ส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9 ปี ป่าเหี้ยน 12 ล้านไร่ ต้นตอ PM2.5

ข้อมูลการวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดระบุว่า ในปี 2566 พบจุดความร้อนในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึงร้อยละ 41 หรือ 123,520 จุด เมื่อเทียบกับจุดความร้อนทั้งหมดที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้าโขงในปีเดียวกัน (304,128 จุด) เมื่อเปรียบเทียบรายประเทศพบว่า ตอนบนของ สปป.ลาว มีสัดส่วนจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดร้อยละ 43 รองลงมาคือรัฐฉาน เมียนมา ร้อยละ 35 และภาคเหนือตอนบนของไทยร้อยละ 20 ตามลําดับ

จากการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในระยะเวลาเพียง 9 ปี (ปี 2558-2566) ทำให้ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงหายไป 11.8 ล้านไร่ โดยพบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 4 เท่าในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีส่วนสําคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การวิเคราะห์นี้ กรีนพีซ ประเทศไทยร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อติดตามพื้นที่ปลูกข้าวโพดและจุดความร้อนระหว่างปี 2564-2566 ในอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง (ตอนบนของประเทศไทย, ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา)

นอกจากนี้ เมื่อเดือน ก.ย. 2565 กรีนพีซ ประเทศไทยได้เปิดตัวรายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย” พบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอนและพะเยา) ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2545-2565) ว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า)

ปี 2550 พื้นที่ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปี 2545 โดยขยายตัวสูงสุดเป็น 2,502,464 ไร่ ในปี 2555 และพื้นที่ป่ากลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดระหว่างปี 2545-2555 คิดเป็นพื้นที่ 2,176,664 ไร่ หลังจากปี 2550 อัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ค่อนข้างคงที่ โดยตั้งแต่ปี 2550 จนถึง ปี 2565 ภาคเหนือตอนบนสูญเสียพื้นที่ป่าประมาณ 9 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม จากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐซ้ำเติมให้ผู้คนมีทางเลือกในการดำรงชีวิตตามวิถีน้อยลง และหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น หนี้สินและความยากจนมาพร้อมกับการถูกประทับตราว่าเป็นผู้เผาทำลายป่าสร้างฝุ่นควัน โดยไม่ถามถึงนโยบายรัฐที่ส่งเสริม แต่บริษัทอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์กลับรอดพ้นจากการเป็นจำเลยสังคม ไม่จำเป็นต้องมีภาระรับผิดใด ๆ ส่งผลให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า การขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาเพื่อส่งกลับมายังไทย คือสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีบทบาทของธนาคารไทยคอยเกื้อหนุนการลงทุน นี่คือการก่อมลพิษในห่วงโซ่อุปทานที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐไทยและระดับอาเซียน

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด