จับตา COP29 ลดพลังงานอย่างไร เมื่อกลุ่มตะวันออกกลางไม่เลิกฟอสซิล

Cr. : oilandgasmiddleeast

 

โลกจะได้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างในการประชุม COP29 ในเดือน พ.ย.นี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยอาจสูงถึง 3.1 องศาเซลเซียส

โดย – ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

เพียง 2 สัปดาห์ก่อนเวที COP29 หรือการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำปีของสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 11 – 22 พ.ย. 2024 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน องค์การสหประชาชาติประกาศตัวเลขน่าตกใจว่า โลกอาจเผชิญกับภาวะโลกร้อนสูงถึง 3.1 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ภายในปี 2100 นั่นทำให้เวที COP29 ปีนี้ถูกเพ่งเล็งขึ้นมาทันทีว่าจะมีการยกระดับการดำเนินการอย่างไรให้เข้มข้นขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาโลกรวน

ศ. ดร.ชนาธิป ผาริโน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

ศ. ดร.ชนาธิป ผาริโน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และเจ้าของเพจ Carbonoi ในฐานะผู้ที่ได้เข้าร่วม COP28 รวมทั้งร่วมเสวนาบทบาทของอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา Climate Change ของไทย เล่าถึงเรื่องที่มีความก้าวหน้าที่น่าพอใจเรื่องหนึ่งใน COP28 คือ Loss and Damage Fund ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการดำเนินของกองทุนช่วยเหลือทางการเงิน แก่ประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด กองทุนนี้เปิดตัวในปี 2022 และได้คำมั่นสัญญาเกือบ 300 ล้านดอลลาร์จากที่ประชุม COP28

สิ่งที่ต้องรีบทำต่อคือ Global Goal on Adapation พัฒนากลไกดำเนินงานเรื่อง Climate Adaptation ที่ผ่านมา เวที COP มีความก้าวหน้ามากเรื่อง Climate Mitigation หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย NetZero ของประเทศทั่วโลก จนกระทั่งกลุ่มประเทศตะวันออกกลางตกลงลดการผลิตพลังงานฟอสซิล และมีเป้าหมายเร่งพัฒนากำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้มากขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2030 แม้จะไม่มีข้อตกลงยกเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสิ้นเชิงก็ตาม

ใน COP29 ครั้งนี้ ศ. ดร.ชนาธิป ชวนจับตา 3 ประเด็นหลักที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

1. อัปเดตรายงาน Global Stocktake ครั้งใหญ่
เวลานี้ทั้งโลกต่างยอมรับแล้วว่าคงไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ทันตามเป้า 1.5 องศาเซลเซียส ตาม Paris Agreement เมื่อปี 2015 ได้ทันแน่ สะท้อนถึงความพยายามที่น้อยเกินไป การจัดทำรายงาน Global Stocktake จะเป็นการติดตามปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่สะสมรวมของทุกประเทศตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ (National Determined Contribution – NDC) ซึ่งจะมีการเร่งให้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น และถอดบทเรียนว่ายังขาดทรัพยากรใดเพื่อทำให้ทั้งโลกไปถึงเป้าหมาย คาดว่ารายงานฉบับนี้จะถูกสรุปอย่างเป็นทางการใน COP 29 ปลายปี 2025 ที่ประเทศบราซิล

2. ปฏิรูป Climate Finance
จาก COP28 ที่ได้รับคำมั่นสัญญาใหม่ในการสนับสนุนการเงินเข้าสู่ Loss and Damage Fund ในเวที COP29 จึงเป็นภาคต่อของการวางกรอบการทำงานให้กระจายเงินผ่านกลไกนี้ไปสู่ประเทศที่ต้องการได้เร็วที่สุด รวมถึงการบริจาคให้กับ Green Climate Fund (GCF) และ Adaption Fund เพิ่มขึ้น แต่เงินทุนที่โลกต้องการยังเกินกว่าข้อผูกพันในปัจจุบัน เวที COP29 ควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ ท่ามกลางความท้าทายที่ต้องจัดการกับความเห็นต่างต่อการร่างแผนสภาพภูมิอากาศระดับชาติ

สำหรับกองทุน Green Climate Fund ตั้งมาเมื่อปี 2010 แม้จะระดมทุนได้มากกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน แต่ยังมีข้อจำกัดในการจัดสรรเงินให้สมดุลระหว่างการ Mitigation และ Adpation และยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการจัดสรรเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปีให้ประเทศกำลังพัฒนา

3. ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม
COP28 ได้มีการตั้งเป้า Triple UP, Double Down หรือ การเพิ่มปริมาณพลังงานสะอาดให้ได้สามเท่าและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานให้ดีขึ้นสองเท่าภายในปี 2030 ซึ่งหากให้รัฐบาลแต่ละประเทศดำเนินการเองย่อมไม่ทันการ ต้องมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติม และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศที่ไม่มีคนและเทคโนโลยีพร้อม จะให้เลิกใช้ฟอสซิลทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ปีนี้จะมีการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ชนพื้นเมือง เยาวชน กลุ่มคนในพื้นที่ขัดแย้ง หรือกลุ่มอาชีพที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม (A Just and Equitable Energy Transition)

“กลุ่มประเทศตะวันออกกลางยอมรับว่ายังไงก็ไม่สามารถออกจากฟอสซิลได้ คำว่า Transition ของเขาคือ ลด ละ แต่ไม่เลิก แค่จะไม่เสพติดพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป”

เมื่อถามถึงจุดยืนของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ศ. ดร.ชนาธิป กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นนักเรียนแถวหน้า เป็นเด็กดีที่ปฏิบัติตามแนวทางของการประชุมนี้มาโดยตลอด ให้ความร่วมมือและ เห็นโอกาสในด้านการปรับตัวก่อน จนกระทั่งใกล้จะมีการออก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2026 ในขณะที่บางประเทศอาจจะดูเสียงดังกว่าในเวทีนี้ เพราะเขาได้รับความเดือดร้อนหนักจริงๆ ทั้งกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศแคริบเบียน และอีกหลายประเทศที่เศรษฐกิจเสียหายหนักจากภัยพิบัติของสภาพอากาศแปรปรวนจนประชาชนต้องอพยพย้ายถิ่น จึงต้องการทวงถามความรับผิดชอบจากผู้ปล่อยมลพิษหลัก

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชนาธิป เชื่อว่าเมื่อ Green Climate Fund มีกลไกการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศไทยก็จะได้รับโอกาสในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อมาพัฒนาโครงการต่างๆ ที่วางแผนไว้ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะยกระดับเป้าหมายของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ให้คำมั่นสัญญา NDC จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30 – 40 % จากกรณีดำเนินการตามปกติ ภายในปี 2030 ทั้งนี้ การขยับเป้าหมายตัวเลขที่มากขึ้นให้บรรลุเป้า Net Zero ในปี 2065 จะต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ พิจารณาความสามารถของทุกหน่วยงาน คำนึงถึงเทคโนโลยีและเงินทุนอย่างรอบคอบ หลังจากนั้นต้องยื่นข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการชาติและคณะรัฐมนตรี ก่อนนำไปแสดงต่อสหประชาชาติในท้ายที่สุด

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย