Makani ว่าวอัจฉริยะ ผลิตไฟฟ้า 600 กิโลวัตต์ ส่องสว่าง 300 หลังคาเรือน

 X เป็นกลุ่มนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการที่หลากหลาย ซึ่งสร้างและเปิดตัวเทคโนโลยีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงชีวิตของผู้คนนับล้าน แม้กระทั่งหลายพันล้านคน เป้าหมายของ X คือการสร้างผลสะเทือนในระดับ 10x ต่อปัญหาที่ยากที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นคือความท้าทายด้านพลังงานของโลก

หนึ่งในโปรเจกต์ของ X คือ Makani ซึ่งเป็นว่าวที่สามารถดึงพลังงานลมมาใช้ได้ Makani หวังที่จะปลดล็อกการเข้าถึงแหล่งพลังงานลมที่มีราคาแพงเกินไปหรือไม่สามารถใช้งานได้จริง ด้วยการแทนที่กังหันลมที่เป็นหอคอยเหล็กขนาดใหญ่ ด้วยฮาร์ดแวร์น้ำหนักเบาและซอฟต์แวร์อัจฉริยะ

เว็บไซต์ของ X ระบุว่า โครงการ Makani  เริ่มต้นในปี 2006 เมื่อกลุ่มนักเล่นว่าวแบบจริงจังมีแนวคิดใหม่ว่าว่าวอาจสามารถควบคุมพลังงานลมได้มากพอที่จะให้พลังงานแก่โลก ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่สมเหตุผล เพราะลมสามารถให้พลังงานแก่โลกได้มากกว่า 100 เท่า แต่ไฟฟ้าของโลกมีเพียง 5% เท่านั้นที่มาจากพลังงานลม

ว่าวตัวแรกสุดทำจากผ้าและมีลักษณะคล้ายกับอุปกรณ์ไคท์บอร์ด จากการทดสอบต้นแบบในช่วงต้นพิสูจน์ว่า ว่าวต้องการวัสดุที่มีประสิทธิภาพและการควบคุมมากกว่าผ้า นำไปสู่แนวคิดเรื่องว่าวแข็งที่สามารถรองรับโรเตอร์บนเครื่องบินเพื่อควบคุมลมในการยกตัวที่สูงขึ้นและการผลิตพลังงานที่มากขึ้น

ผ่านไป 10 ปีหลังการลองผิดลองถูก ในเดือน ธ.ค. 2016 หลังจากสร้างต้นแบบหลายรุ่น ทีมงานผลิตว่าวใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ขนาดเอนกประสงค์ที่มีปีกของเครื่องบินเจ็ตขนาดเล็ก ว่าวตัวนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 600 กิโลวัตต์ ซึ่งมากกว่ารุ่นก่อนถึง 30 เท่า และเพียงพอสำหรับจ่ายไฟได้ประมาณ 300 หลังคาเรือน

เครดิตภาพ : x.company

Makani  ทำงานอย่างไร?

ใบพัดบนปีกทำหน้าที่เหมือนใบพัดบนเฮลิคอปเตอร์ที่ช่วยยกว่าวออกจากสถานีภาคพื้นดิน ว่าวบินจะเทคออฟในแนวตั้งฉากกับลมและไต่ระดับขึ้นไปที่ความสูง 1,000 ฟุต จากนั้นว่าวจะเริ่มวนซ้ำโดยไม่ใช้พลังงานใด ๆ 

การวนซ้ำนี้เรียกว่า “การบินข้ามลม” (crosswind flight) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่จะพบเวลาเราเล่นว่าวในวันที่ลมแรง ว่าวจะหมุนคว้างในอากาศไปเรื่อย ๆ ส่วนอากาศที่เคลื่อนผ่านโรเตอร์บนปีกจะบังคับให้พวกมันหมุน แล้วขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดพลังงาน ซึ่งผลิตพลังงานที่ส่งลงมาเป็นสายโยงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษกับพื้น การบินของว่าวได้รับการจัดการโดยคอมพิวเตอร์นำร่องซึ่งนำทางได้แม้ในลมพายุ และพามันกลับไปยังสถานีภาคพื้นดินอย่างปลอดภัย

ในปี 2019 Makani กลายเป็นธุรกิจอิสระและร่วมมือกับบริษัท Shell  เพื่อนำว่าวพลังงานมาติดตั้งที่สภาพแวดล้อมนอกชายฝั่ง ในปีนั้นทีมงานทำการบินนอกชายฝั่งครั้งแรกของโลกโดยใช้กังหันลมในอากาศนอกชายฝั่งนอร์เวย์ 

แต่ในปี 2020 Makani ก็สิ้นสุดสถานะบริษัท แต่พวกเขาไม่ได้ปิดฉากนวัตกรรมของมนุษยชาติแค่นั้น ตรงกันข้าม เพื่อแบ่งปันบทเรียนและข้อมูลเชิงลึกที่ทีม Makani ได้รับจากการเดินทาง 13 ปี ทีมงานจึงได้สร้าง The Energy Kite Collection ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอของแหล่งข้อมูลรวมถึงรายงานทางเทคนิคทั้งหมดของ Makani 

ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการบินและการจำลอง คลังเก็บรหัส บันทึกการบินสำหรับการบินทุกวิถีทางของต้นแบบ M600 วิดีโอทางเทคนิค เครื่องมือจำลองแบบใหม่ที่เรียกว่า KiteFAST ที่สร้างขึ้นโดย National Renewable Energy Laboratory (ห้องทดลองพลังงงานทางเลือกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา) และคำมั่นสัญญาที่จะอนุญาตให้เผยแพร่สิทธิบัตร Makani ไปทั่วโลกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ข้อมูลและภาพจาก https://x.company/projects/makani/

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน