ไขปริศนา ‘ไมโครพลาสติก’เสี่ยงโรค-ก่อมะเร็ง?

นับเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญในระดับภูมิภาคด้านการศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลจาก “ไมโครพลาสติก” ที่มีต้นกำเนิดจากขยะพลาสติกบนบกที่ไหลลงสู่ทะเล กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

นั่นเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น – ไทย โดยมีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 7 แห่งของญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมให้การสนับสนุนการทำวิจัย

ขณะที่ฝั่งไทยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหอก จับมือเป็นพันธมิตรกับอีก 5 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมกับผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ

อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมสนับสนุน โดยมีภาคเอกชนระดับสากลเข้าร่วม คือ สมาคมการตลาดเพื่อการเกษตรและอาหารแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และองค์การสหประชาชาติ เอเซียแปซิฟิก (UN-AFMA-FAO Annex) เป็นภาคีเครือข่าย

เป้าหมายโครงการเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ทะเลและระบบนิเวศทางทะเล เพื่อนำผลศึกษาดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย หรือยุทธศาสตร์การจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เป้าหมายการวิจัยเพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากไมโครพลาสติกที่แตกตัวจากขยะพลาสติกที่ย่อยสลายกลายเป็นอนุภาคขนาดเล็ก จนกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเล

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ มนุษย์บริโภคสัตว์ทะเลเหล่านั้นเข้าไปสะสมในร่างกาย ซึ่งอาจจะก่อผลกระทบใดตามมา ถือเป็นการไขข้อข้องใจทางวิทยาศาสตร์โดยการศึกษาเชิงลึกถึงการกระจายตัวของไมโครพลาสติกว่ามีรูปแบบใดบ้าง และการแตกตัวมาจากพลาสติกประเภทใด และผลสุดท้ายเมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไปเป็นอาหารส่งผลต่อการเจริญเติบโตแบบปกติ หรือผิดปกติอย่างไร

“โดยเฉพาะไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลที่มนุษย์บริโภคเข้าไปทุกวัน ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา แนวโน้มผลกระทบเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดมนุษย์ในแต่ละระดับ อันตรายหรือมีความเสี่ยงที่จะก่อให้โรคมะเร็งเป็นอย่างไร รวมถึงการหาแนวทางป้องกันและลดขยะพลาสติกไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลด้วย” อาจารย์สุชนา ระบุ

ด้าน โสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกล้นทะเลเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกเป็นทะเล เฉพาะประเทศไทยมี 25 จังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล ยิ่งปัจจุบันมีการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างเกินกำลังที่ธรรมชาติจะรับไหว ทั้งการท่องเที่ยว คมนาคมขนส่ง หรือการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการทำประมงแบบไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจนทำให้ท้องทะเลไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตเกินเยียวยา

“จากปัญหาขยะล้นทะเลได้กลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลที่กินเข้าไปแล้วต้องเสียชีวิตจากถุงพลาสติกที่มาจากทั่วโลก จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลของงานวิจัยครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม และนโยบายการแก้ไขปัญหาขยะบกลงสู่ทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” โสภณ ระบุ

สำหรับโครงการดังกล่าวใช้เวลาศึกษา 5 ปี เริ่มตั้งแต่การศึกษาถึงระบบนิเวศ สภาพพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ความร่วมมือกับชุมชนและเครือข่ายสถาบันการศึกษา นอกจากนี้มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะทะเลในน่านน้ำไทย โดยเฉพาะขยะพลาสติก ให้สอดคล้องกับ SDGs14 หรือการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล อันเป็นการปกป้องและอนุรักษ์ทะเลและทรัพยากรในทะเลไทย

ผ่านการศึกษาวิจัย การมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึก และการสร้างชุมชนเข็มแข็ง รวมถึงจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง ยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในกระบวนการเฝ้าระวัง ตรวจติดตาม และป้องกันปัญหามลพิษจากขยะทะเลและขยะพลาสติกในน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน