิงบางตัวที่เกิดจากการผสมพันธุ์โดยคนผ่านการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีเหมือนกับที่ทำกับวัวและสุนัข ดังนั้นเราจึงเหมารวมได้ลำบากว่าลิงเก็บมะพร้าวจะต้องถูกพรากจากป่าเท่านั้น

และการฝึกลิงยังต่างจากอดีตมากแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันของคุณสมพร แซ่โค้ว เพราะสมัยก่อนนั้นเมื่อเจ้าของนำลิงมาเก็บมะพร้าวก็มักจะทุบตีและทำร้ายลิงอยู่เป็นประจำเมื่อลิงไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งที่คาดหวังไว้ได้ เช่น ลิงเก็บมะพร้าวที่ยังไม่แก่ลงมา หรือบางครั้งลิงอาจจะอู้งาน “สิ่งเหล่านั้นจึงทำให้คุณสมพรเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะฝึกสอนลิงในแนวทางที่ดีขึ้น โดยไม่เป็นการทรมานสัตว์” (ข้อมูลจากเว็บไซต์วิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร)

และบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อคุณสมพรเรื่องความคิดเรื่องความเมตตาต่อลิงก็คือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่คุณสมพรเคารพนับถือ ท่านได้สนับสนุนให้คุณสมพรฝึกสอนลิงด้วยวิธีการที่เป็นคุณโดยไม่ต้องใช้กำลังหรือความรุนแรง

ทุกวันนี้เมืองไทยมีการทารุณลิงน้อยมากและไม่ใช่ว่ามะพร้าวส่วนใหญ่จะเก็บโดยลิง แต่เพียงแค่นี้ก็ยังไม่ถูกใจนักสิทธิสัตว์ในต่างประเทศที่ให้น้ำหนักเรื่องการพรากสัตว์และบังคับสัตว์มากกว่าการปรับตัวเข้าหากินเพื่อเกื้อกูลกันของของคนกับสัตว์

สำหรับคนที่สนใจเรื่องอนุรักษ์สัตว์การใช้งานลิงเก็บมะพร้าวดูเหมือนจะขัดกับหลักการ แต่สำหรับคนที่ต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรม การใช้ลิงเก็บมะพร้าวไม่เห็นจะเป็นปัญหาตรงไหน คำถามที่อยากจะทิ้งไว้ให้คิดก็คือ “เราคือคนประเภทไหน?”

Copyright @2021 – All Right Reserved.