นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับของโครงการ “สิ่งมหัศจรรย์แห่งแม่น้ำโขง” (Wonders of the Mekong) ในกัมพูชาซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก USAID และองค์กร FISHBIO พบปลากระเบนราหู (Urogymnus polylepis) ขนาดมหึมาในแม่น้ำโขงในกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2022 ซึ่งมันมีน้ำหนักมากถึง 300 กิโลกรัม ถือเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้
ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น นักวิทยาศาสตร์ Wonders of the Mekong ได้สร้างเครือข่ายชาวประมงท้องถิ่นเพื่อรับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับปลากระเบนยักษ์ที่จับได้ในระหว่างการประมงในท้องที่ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ได้มีการดักจับปลากระเบนราหูได้ทั้งหมด 3 ตัว และทีม Wonders of the Mekong ได้เดินทางไปยังจุดที่จับได้เพื่อวัดน้ำหนักและขนาดของปลาแต่ละตัว เพื่อช่วยปล่อยกลับสู่แม่น้ำได้ง่ายขึ้น
ตามปกติแล้วปลากระเบนราหูทั้งหมดมีขนาดมหึมา แต่เมื่อชาวประมงโทรมาหาหน่วยงานเพื่อแจ้งเรื่องปลาที่จับได้ครั้งล่าสุด พวกเขาบอกว่าปลาตัวที่เพิ่งจับได้นี้มีขนาดใหญ่ใหญ่มาก ๆ และเมื่อทีมงานโครงการรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ของ FISHBIO มาถึง พวกเขาก็ต้องตกตะลึงกับขนาดของมัน เพราะมันใหญ่สุด ๆ จริง ๆ
ปลากระเบนราหูที่จับได้เป็นตัวเมีย มีน้ำหนัก 300 กิโลกรัม และกว้าง 2.2 เมตร ยาว 4 เมตรจากปลายจมูกถึงปลายหาง เว็บไซต์ของ FISHBIO บอกว่า “ขนาดของมันเพียงพอที่จะทำให้มันได้รับตำแหน่งปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมากกว่าสถิติก่อนหน้านี้ที่ถือครองโดยปลาบึกยักษ์ในแม่น้ำโขง (Pangasianodon gigas) 293 กก. ที่จับได้ในปี 2005 (พ.ศ. 2548)”
ทีมงานได้ตรึงปลากระเบนราหูตัวนี้ไว้ในผ้าใบกันน้ำขนาดใหญ่ที่รองเอาไว้ในแม่น้ำ และจากนั้นทำการผ่าตัดเล็กใกล้โคนหางแล้วสอดแท็กอะคูสติกขนาดเล็กสำหรับติดตามความเคลื่อนไหวของมัน หลังจากเย็บบริเวณที่ทำการผ่าตัดและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว ทีมงานก็ปล่อยปลากระเบนราหูตัวนี้กลับลงไปในแม่น้ำ
แท็กที่ติดตามมันไปจะปล่อยสัญญาณเสียงใต้น้ำ ซึ่งเครื่องรับเสียงที่ติดตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่ปล่อย จะติดตามและบันทึกข้อมูลไว้ หากปลากระเบนอพยพไปตามแม่น้ำ ก็อาจถูกตรวจพบโดยเครื่องรับอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ทีมงานได้ติดตั้งไว้ตลอดลุ่มน้ำ แท็กดังกล่าวจะส่งสัญญาณต่อไปเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี โดยทีมงานหวังว่าจะให้ข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของปลากระเบนราหูยักษ์ในแม่น้ำโขง
FISHBIO กล่าวว่า เนื่องจากแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจากการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำความเข้าใจความต้องการทางนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่และมีความอ่อนไหวของพวกมัน เช่น ปลากระเบนยักษ์ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น
ข้อมูลและภาพจาก
“FISHBIO Scientists Tag World’s Largest Mekong Giant Stingray in Cambodia”. ( June 20, 2022). FISHBIO