การปรับตัวสู้โลกร้อน ยังห่างไกลข้อตกลงปารีส ไทยติดกลุ่มเสี่ยงสูง

การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวสู้ภัยโลกร้อนยังล่าช้า และห่างไกลเป้าหมายความตกลงปารีสที่จะคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา

การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change Mitigation คือความพยายามของมนุษย์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) และการรักษาระดับของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้คงที่ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกินขีดจำกัด หรือสอดคล้องตามความตกลงปารีสที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นจะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทั่วโลกรับรู้แนวทางและวิธีการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน นั่นคือ ลดกิจกรรมของมนุษย์ที่จะมีผลต่อระบบภูมิอากาศ หรือใช้ความพยายามรักษาระดับก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับคงที่เพื่อทอดระยะเวลาที่มากพอให้ระบบนิเวศสามารถปรับตัวตามธรรมชาติเข้ากับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันได้ อย่างน้อยที่สุดสภาพอากาศจะไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร ลดปัจจัยการปล่อยคาร์บอน ฯลฯ เพื่อช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

ไทยแม้จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก แต่ไทยกลับเป็นประเทศติดอันดับ 1-10 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change มากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุรุนแรง

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ – IPCC พยายามผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนและข้อเสนอแนะผ่านการประชุม COP มาอย่างต่อเนื่องในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจก เช่น เปลี่ยนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการใช้พลังงานสะอาด หรือเพิ่มกิจกรรมที่ช่วยกำจัดก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ออกจากชั้นบรรยากาศ อาทิ

ตลอดจนการเพิ่มความสามารถเก็บกักคาร์บอน (Carbon Sink) ตามธรรมชาติที่จะกักและเก็บก๊าซเรือนกระจกไว้ทั้งในมหาสมุทร ต้นไม้ และในดิน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง อย่างการผลิตกระแสไฟฟ้าและอุตสาหกรรมหนักลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสามารถกักเก็บคาร์บอนในปริมาณมากได้

ทุกรัฐบาลทั่วโลกเข้าใจดีว่าการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประสิทธิภาพต้องอาศัยมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นและจริงจัง อาทิ การสนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการประกอบอาหารที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติหรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลหรือองค์กร เช่น ลดใช้รถส่วนตัว
แม้แต่เปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหารโดยลดเนื้อสัตว์หันไปเน้นบริโภคผักมากขึ้น ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจจากภาครัฐ ทั้งการกำหนดภาษีคาร์บอน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) การให้เงินอุดหนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก และการแก้กฎระเบียบเพื่อการบูรณาการพลังงานคาร์บอนต่ำให้เกิดได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเร่งการจัดการก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น…แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ง่ายหรือเกิดขึ้นได้ทันทีทันใดในระยะใกล้

นอกจากการลดปัญหาแล้วยังจะต้องมีการ “ปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ Climate Change Adaptation คือการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตามความหมายของ IPCC หมายถึง “การลดความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มความยืดหยุ่น ยกระดับคุณภาพชีวิต และความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลงให้สัมฤทธิ์ผล ตัวอย่างเช่น การปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูป่าชายเลน การทำเกษตรนิเวศ และระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมรับมืออุทกภัย”

อย่างไรก็ดี การปรับตัวรับมือภาวะโลกร้อนมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี การปรับรูปแบบการจัดการ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับโครงสร้างทางกายภาพ การจัดทำฐานข้อมูลและการแจ้งเตือนภัย การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ฯลฯ ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวในหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าสามารถป้องกันผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ, เทคโนโลยีและโครงสร้างทางกายภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ เช่น เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ ระบบกักเก็บน้ำ, ระบบประกันภัยที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางประเภทมีบริบทที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับบางสาขา เช่น การพัฒนาและนำพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ที่สามารถต้านทานกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมมาใช้และการทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ หรือในภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวที่เฉพาะเจาะจง เช่น การก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรม ระบบสำรองน้ำในโรงงาน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรายสาขา ตัวอย่างเช่น
ภาคการเกษตร
• การพัฒนาและเลือกใช้พันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม
• การทำวนเกษตร
• การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบชลประทาน
• การทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ (climate-smart agriculture)
• การใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล (remote sensing)
ภาคท่องเที่ยว
• เทคโนโลยีกักเก็บน้ำฝนและนำน้ำฝนกลับมาใช้ประโยชน์
• เทคโนโลยีกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด
• การท่องเที่ยวในรูปแบบของ virtual reality (VR), augmented reality (AR) หรือ metaverse
โครงสร้างทางกายภาพที่ช่วยป้องกันแหล่งท่องเที่ยวจากน้ำท่วมหรือลมพายุ
ภาคสาธารณสุข
• สถานพยาบาลที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ห้องหรือตึกปลอดภัยสำหรับรองรับและให้บริการผู้ป่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เป็นต้น
• ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาคอุตสาหกรรม
• โครงสร้างเชิงกายภาพที่ป้องกันโรงงานอุตสาหกรรมจากภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เช่น กำแพงป้องกันน้ำท่วมโรงงาน การออกแบบและก่อสร้างอาคารโรงงานให้สามารถต้านทานลมพายุรุนแรง
• ระบบสำรองน้ำและระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมมีน้ำและไฟฟ้าใช้ขณะที่เกิดภัยพิบัติ

ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (nature-related)
• การฟื้นฟูพื้นที่ป่า
• การป้องกันเขตชายฝั่งทะเล
• การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ

เมื่อมองมาที่ไทยแม้จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก แต่ไทยกลับเป็นประเทศติดอันดับ 1-10 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change มากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากพิจารณาจากดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) พบว่า ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และงานศึกษาของ Eckstein et al. (2021) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมูลค่า 7,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.82% ของ GDP ในช่วงปี 2000–2019 โดยส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร

จากงานศึกษาของ Thampanishvong et al. (2021) พบว่าภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน ดังนี้

ภาคท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรง น้ำแล้ง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวและทำให้โครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็กระทบต่อภาคท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้กำหนดแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยว

ภาคอุตสาหกรรม สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เช่น น้ำท่วมและน้ำแล้ง กระทบต่อกระบวนการผลิตและทำให้โรงงานหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย

ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูง ได้รับผลกระทบต่อผลิตผลของพืชและสัตว์ ตลอดจนพื้นที่ที่ใช้เพื่อทำการเกษตร โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมต่อภาคเกษตรของไทยในช่วงปี 2021–2045 คิดเป็นมูลค่า 0.61–2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912–83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง

หากภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยภายในปี 2050 อาจหดตัวถึง 4.9–43.6% (Swiss Re Institute, 2021) โดยไทยได้รับจัดอันดับเป็นลำดับที่ 44 จาก 48 ประเทศ ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจสูง และในกรณีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 – 2.6 องศาเซลเซียส คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ GDP ของประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 33 – 36 ในปี 2048 (พ.ศ. 2591)

เมื่อพิจารณาปัญหาในภาพรวมระดับโลก จากรายงาน Emissions Gap Report 2023 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า แผนงานและมาตรการต่าง ๆ ที่ทั่วโลกดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะสามารถควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2.5 – 2.9 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส

ที่กำหนดให้มีการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จากการดำเนินงานในแต่ละด้านไม่ว่าการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล, การเพิ่มพลังงานทดแทน 3 เท่า, การใช้และจำกัดการให้ใบอนุญาตโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ

จากสถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปัจจุบันนี้ จะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของโลกโดยรวม ดังนั้นความจำเป็นการลดปัญหาและปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงมีความสำคัญเร่งด่วน ไม่อาจรอช้าแม้แต่วินาทีเดียว

นั่นเพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศา แม้ตัวเลขต่ำ แต่ในภาพรวมถือว่ามีผลกระทบเยอะพอสมควร เนื่องจากหากเทียบกับช่วงเวลาที่อากาศร้อนที่สุด เมื่ออุณหภูมิเพิ่มไปอีก 1 องศานั่นเท่ากับจะยิ่งร้อนขึ้นไปอีก ซึ่งภาพรวมสภาพภูมิอากาศในช่วงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยร้อนขึ้น ร้อนนาน อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบสองเด้งทั้งจากภัยแล้ง และภัยน้ำท่วมมากขึ้น

อ้างอิง:
Climate Change Mitigation – การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ . SDG MOVE
ต.ค. 23, 2023 . แก้โจทย์ Climate Change ให้โลกอยู่ได้ คนอยู่รอด . TDRI
พ.ค. 12, 2566 . การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ . สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
เม.ย. 8, 2022 . มีอะไรในรายงานฉบับล่าสุดของ IPCC? by รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, ป่าสาละ

เครดิตภาพ: https://www.wxxinews.org/

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่