รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วราวุธ ศิลปอาชา) ประกาศจะนำชื่อของ “มาเรียม” พะยูนกำพร้าแม่ที่เสียชีวิตไป เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่เราคิดว่ากรณีนี้ยังต้องมีการนำมาเป็นบทเรียนสำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มากกว่านั้น
I green ได้สัมภาษณ์ เพชร มโนปวิตร นักวิชาการ นักอนุรักษ์ อดีตรองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ปัจจุบันทำ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศแคนาดา เพื่อให้เห็นมุมมองและความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและจัดการปัญหาคู่ขนานกันไป
สังคมไทยควรได้เรียนรู้อะไรกรณีการเสียชีวิตของมาเรียม (เจอพลาสติกในลำไส้ทั้งที่มีการดูแลอย่างดี)
ที่จริงสังคมได้เรียนรู้เยอะมากจากกรณีของมาเรียม การช่วยเหลือมาเรียมนับเป็นการเลี้ยงดูพะยูนในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติครั้งแรกในโลก อันนี้ต้องชื่นชมหัวใจของทีมงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่นำโดย ดร.ก้องเกียรติ (กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) เพราะยากกว่าการเลี้ยงในบ่อหลายเท่ามาก และแน่นอนว่ามีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้นานัปการ แต่เพราะตั้งใจอยากให้มาเรียมได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ จึงเลือกวิธีนี้ ลำพังเลี้ยงให้รอดอาจจะไม่ยาก แต่สุดท้ายถ้ามาเรียมมีชีวิตลำพังอยู่ในบ่อไปตลอดชีวิต ตรงนี้ก็พูดยากว่าคุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไร
เราแทบไม่เคยมีสัตว์ทะเลหายากที่คนไทยรู้สึกใกล้ชิดมากขนาดนี้มาก่อน นอกจากความน่ารักส่วนตัวแล้ว คิดว่าส่วนหนึ่งที่คนทั่วไปประทับใจคงเป็นอิสรภาพที่มาเรียมได้รับ ได้ว่ายน้ำเล่น ออกกำลังกาย โดยมีแม่นมที่เป็นมนุษย์คอยอุ้มชูดูแล คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นช่วยสร้างความตระหนักถึงคุณค่า ความงดงาม ความสำคัญของสัตว์อย่างพะยูนขึ้นมหาศาลในสังคมไทย และนี่คือสัตว์ที่มีอยู่จริงๆ ในประเทศไทย ที่คนไทยต้องช่วยกันหาทางปกป้องรักษาเอาไว้ให้ได้
เรามีพะยูนนิรนามตายทุกปี ๆ ละกว่า 10 ตัวจากจำนวนพะยูนเหลืออยู่แค่ราว 200 ตัว อย่างมากก็เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ แล้วก็เงียบหายไป ก็หวังว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศที่ได้มีโอกาสรู้จักมาเรียมผ่านสื่อต่าง ๆ จะเห็นความสำคัญของสัตว์หายากเหล่านี้มากขึ้น และทุกฝ่ายจะช่วยกันหาทางออก เพราะพะยูนจะอยู่ได้ ต้องจัดการดูแลแหล่งหญ้าทะเลให้ดี ซึ่งหมายความว่าต้องมีการจัดการเรื่องการทำประมง เรื่องการท่องเที่ยว ไปจนถึงการจัดการขยะและมลภาวะให้ได้อย่างเป็นระบบ
กลับมาในเรื่องของขยะพลาสติก ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่เรารณรงค์กันมานาน โดยเฉพาะในระยะหลัง แต่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า การทิ้งให้ถูกที่ คือทางออก ต้องเลิกมักง่ายทิ้งขยะลงทะเล แต่ความจริงขยะส่วนใหญ่ในทะเลมากถึง 80% มาจากทางบก นั่นหมายความว่า ในขณะที่ทุกคนมีส่วนช่วยอนุรักษ์มาเรียมได้ แต่เราทุกคนก็มีส่วนทำให้มาเรียมเสียชีวิตเช่นกัน จากขยะที่เราสร้างขึ้นทุก ๆ วัน ทางออกสำคัญที่สุดจึงต้องลดขยะที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยที่สุด และปรับปรุงการคัดแยกให้เกิดเป็นรูปธรรมสักที
ขยะที่พบในทางเดินอาหารของมาเรียมคือเศษถุงพลาสติกหูหิ้วที่เรายังคงใช้กันดาษดื่น เพราะฉะนั้นอาจจะมาจากไหน จากใครก็ได้ เมื่อขยะเหล่านี้หลุดรอดออกสู่สภาพแวดล้อม ตอนนี้งานวิจัยพบว่าสัตว์ทะเลที่หากินในแนวหญ้าทะเลหลงกินเศษพลาสติก เพราะหลงคิดว่าเป็นอาหาร โดยเฉพาะเต่าทะเล กรณีของมาเรียมเป็นหลักฐานสำคัญว่า ขยะพลาสติกก็เป็นอันตรายต่อพะยูนเช่นกัน
โดยมากสัตว์ในวัยเด็กจะยิ่งเจ็บป่วยจากการกินพลาสติกได้ง่ายกว่า เพราะอ่อนแอและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ลูกนกทะเลจำนวนมากเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ทันออกจากรัง เพราะแม่เอาขยะพลาสติกมาป้อน อันนี้ไม่ใช่เพราะสัตว์โง่ แต่เพราะพลาสติกเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อม มักจะมีสาหร่ายที่เติบโตอยู่บนผิวขยะพลาสติก และปล่อยกลิ่นไดเมธิล ซัลไฟด์ (DMS) ออกมา เมื่อถูกตัวคริวกัดกิน กลิ่นไดเมิธิล ซัลไฟด์เป็นกลิ่นเฉพาะที่บอกให้นกและสัตว์ทะเลรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอาหาร นกทะเลและปลาจึงพุ่งตรงเข้ามากินพลาสติก เพราะคิดว่ากำลังกินตัวคริวและสาหร่าย
พฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์แต่ละชนิดเกิดจากวิวัฒนาการนับล้านปีเพื่อให้เหมาะกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมนั้น ๆ จึงไม่ถูกต้องที่จะบอกว่าสัตว์ทะเลไม่ฉลาดที่หลงกินพลาสติกที่อยู่รอบตัวเข้าไป พลาสติกจำนวนมากเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศและถูกสภาพแวดล้อมทำให้มันส่งสัญญาณว่ามันเป็น “อาหาร” ที่กินได้
“พลาสติกเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อม มักจะมีสาหร่ายที่เติบโตอยู่บนผิวขยะพลาสติก และปล่อยกลิ่นไดเมธิล ซัลไฟด์ (DMS) ออกมา เมื่อถูกตัวคริวกัดกิน กลิ่นไดเมิธิล ซัลไฟด์เป็นกลิ่นเฉพาะที่บอกให้นกและสัตว์ทะเลรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอาหาร นกทะเลและปลาจึงพุ่งตรงเข้ามากินพลาสติก เพราะคิดว่ากำลังกินตัวคริวและสาหร่าย”
ทช.หรือสังคมควรขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทะเลมากขึ้นอย่างไร
คิดว่า ทช.พยายามทำงานอย่างเต็มที่จริง ๆ กับเรื่องของมาเรียมและได้ช่วยจุดประเด็นกระแสการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่น่าประทับใจมาก ๆ อีกอย่างคือการพยายามอนุรักษ์มาเรียมด้วยข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ เรามีฐานข้อมูลที่ดีมากทั้งในส่วนของแหล่งหากิน จำนวนประชากร พฤติกรรม หรือแม้แต่การเลี้ยงดูลูกพะยูนขนาดเล็กอย่างมาเรียมและยามีล ต้องอาศัยความเข้าใจในเชิงชีววิทยา พฤติกรรม โภชนาการ เราได้เห็นการบูรณาการความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
แต่การอนุรักษ์สัตว์หายากไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่ที่สัตว์ทะเลหายากอาศัยก็เป็นพื้นที่ที่มนุษย์มีการใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะกิจกรรมประมง การท่องเที่ยว การเดินเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่ซ้อนทับกับพื้นที่หากินของสัตว์เหล่านี้ทั้งสิ้น ในกรณีของพะยูนเรามีข้อมูลที่มีการรวมบรวมอย่างเป็นระบบดีมาก ๆ เรารู้ว่าต้องทำอย่างไรพะยูนถึงจะอยู่รอดได้ แต่นั่นหมายความว่า กิจกรรมและเครื่องมือประมงบางอย่างอาจจะต้องขอร้องให้เลิกใช้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ของพะยูนหนาแน่น
เราต้องเอาข้อมูลจริง ๆ มาพูดกัน ซึ่ง ทช.เองก็มีข้อมูลอยู่แล้ว สาเหตุหลักของการตายส่วนใหญ่ของพะยูน (ราวร้อยละ 90) เกิดจากการติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น เครื่องมือประมงที่พะยูนมาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ เครื่องมือประมงเหล่านี้หลายอย่างก็เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน จะทำอย่างไรให้เกิดข้อตกลงกับชุมชนได้ว่า บริเวณไหนควรงดเครื่องมือประเภทใด
การจัดสรรปันส่วนพื้นที่อย่างสมดุลย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้หากใช้ข้อมูลมาปรึกษาหารือร่วมกัน การอนุรักษ์ไม่สามารถหาทางออกที่วิน-วิน ได้เสมอไป มันต้องมีการเสียสละ แต่จะชดเชยอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน
การแบ่งเขตจัดการใช้ประโยชน์อย่างมีส่วนร่วม โดยอาศัยข้อมูลการหากินของพะยูนมาพิจารณา และร่วมกันงดใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในแหล่งหากินสำคัญของพะยูน คือแนวทางสำคัญที่จะช่วยอนุรักษ์มาเรียมและพะยูนอีกกว่าร้อยชีวิตอย่างยั่งยืน ถ้าเรามีประชากรพะยูนมาก ๆ จริง ๆ ชาวประมงส่วนหนึ่งก็อาจมีรายได้มากขึ้นจากการท่องเที่ยว
เอาจริง ๆ ไม่บ่อยนักที่เราได้เห็นคนระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี มาพร้อมหน้ากันเพื่อแถลงข่าวการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายากหนึ่งตัว อยากให้ใช้โอกาสและจังหวะตรงนี้ หยิบยกงานยาก ๆ ที่ต้องหาทางออกมาทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะแผนการจัดการพะยูนแห่งชาติ ซึ่งมีมาตรการต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคในการนำมาปฏิบัติ มาเรียมเป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยสนใจเรื่องของสัตว์ เรื่องของทะเลมาก ๆ ต้องการที่จะมีส่วนสนับสนุน และช่วยเหลือ
ถ้าหน่วยงานรัฐสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถใช้โอกาสตรงนี้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและระหว่างการท่องเที่ยวได้อีกมาก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาไปในตัว
สาเหตุหลักของการตายส่วนใหญ่ของพะยูน (ราวร้อยละ 90) เกิดจากการติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น เครื่องมือประมงที่พะยูนมาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ เครื่องมือประมงเหล่านี้หลายอย่างก็เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน จะทำอย่างไรให้เกิดข้อตกลงกับชุมชนได้ว่า บริเวณไหนควรงดเครื่องมือประเภทใด
นอกจากรัฐมีโรดแมปการจัดการขยะแล้ว ควรทำอะไรในเชิงรุกมากกว่านี้
เมืองไทยต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดในการจัดการเรื่องขยะพลาสติกที่มากกว่าการรณรงค์หรือขอความร่วมมือได้แล้ว การรณรงค์ช่วยสร้างจิตสำนึกได้ก็จริง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย ประเทศตะวันตกก็เป็น มันฝืนความเป็นมนุษย์ที่รักความสะดวกสบาย
เพราะฉะนั้นมาตรการที่ได้ผลจริง ๆ ก็คือ กลไกทางเศรษฐศาสตร์ เราต้องคิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของพลาสติกด้วย และที่ง่ายที่สุดก็คือต้องทำให้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งไม่ใช่ของฟรี ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ถ้าอยากให้คนเลิกใช้ หรือลดใช้อย่างมีนัยสำคัญจริง ๆ ก็คือเก็บเงิน ตัวเลขที่ทางจุฬาฯ ทดลองเก็บคือถุงละ 2 บาท ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่าเป็นราคาที่เหมาะสม เมื่อพลาสติกพวกนี้ไม่ใช่ของฟรีคนก็จะใช้เท่าที่จำเป็น เพราะฉะนั้นถึงเวลาเก็บเงินค่าถุงพลาสติกและพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอื่น ๆ ได้แล้ว เพราะเป็นมาตรการที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง ๆ ลดขยะพลาสติกไปได้กว่าครึ่งแน่นอน
ในส่วนที่ว่าเงินที่เก็บมาจะทำอะไร เท่ากับเป็นการลดต้นทุนให้ภาคเอกชนหรือเปล่า รังแกคนจนมั้ย อันนี้ในหลายประเทศก็ตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาบริหาร และใช้ในกิจกรรมสาธารณะขององค์กรการกุศลต่าง ๆ นำไปช่วยเหลือจัดการขยะในชุมชนผู้มีรายได้น้อยก็ได้ หรือแม้แต่ใช้ในการศึกษา วัตถุประสงค์ที่เก็บเงินเพื่อให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พลาสติกหลายอย่างมันไม่จำเป็นต้องใช้ แต่มันถูกใช้กันจนเป็นความเคยชินมากกว่า
ข้อดีอีกอย่างในการเก็บเงินพลาสติกหรือทำให้ราคาพลาสติกสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็คือทำให้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่เดี๋ยวนี้คนไทยก็มีนวัตกรรมมากมายทั้งจากกาบหมาก ใบสัก ผักตบชวา ชานอ้อย ข้าวโพด สามารถแข่งขันในเชิงราคากับพลาสติกได้
“มาตรการที่ได้ผลจริง ๆ ก็คือ กลไกทางเศรษฐศาสตร์ เราต้องคิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของพลาสติกด้วย และที่ง่ายที่สุดก็คือต้องทำให้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งไม่ใช่ของฟรี ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ถ้าอยากให้คนเลิกใช้ หรือลดใช้อย่างมีนัยสำคัญจริง ๆ ก็คือเก็บเงิน”
ในส่วนของโรดแมปนั้นดีอยู่แล้วกับการตั้งเป้าในการยกเลิก พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง 7 ประเภท ไมโครบีด แคปซีลขวดน้ำ กับผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบ Oxo บอกว่าจะเลิกปีนี้ และกำหนดว่า ถุงพลาสติกแบบบาง หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก และโฟม จะเลิกภายในปี ปี พ.ศ. 2565 หรืออีก 2 ปีกว่า แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าเรามีการตั้งเป้าว่าจะยกเลิกพลาสติกเหล่านี้ แต่ยังไม่เห็นมาตรการรองรับในการปรับเปลี่ยนเท่าไหร่ ถุงพลาสติกแบบ Oxo ยังวางขายเต็มไปหมด ถ้าจะยกเลิกภายในปีนี้จริง ๆ น่าจะต้องมีการประกาศให้ชัดเจนได้แล้ว ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวแล้ว แต่นี่ยังไม่เห็นเท่าไหร่
เราเห็นความตื่นตัวเยอะ หลาย ๆ จังหวัดก็ประกาศว่าจะเป็นเขตปลอดโฟม ปลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ยกตัวอย่างที่จำได้แม่นคือ ภูเก็ต ประกาศมาแล้วสองรอบ ล่าสุดคือเมื่อกลางปีที่แล้ว มีการเซ็นบันทึกความเข้าใจกับทางผู้ประกอบการ สมาคมหลายแห่ง แต่ผ่านมาจะปีแล้วก็ยังไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่
ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก โฟม ความจริงภาครัฐควรจะส่งเสริมให้ยกเลิกได้เลย โดยสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกให้มีความแพร่หลาย ได้เวลาลงมือแล้ว อย่ารอให้มาเรียมและสัตว์ทะเลตัวต่อไปต้องมีชะตากรรมแบบเดียวกัน