“น้ำฝน” ที่เคยบริสุทธิ์ในอดีต วันนี้กลับปนเปื้อน “ไมโครพลาสติก” และ “สารเคมีอันตราย” จนไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค การค้นพบนี้สะท้อนถึงมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งคุกคามทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอย่างเงียบงัน
ในอดีต “น้ำฝน” ถูกมองว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในชนบท หรือพื้นที่ห่างไกล มักเก็บน้ำฝนมาใช้ดื่มกินและใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำที่สะอาด แต่ในยุคปัจจุบัน ความเชื่อนี้กำลังถูกตั้งคำถาม เมื่อการวิจัยทั่วโลกเริ่มเผยให้เห็นว่า น้ำฝนที่ตกลงมาจากฟากฟ้า ไม่ได้บริสุทธิ์อย่างที่คิด โดยเฉพาะการค้นพบ “ไมโครพลาสติก” (Microplastics) ซึ่งเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่มีอยู่ในน้ำฝนแทบทุกหยด
การที่ไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในมหาสมุทร ใต้ท้องทะเลลึก บนยอดเขา และแม้แต่ในน้ำแข็งขั้วโลก แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ การค้นพบว่าไมโครพลาสติกสามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศและตกลงมาพร้อมกับน้ำฝนได้ ซึ่งหมายความว่าไม่มีที่ใดในโลกนี้ปลอดภัยจากมลพิษชนิดนี้ แม้แต่พื้นที่ห่างไกลอย่างเทือกเขาร็อกกี้ในสหรัฐอเมริกา หรือที่ราบสูงทิเบต
การค้นพบไมโครพลาสติกในน้ำฝน
แต่หนึ่งในการวิจัยที่สร้างความตื่นตัวในวงกว้างเกิดขึ้นในปี 2019 โดยทีมนักวิจัยจาก U.S. Geological Survey (USGS) ซึ่งเก็บตัวอย่างน้ำฝนจากพื้นที่ต่างๆ ในรัฐโคโลราโด รวมถึงบริเวณเทือกเขาร็อกกี้ที่สูงกว่า 3,000 เมตร ผลการวิเคราะห์พบว่า มากกว่า 90% ของตัวอย่างน้ำฝน มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยพลาสติกใส เส้นใยสี หรืออนุภาครูปทรงอื่นๆ การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมือง หรือแหล่งน้ำที่มนุษย์ใช้ประจำวัน แต่มันกระจายตัวไปทั่วโลกผ่านชั้นบรรยากาศ
ต่อมาในปี 2020 วารสาร Science ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่าในพื้นที่อนุรักษ์ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา มีไมโครพลาสติกตกลงมาจากฟากฟ้ากว่า 1,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับขวดน้ำพลาสติกกว่า 120 ล้านขวด ฝนที่ตกลงมาในพื้นที่เหล่านี้กลายเป็น “ฝนพลาสติก” (Plastic Rain) ซึ่งไม่เพียงสะท้อนถึงปริมาณมลพิษที่มหาศาล แต่ยังบ่งบอกถึงความสามารถของไมโครพลาสติกในการเคลื่อนที่ผ่านลมและฝนไปยังทุกมุมโลก
ที่สำคัญกว่านั้น การวิจัยในปี 2022 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน พบว่า น้ำฝนทั่วโลกมีระดับของสารเคมีจากพลาสติก เช่น PFAS (Per- and Polyfluoroalkyl Substances) หรือที่เรียกว่า “สารเคมีตลอดกาล” สูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์ก สารเคมีเหล่านี้มาจากการย่อยสลายของพลาสติกและไม่สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ ทำให้ฝนทุกหยดกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
แหล่งที่มาที่ใหญ่ที่สุดของไมโครพลาสติกเหล่านี้ Janice Brahney นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัย Utah State ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาในวารสาร Science บอกว่า คือทางหลวง เพราะถนนมักเต็มไปด้วยขยะพลาสติกที่ถูกรถยนต์ย่อยสลายและปลิวขึ้นไปในอากาศ โดยทั่วไปอนุภาคเหล่านี้จะมีน้ำหนักเบากว่าดิน ดังนั้น เมื่ออนุภาคเหล่านี้ฟุ้งกระจายในอากาศ พวกมันก็สามารถเคลื่อนที่ไปในชั้นบรรยากาศได้อย่างง่ายดาย และถูกฝนที่ตกลงมาจับไว้ได้
Brahney กล่าวว่า แหล่งสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของฝนพลาสติกคือมหาสมุทร พลาสติกหลายล้านตันไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปี โดยพลาสติกส่วนใหญ่จะสลายตัวเป็นไมโครพลาสติก เมื่อคลื่นซัดเข้าชายหาดหรือฟองอากาศแตกตัวบนผิวน้ำทะเล อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กจะลอยขึ้นไปในอากาศ
ทำไมน้ำฝนที่มีไมโครพลาสติกถึงอันตราย?
ถึงแม้ว่าผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อร่างกายมนุษย์ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่หลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่น่ากังวลหลายประการ:
- การสะสมในร่างกาย: ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมากจนสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มน้ำหรือหายใจได้ มีการค้นพบไมโครพลาสติกในอุจจาระมนุษย์ เลือด และแม้แต่ปอด ซึ่งแสดงว่ามันสามารถแทรกซึมเข้าไปในระบบต่างๆ ของร่างกายได้
- สารเคมีอันตราย: ไมโครพลาสติกมักดูดซับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะหนักหรือสารอินทรีย์ เช่น PCBs (Polychlorinated Biphenyls) เมื่อมนุษย์บริโภคเข้าไป สารเคมีเหล่านี้อาจปลดปล่อยออกมาและส่งผลต่อระบบฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน หรือแม้แต่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง
- ผลกระทบระยะยาว: การทดลองในหนูพบว่าไมโครพลาสติกสามารถก่อให้เกิดความเครียดออกซิเดชันในตับ และรบกวนระบบไมโครไบโอมในลำไส้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หรือโรคอ้วน แม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในมนุษย์ แต่ความเสี่ยงนี้ไม่ควรมองข้าม
องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยระบุในรายงานปี 2019 ว่า ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปว่าไมโครพลาสติกในน้ำดื่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน แต่ก็แนะนำให้มีการวิจัยเพิ่มเติม และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดมลพิษพลาสติกทั่วโลก
น้ำฝนยังกินได้หรือไม่?
คำตอบที่ชัดเจนในวันนี้คือ “ไม่” น้ำฝนในยุคปัจจุบันไม่ปลอดภัยสำหรับการดื่มโดยตรงอีกต่อไป การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกและสารเคมีที่เกี่ยวข้อง ทำให้แม้แต่น้ำฝนจากพื้นที่ห่างไกลก็ยังมีความเสี่ยง แม้ว่าในบางประเทศที่มีการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด ระดับการปนเปื้อนอาจต่ำกว่า แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าน้ำฝนจะปราศจากสารอันตรายเหล่านี้
ฝนพลาสติกเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่แก้ไขได้ยากกว่าปัญหาฝนกรดมาก “มันแย่กว่าปัญหาฝนกรดมาก” บราห์นีย์กล่าว “ฝนกรดอาจทำให้เราหยุดปล่อยสารตั้งต้นที่เป็นกรดได้ และฝนกรดก็จะหยุดตกลงมา แต่เราไม่สามารถหยุดวงจรไมโครพลาสติกได้อีกต่อไป ไมโครพลาสติกมีอยู่จริงและจะไม่หายไปไหน”
สำหรับผู้ที่เคยชินกับการเก็บน้ำฝนมาใช้ในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องมีระบบกรองที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การใช้ตัวกรองแบบ reverse osmosis หรือการต้มน้ำ ซึ่งอาจช่วยลดปริมาณไมโครพลาสติกและสารเคมีบางส่วนได้ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดได้ทั้งหมด ทางเลือกที่ดีกว่าคือการหันมาใช้น้ำประปาที่ผ่านการบำบัด หรือน้ำดื่มที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย
อ้างอิง :
- https://www.vox.com/climate/401600/pfas-microplastics-pollution-rain
- https://www.iflscience.com/should-you-drink-rainwater-not-if-you-can-help-it-its-not-safe-anywhere-in-the-world-78482
- https://www.bangkokbiznews.com/environment/1172409