ชาวญี่ปุ่นคิดค้นวิธีปลูกป่าขึ้นในเมืองเล็กๆ เมื่อปี 2513 หรือรู้จักกันในชื่อ ‘ป่ามิยาวากิ’ (Miyawaki’ forests) ซึ่งในตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะวิธีการปลูกป่าลักษณะนี้ช่วยสร้างป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ขนาดเท่าสนามเทนนิสเท่านั้น แต่ต้นไม้กลับเติบโตเร็วกว่าป่าทั่วไป
ที่สำคัญป่าขนาดเล็กแห่งนี้กลับสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าสวนป่าที่ปลูกเพื่อการทำไม้อีกด้วย
เจ้าของแนวคิดป่ามิยาวากิคือ มิยาวากิ อากิระ (Akira Miyawaki) นักพฤกษศาสตร์และนักนิเวศวิทยาพืชที่มีความเชี่ยวชาญด้านเมล็ดพันธุ์และการศึกษาป่าธรรมชาติ เขาไปทำงานทั่วโลกในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการฟื้นฟูพืชพรรณธรรมชาติบนที่ดินที่เสื่อมโทรม
มิยาวากิสังเกตเห็นต้นไม้ที่เติบโตขึ้นรอบๆ วัดศาลเจ้าและสุสานในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดย่อมที่ผู้คนละเว้นไว้ไม่ตัดทิ้งและถูกล้อมด้วยท้องนาหรือชุมชนเมือง ป่าเหล่าานี้เต็มไปด้วยสายพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของญี่ปุ่น
ขณะที่ป่าตามภูเขาและที่อื่นๆ มักเป็นต้นไม้ต่างถิ่นที่นำเข้ามา แม้จะเข้ามาหลายปีแล้วด้วยเหตุผลด้านการทำไม้ แต่ะพวกมันขาดความหลากหลาย
เขาคำนวณพบว่าป่าในปัจจุบันของญี่ปุ่นเป็นป่าดั้งเดิมแค่ 0.06% เท่านั้น ป่าร่วมสมัยปลูกที่ปลูกขึ้นตามหลักการการทำป่าไม้นั้นไม่ได้มีความยืดหยุ่นมากหรือเป็นพืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสภาพภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ในญี่ปุ่น และยิ่งไม่สามารถรับมือกับปัญหาโลกร้อนได้
มิยาวากิค่อยๆ สร้างเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ โดยมีการระบุและจำแนกเมล็ดมากกว่า 10 ล้านเมล็ดตามแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์และดิน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้จากป่าธรรมชาติที่ถูกอนุรักษ์ไว้หลายชั่วอายุคนรอบ ๆ วัดและสุสานตามความเชื่อดั้งเดิมเรื่องเทพเจ้าสถิตในป่าของญี่ปุ่น
ซึ่งทำให้คนไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับป่าเหล่านี้เพราะความยำเกรง โดยสถานที่เหล่านี้เป็นที่สงวนพันธุ์ไม้พื้นเมืองและยีนต้นไม้ขนาดเล็กนับพันที่สืบทอดมาจากป่ายุคก่อนประวัติศาสตร์
จากนั้นเขาพัฒนาวิธีการพลิกฟื้นระบบนิเวศโดยอิงกับพืชพรรณธรรมชาติที่มีศักยภาพจนได้วิธีการที่เรียกว่า “วิธีมิยาวากิ” (Miyawaki method) ด้วยการฟื้นฟูป่าพื้นเมืองจากเมล็ดของต้นไม้พื้นเมืองบนผืนดินที่เสื่อมโทรมอย่างมากจากการถูกทำลายป่าไม้และไม่มีซากพืชเป็นธาตุอาหารรองรับ
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าการฟื้นฟูป่าอย่างรวดเร็วนั้นเป็นไปไม่ได้หรือยากมาก โดยเฉพาะบนผืนดินที่ป่าฝนถูกทำลายจนมีสภาพเหมือนทะเลทราย แต่มิยาวากิแสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูป่าและดินอย่างรวดเร็วนั้นเป็นไปได้ โดยอาศัยสายพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกหนาแน่นและใช้กระบวนการ mycorrhized (ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาเกื้อกูลและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างราและรากพืช )
ด้วยวิธีการนี้ มิยาวากิสามารถคืนสภาพป่าดั้งเดิมได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จอย่างงดงามกว่า 1,300 แห่งในญี่ปุ่นและประเทศเขตร้อนต่างๆโดยเฉพาะในพื้นที่แปซิฟิก
รูปแบบของป่าขนาดย่อมที่เขาพลิกฟื้นขึ้นมา รวมถึงป่าไม้ในเขตเมือง ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม ที่จริงแล้วป่าขนาดย่อมที่เขาสร้างขึ้นแห่งแรกๆ อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมของบริษัทเหล็กกล้าแห่งหนึ่งซึ่งให้การสนับสนุนแนวทางของเขาด้วย
ตอนนี้วิธีการปลูกป่าของเขากำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เพราะใช้พื้นที่น้อยและอิงกับพืชท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพในการสู้โลกร้อน มันทำให้ประเทศหนึ่งๆ ได้ใกล้ชิดกับต้นไม้ของบรรพบุรุษมากขึ้น แทนที่จะมุ่งเน้นไม้ต่างถิ่นเพื่อผลทางเศรษฐกิจ “ป่ามิยาวากิ” จึงถือกำเนิดขึ้นทั่วโลกแม้จะยังไม่มากเท่าไร แต่ก็เป็นความหวังที่สดใสในการสู้กับอนาคตที่มืดมนของโลกเรา
วิธีนี้ต้องขอบคุณความยำเกรงในป่าแห่งเทพเจ้าตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น ทำให้สามารถรักษาพันธุ์พื้นเมืองเอาไว้รวมถึงผืนป่าขนาดไม่ใหญ่ แต่มีความหลากหลายมาก ความยำเกรงในธรรมชาติแม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เหนือธรรมชาติ แต่มันช่วยให้โลกของเราถูกทำลายน้อยลงไป บางทีถ้ามนุษย์ยำเกรงธรรมชาติกันมากกว่านี้เราคงไม่ต้องรอรับผลจากภาวะโลกร้อนเหมือนตอนนี้ก็ได้
ข้อมูลจาก
• People are planting tiny urban forests to boost biodiversity and fight climate change (https://rb.gy/m4c6rk)
• Akira Miyawaki (https://rb.gy/9fswws)