10 ประเด็นร้อน ‘ตัดด้ามขวานทอง’‘วาระซ่อนเร้น’ บังตาความคุ้มค่า-ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โครงการขุดคลองไทยไม่ได้มีประเด็นแค่ว่า สภาโหวตคว่ำหรือ โหวตผ่าน “รายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้” ตามที่ประชุมสภาลงมติไปเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 แต่อยู่ที่ว่าควรทำ หรือไม่ควรทำโครงการนี้หรือไม่ต่างหาก iGreen จึงสรุปสาระสำคัญเพื่อความเข้าใจอย่างน้อย 10 ประเด็นที่ควรรู้ ดังนี้

1) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2563 โดยมี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังชาติไทย (ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว) ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการ โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่รองประธานคนที่ 1 มีกำหนดระยะเวลาศึกษา 120 วัน และมีการขยายเวลาอีกหลายครั้งเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 (ศึกษาวันที่ 17 ม.ค. 2563 ถึง 24 ก.ค. 2564 รวม 555 วัน)

2) ขณะเดียวกันยังได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นอีก 3 คณะ ดังนี้ 1) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย 2) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และ 3) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม ความมั่นคง และการเมือง เพื่อพิจารณาศึกษาและจัดทำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสภาฯ

3) วันที่ 21 ม.ค. 2565 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่แทนประธานนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาฯ โดยสรุปสาระสำคัญว่า “คลองไทย” เป็นภูมิยุทธศาสตร์ที่ดีเหมาะสมที่จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก โดยแนวคลองที่เหมาะสมที่สุดคือ เส้น 9A ผ่าน 5 จังหวัดคือ กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา จากนั้นได้มีการเปิดให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น

4) นายประเสริฐพงษ์ ​ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า “ผมไม่เห็นด้วย อย่าส่งให้รัฐบาล อายเขา ไม่สมควรดำเนินโครงการนี้ อย่าหวังว่าพระเครื่องรุ่นที่หนึ่งที่เอามาให้ผมเป็นค่าปิดปาก เพื่อให้ สส.ผ่านรายงานนี้ วางสิบพระเครื่องรุ่นดี ๆ ผมก็ไม่ผ่านให้” นอกจากนี้ยังระบุว่า รายงานฉบับนี้เป็นการรับเงินจากนายทุนเพื่อให้ผลักดันโครงการเดินหน้า​ ขณะที่ นายพิเชษฐ์พยายามโต้แย้งว่า ที่ไม่สามารถดำเนินโครงการนี้ได้เพราะมีกลุ่มทุนต่างประเทศหว่านเงินหลักหมื่นล้านถึงแสนล้านบาทเพื่อขัดขวาง ทั้งที่ผลการศึกษาเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อประเทศ

5) ภายหลังพรรคก้าวไกลยืนยันไม่รับรายงานฉบับนี้จึงต้องมีการลงมติ แต่องค์ประชุมไม่ครบทำให้สภาล่ม ประธานในที่ประชุมจึงขอให้เลื่อนการลงมติออกไปก่อน จึงเป็นที่มาของการโหวตคว่ำผลการศึกษาคลองไทยในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 โดยผลการลงมติที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ. 144 เสียง เห็นด้วย 121 เสียง งดออกเสียง 53 เสียง จึงทำให้รายงานฉบับนี้ตกไป

6) วันนั้นนายพิเชษฐ์ไม่พอใจวิธีการลงมติจนเป็นเหตุให้คว่ำรายงานการศึกษาการขุดคลองไทยฯ โดยระบุว่า ได้มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลการขุดคลองไทยเพื่อส่งให้รัฐบาลนำข้อมูลไปศึกษาเชิงลึกและตัดสินใจในอนาคต ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านก็ได้ท้วงติงว่า ผลการลงมติจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภา เพราะการที่ประธานถามสมาชิกว่าจะเห็นชอบกับรายงานหรือไม่ ทำให้มติออกมาไม่เห็นชอบ และทำให้ผลการศึกษาของ กมธ.ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นการสูญเสียงบประมาณและเวลา แต่ควรให้โหวตเฉพาะข้อสังเกตเท่านั้น ส่วนรายงานเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็ส่งให้รัฐบาลไปประกอบการพิจารณา

7) ย้อนมาดูข้อสังเกตเรื่องการขุดคลองไทยจากนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เขาเห็นว่า เนื้อหาในรายงานมีลักษณะ ‘ชี้นำมากเกินไป’ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและจะมีผลกระทบที่ตามมาหลายด้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นกลาง ตั้งอยู่บนการวิเคราะห์ผ่านข้อมูลที่รอบด้านมาประกอบกันเพื่อตัดสินใจว่าโครงการนี้ควรทำหรือไม่ แต่รายงานฉบับนี้ยังมีอีกหลายคำถามที่ยังตอบไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • คิดแค่บนแผนที่หรือไม่ : เพราะแนวขุดที่เสนอคือแนว 9A ต้องตัดผ่านภูเขาสูง 383 เมตร หรือสูงกว่าตึกมหานคร และต้องขุดแนวกว้างเป็นกิโลเมตร เป็นปัญหาที่ยากในทางทางวิศวกรรม 
  • จะคุ้มค่าได้อย่างไร : เปรียบเทียบการขนส่งยุคปัจจุบัน คลองสุเอซย่นเวลาได้ 8-10 วัน, คลองปานามาย่นเวลาได้ 22 วัน แต่คลองไทยย่นเวลาได้แค่ 2 วัน ในมุมคมนาคมไม่คุ้มค่าแน่นอน  
  • อพยพประชากรอย่างไร : เพราะโครงการจะต้องเวนคืนที่ดินขนาด 14 เท่าของภูเก็ต คือ ยาว 135 กม. กว้าง 60 กม. รวมพื้นที่เป็น 8,100 ตร.กม. หมายความว่า จะมีประชาชนจำนวนมหาศาลสูญเสียที่อาศัยและที่ทำกินจำนวนมาก ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติก็จะได้รับผลกระทบมหาศาล จึงมีคำถามตามมาไม่น้อยว่า ‘คุ้มค่า’ กับสิ่งที่ต้องเสียไปหรือไม่ 
  • นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า ประการที่รัฐจะตัดสินใจให้ขุดหรือไม่ขุดคลองไทยควรอยู่บนพื้นฐานของคำถามที่ว่า ‘ควรทำหรือไม่ควรทำ’ ไม่ใช่ ‘อยากได้หรือไม่อยากได้’ แล้ว Vote เอา เพราะเรากำลังพูดถึงการลงทุนด้วยเงินมหาศาล ที่ไม่ใช่แค่ Mega Project แต่เป็น Giga Project ด้วยซ้ำ เวลาเราพูดถึงการลงทุนด้วยเงินมหาศาล จำเป็นอย่างยิ่งต้องคำนึงถึง ‘ความคุ้มค่า’ ของโครงการ ทั้งในทางเศรษฐกิจ (EIRR) และทางการเงิน (FIRR) อีกทั้งต้องตอบคำถามอีกมากมายให้ได้ทั้งในแง่ของวิศวกรรม ผลกระทบต่อชุมชน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความมั่นคงแห่งรัฐในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลก แน่นอนครับ มันไม่ง่าย และต้องมีข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนก่อนการตัดสินใจอย่างมีวุฒิภาวะ

8) มาดูรายละเอียดแนวขุดขุดคลองไทยเส้น 9A เริ่มจากเกาะลันตา จ.กระบี่ ถึงปากเมง อ.สิเกา จ.ตรัง ผ่าน อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา จ.ตรัง เข้าเขต จ.นครศรีธรรมราช ที่ อ.ทุ่งสง อ.ชะอวด ผ่านเข้า จ.พัทลุง ที่ อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน ทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และตัดออกทะเลอ่าวไทยที่คลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา รวมพื้นที่ 5 จังหวัด ผ่าน 8 อำเภอ 24 ตำบล 94 หมู่บ้าน 

9) จากผลการศึกษาระบบนิเวศปากคลองไทยฝั่งอันดามันของคณะประมง ม.เกษตรฯ สนับสนุนโดย สวทช. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานฯ รวมถึง IUCN เบื้องต้นพบว่ามีการพบสิ่งมีชีวิตเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลเดิมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) บางชนิดเป็นสัตว์ที่พบเป็นครั้งแรกในไทย นอกจากนี้ยังมีสัตว์ทะเลหายากประเภทสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine mammals) ในพื้นที่ 19 ชนิด จาก 28 ชนิดของไทย โดยพบสัตว์ที่ IUCN จัดให้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) 2 ชนิด มีรายงานสัตว์สงวนทางทะเลในพื้นที่ 4 ชนิดจาก 5 ชนิดของไทย ฯลฯ

10) ในแง่ “ความคุ้มค่า” ซึ่งมักมองกันในแง่ผลตอบแทนจากรายได้การให้บริการท่าเรือ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงเชื่อมั่นว่าเมื่อมีคลองไทยแล้วบรรดาเรือสินค้าทั้งหลายจะมาใช้บริการกันอย่างคึกคัก ซึ่งจะเป็นการเบียดแย่งรายได้มาจากสิงคโปร์ที่ได้ประโยชน์จากช่องแคบมะละกามายาวนาน ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ขณะเดียวกันอาจจะมี “ผลเสีย” ตามมาและไม่คุ้มค่าการลงทุนมากกว่าด้วยซ้ำ รวมทั้งอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคตอีกด้วยดังตัวอย่าง เช่น

  • รศ.สถาพร เขียววิมล อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ วุฒิสภา ให้ข้อมูลไว้ในรายงานการศึกษาโครงการขุดคลองไทย ปี 2547 ว่า หากคำนวณจากความเร็วมาตรฐานสากลที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรแล่นผ่านช่องแคบได้ไม่เกิน 20 กม.ต่อชั่วโมง คลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาได้ 2 – 7 วัน 
  • ขณะที่ รศ.รุธิร์ พนมยงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ประเทศที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดหากคลองไทยเกิดขึ้น คือ จีนและเกาหลีใต้ โดยจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 15-20 ปี ส่วนไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์ไม่มากเพราะเป็นเพียงประเทศทางผ่านเท่านั้น และว่าคลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาได้ไม่ถึง 2 วัน เมื่อเทียบกับต้นทุนที่เรือแต่ละลำต้องจ่ายค่าผ่านคลองแล้ว การเดินเรือผ่านคลองไทยอาจมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้เส้นทางเดิม
  • สำหรับผลกระทบด้านความมั่นคง พล.ร.ต.จตุพร ศุขเฉลิม อนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า การขุดคลองไทยจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเคลื่อนกำลังพลไปสู่ภูมิภาคอื่น และอาจเป็นปัจจัยชักจูงให้ประเทศมหาอำนาจพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือคลองไทยเพื่อควบคุมเส้นทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ 
  • พล.ร.ต.จตุพร ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ประเทศจิบูติซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงกับคลองสุเอซ ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ที่เรือทุกลำที่ใช้คลองสุเอซต้องเดินทางผ่าน ปัจจุบันจิบูติประเทศที่มีเนื้อที่ประมาณ 23,000 ตร.กม. มีประชากร 9 แสนคน กลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือจากมหาอำนาจทั้ง ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และล่าสุดปี 2560 จีนก็เลือกจิบูติเป็นที่ตั้งของฐานทัพต่างแดนแห่งแรกเช่นกัน

อ้างอิง:

https://bit.ly/3AXCwCS

https://bit.ly/3shzMMG

https://bit.ly/3LdNmsS

https://bit.ly/3L4G6Q6

https://bit.ly/3gs7Jo6

ภาพประกอบ: https://bit.ly/3GxnIvI

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน