รศ.ดร.ประวิทย์ โตวัฒนะ คณะวิจัยการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในทะเล สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผย igreen ว่า นักศึกษาของสถาบันฯ ได้ทำการวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกมาก่อนจะมีข่าวพบไมโครพลาสติกในปลาทูของไทย โดยก่อนหน้านี้นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรการจัดการทางทะเลและชายฝั่ง ชาวบังคลาเทศของสถาบันฯ ศึกษาพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาเศรษฐกิจของอ่าวไทยหลายชนิดมากกว่าหนึ่งของตัวอย่าง ซึ่งเป็นปลาที่จำหน่ายอยู่ในตลาดของ อ.สทิงพระ จ.สงขลา และงานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศไป เมื่อปี 2561
สำหรับการศึกษาล่าสุดโดย แพทตริเชีย แบลร์ นักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก ชาวมาเลเซีย ได้ทำการวิจัยพบไมโครพลาสติกในท้องปลาหมึก และหอย ซึ่งงานวิจัยเรื่องนี้ก็ทำมาก่อนที่จะมีการศึกวิจัยพบไมโครพลาสติกในท้องปลาทูของศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกได้กระจายเข้าไปอยู่ในกระเพาะของปลาและสัตว์ทะเลต่างๆ ไปทั่วโลก เช่นเดียวกับที่มีการศึกษาพบในฝั่งประเทศยุโรป
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ประวิทย์ ได้สรุปรายละเอียดงานวิจัย 2 เรื่อง ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ ในหัวข้อ “ไมโครพลาสติกภัยเงียบที่มองไม่เห็นในปลาเศรษฐกิจของอ่าวไทย” มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักฐานชิ้นแรกทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลและมนุษย์ในอ่าวไทยตอนล่าง ประกอบด้วย 1) First Evidence of Existence of Microplastic in Stomatch of Some Commercial Fishes in the Lower Gulf of Thailand 2) Ingestion of Microplastic by Some Commercial Fishes in the Lower Gulf of Thailand: A Prelimary Approach to Ocean Conservation: ซึ่งศึกษาโดยคณะวิจัยการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในทะเล จากสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ไมโครพลาสติก (Microplastic) มี 2 ชนิด คือ
1.ไมโครพลาสติกปฐมภุมิ (Primary microplastic) ซึ่งเป็นไมโครพลาติกที่ถูกผลิตขึ้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มม. เช่น Microbead ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นส่วนผสมในเวชสำอาง ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้พยายามยกเลิกการผลิตไมโครพาสติกปฐมภูมิ สำหรับใช้ในการผลิตเวชสำอางแล้ว เนื่องจากทราบถึงปัญหาของมันที่จะก่อมลพิษในสภาพแวดล้อมแล้ว
2.ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ ( Secondary microplastic) เกิดจากผลิตภัณฑ์พลาสติกทุกชนิดที่ถูกผลิตขึ้นมาตามการใช้งานตามปกติ หรือถูกละทิ้งเป็นขยะ เมื่อมันถูกอากาศ (ออกซิเจน) แสงแดด และน้ำ มันจะแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยลงตามระยะเวลาที่ผ่านไปและเมื่อใดที่มันแตกหักลงแล้วเศษชิ้นส่วนที่แตกหักเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มม. จะถูกเรียกว่าไมโครพลาสติกทุติยภูมิ และถ้ามันมีขนาดเล็กลงจนมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร จะถูกเรียกว่า นาโนพลาสติก (Nanoplastic)
ดังนั้น ถุงพลาสติก 1 ถุงขนาดเท่ากระดาษ A4 1 แผ่น สามารถแตกหักเป็นไมโครพลาสติกได้จำนวนประมาณ 8,000 ชิ้น และแตกหักต่อไปเป็นนาโนพลาสติกจำนวนหลายหมื่นชิ้น การเกิดไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกสามารถเกิดได้ทั้งในสภาพแวดล้อมที่อยู่บนบกและในทะเล แต่ในทะเลมีแรงกระแทกของคลื่นและกระแสน้ำด้วยจึงมีโอกาสที่ขยะพลาสติกชิ้นใหญ่จะแตกหักเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกมากกว่าสภาพแวดล้อมบนบก
ในแต่ละปีที่ประเทศไทยและทั่วโลกทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นจำนวนหลายร้อยล้านตันต่อปี จึงคาดคะเนได้ว่าจะมีขยะไมโครพลาสติกนับเป็นพันล้านล้านชิ้นปลดปล่อยลงสู่ทั้งทะเลทุกปีและมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นผลทำให้มีโอกาสที่ไมโครพลาสติกเหล่านี้จะปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเลแพร่กระจายไปทั่วทุกแห่งในโลกเนื่องจากกระแสและคลื่นจากน้ำทะเลพัดพาไป
นอกจากนี้ไมโครพลาสติกเหล่านี้มันยังสามารถฟุ้งกระจายปนเปื้อนในน้ำทะเลได้ตั้งแต่ผิวน้ำจนถึงก้นมหาสมุทร เพราะว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าพลาสติกมีหลากหลายชนิดที่มีความหนาแน่นแตกต่างกันไปตั้งแต่เบากว่าจนถึงหนักกว่าน้ำทะเลจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มันสามารถลอยปะปนปะปนไปกับแพลงตอนชนิดต่าง ๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำและจมลงสู่พื้นทะเลทำให้สัตว์หน้าดินกินมันเข้าไปและสะสมอยู่ในตัวของสัตว์หน้าดินซึ่งผลจากการที่
ไมโครพลาสติกปะปนไปกับแพลงตอนและสัตว์หน้าดินทำให้สัตว์น้ำสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ เช่น หอย กุ้ง ปู ปลาหมึกและปลากินแพลงตอนและสัตว์หน้าดินเหล่านี้เข้าไปรวมทั้งไมโครพลาสติกก็จะถูกสัตว์ทะเลเหล่านี้กินเข้าไปและสะสมอยู่ในตัวของมันด้วย
ดังนั้น มนุษย์เมื่อบริโภคสัตว์ทะเลเหล่านี้เข้าไปก็จะบริโภคไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายของมนุษย์ด้วยในระดับปริมาณที่มากกว่าสัตว์ทะเลเหล่านี้ด้วยเนื่องจากมนุษย์เป็นผู้บริโภคสูงสุดในห่วงโซ่อาหารหรือ Top food chain นั้นเอง
จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นทำให้ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถเดินทางไปไกลได้ทั่วโลกโดยกระแสน้ำทะเลและคลื่นจะเคลื่อนย้ายมันจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ดังนั้นคาดว่าอาหารทะเลทั่วโลกมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ศักยภาพของไมโครพลาสติกในการเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และความมั่นคงทางอาหาร ในด้านต่าง ๆ
ด้านเคมี
1.สารปรุงแต่ง (ชนิดของสารเคมีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นความลับทางการค้า) ที่ใส่ลงไปในพลาสติกเพื่อทำให้พลาสติกมีสีสันต่าง ๆ และมีคุณสมบัติ เช่น แข็งยืดหยุ่น และทนทานเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่สารปรุงแต่งเหล่านี้อาจมีศักยภาพที่จะเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์และสัตว์
2.ไมโครพลาสติกมีศักยภาพในการดูดซับโลหะหนักที่ละลายปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเลได้
3.ไมโครพลาสติกมีศักยภาพในการดูดซับ POPs ( Persistent Organic Pollutants) คือสารมลพิษอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน เช่น สารกำจัดศัตรูพืช DDT และ PCB เป็นต้น
ด้านกายภาพ
ไมโครพลาสติก ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารของสัตว์ทะเล การหายใจ การเจริญพันธุ์ และการเจริญเติบโตของสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น หอยแมลงภู่ และปลาหลายชนิด
จากลักษณะต่าง ๆ ของไมโครพลาสติกดังกล่าวข้างต้น ไมโครพลาสติกจึงมีศักยภาพที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และร่างกายของมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคมันเข้าไป ประกอบกับมันมีขนาดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและแพร่กระจายไปทั่วมวลของน้ำทะเล จึงเป็นการยากมากในทางปฏิบัติและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเอาไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่เหล่านี้ออกมาจากน้ำทะเล
นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกที่ตกค้างและปนเปื้อนในทะเลนี้ยังต้องใช้เวลานานประมาณไม่น้อยกว่า 200-300 ปีในการย่อยสลายตัวเองให้หมดไป ดังนั้น ไมโครพลาสติกจึงเป็น “ภัยเงียบที่มนุษย์ที่มองไม่เห็น” และไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเข้าไปในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์และสัตว์ทะเลทั่วโลก